เศรษฐกิจภาคอีสาน Q3/2566 หดตัวต่อเนื่อง คาด Q4 ภัยแล้งกระทบอีก

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต
ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3/ 2566 อ่อนแรงต่อเนื่องมา 3 ไตรมาส และยังไม่กลับไปสู่ระดับปกติก่อนโควิด-19 ต่างจากภาพรวมของประเทศที่ยังเติบโตได้ที่ 2.8% แนวโน้มในไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อนและหดตัวจากช่วงเดียวกันในปีก่อน

โดยหลังปรับฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อน แม้มีปัจจัยพิเศษจากวันหยุดยาวหลายช่วงช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังไม่สามารถชดเชยจากกำลังซื้อที่เปราะบาง จากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรที่ลดลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัว จากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่กลับมาหดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ตามคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

“ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน พบว่า การอุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง แม้การใช้จ่ายสินค้าบริการจะขยายตัว จากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ต้นทุนค่าครองชีพกลับอยู่ในระดับสูง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐน้อยกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งมาตรการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว  ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง”

ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัว จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างของโครงการที่อยู่อาศัยที่ทยอยเปิดใหม่ ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัว ตามการนำเข้าสินค้าทุนประเภทอะไหล่เครื่องจักร สอดคล้องภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่อง

Advertisment

สำหรับการค้าผ่านด่านศุลกากรก็ชะลอตัว ทังการส่งออก ตามการส่งทุเรียนสดไปจีนที่ชะลอลงหลังเร่งไปในไตรมาสก่อน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเครื่องดื่มไปเวียดนามก็ลดลงตามเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว การนำเข้าชะลอลง จากจีน สปป.ลาว และเวียดนามในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวตามการนำเข้าเพื่อผลิตส่งออก ที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิของประเทศคู่ค้า

ด้านรายได้เกษตรกรกลับมาหดตัว จากราคาที่หดตัวตามราคาปศุสัตว์หลังจากเกิดปัญหาลักลอบนำหมูเถื่อนมาจำหน่าย และราคายางพาราที่ลดลงตามราคาตลาดโลก เช่นเดียวกับผลผลิตที่หดตัวจากผลผลิตมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบของโรคใบด่างในบางพื้นที่

Advertisment

ภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง จากการผลิตยางพาราแปรรูปที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกายหดตัวต่อเนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง(ปรับฤดูกาล) ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันในปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในหลายช่วงของวันหยุดยาว รวมทั้งการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มากขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น งานอีเว้นต์ งานคอนเสิร์ต และเทศกาล งานบุญประเพณี ช่วยกระตุ้นให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารสด หมวดเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และราคาพลังงาน ส่วนตลาดแรงงานก็ลดลงตามจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 ที่ลดลง อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ดร.ทรงธรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 3 ปี 2566 อ่อนแรงต่อเนื่อง และต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 การบริโภคภาคเอกชนหดตัว การบริโภคอ่อนแรงต่อเนื่อง จากกำลังซื้อที่เปราะบาง และค่าครองชีพยังระดับสูงกดดันการบริโภค จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

1.กำลังซื้อลดลงจากรายได้ทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งรายได้เกษตรกรหดตัว ตามราคาที่หดตัวจากราคาสุกรเป็นสำคัญ และราคายางพาราตามราคาในตลาดโลก ส่วนรายได้นอกภาคเกษตรมีทิศทางลดลงในทุกสาขา โดยเฉพาะตามการผลิตเพื่อการส่งออก การลงทุนเครื่องจักรที่หดตัวต่อเนื่อง 2.การกระตุ้นการบริโภคจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ผ่านมา ช่วยพยุงได้เพียงชั่วคราว 3.ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องขณะที่รายได้ไม่ฟื้นตัว ทำให้การบริโภคยังอ่อนแรงต่อเนื่อง

ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวยังฟื้นช้า โดยลดลงกว่า 1 ใน 4 เทียบกับช่วงก่อนโควิด ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งปี 2566 ดีกว่าคาด จากปริมาณฝนในช่วงปลายฤดู แต่มีการทิ้งช่วง และกระจายตัวน้อย จึงส่งผลดีน้อยและได้ประโยชน์เฉพาะบางพื้นที่ ผลกระทบภัยแล้งปี 2566 มากกว่าคาด จากผลผลิตอ้อยที่ลดลงมากกว่าคาด แม้ว่าข้าวจะดีขึ้นเล็กน้อย

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจอีสานโดยรวมหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับเศรษฐกิจฐานรากยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพิเศษจากวันหยุดยาวหลายช่วงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้นตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน) จะช่วยพยุงการบริโภค

“การกระตุ้นการบริโภคจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ผ่านมา ช่วยพยุงได้เพียงชั่วคราว มาตรการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ช่วยเพียงชั่วคราว ถ้าจะให้การบริโภคฟื้นตัวอย่างถาวร ต้องสร้างทุนและความรู้ในการผลิตใหม่ๆ เสริมขึ้นอีก มิฉะนั้น เราจะเจอลูกคลื่นแบบนี้อยู่เรื่อยไป

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งปี 2566 ดีกว่าคาด จากปริมาณฝนในช่วงปลายฤดู แต่มีการทิ้งช่วง และกระจายตัวน้อย จึงส่งผลดีน้อยและได้ประโยชน์เฉพาะบางพื้นที่ ฝนในปีนี้มาตกช่วงหลัง ได้ประโยชน์น้อยต้องตกถูกที่ถูกเวล ต้องแก้ปัญหาการพึ่งพาธรรมชาติด้วยการมีทุนด้านน้ำเป็นของตัวเอง”

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2566 การบริโภคอ่อนแรง รายได้เกษตรกรในไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ถึงแม้ฝนจะตกปลายฤดู แต่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์โดยเฉพาะชาวไร่อ้อย ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว ในขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า จากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจภาคอีสาน ปี 2566 หดตัว