Golden Boy หวนคืนประเทศไทย

Golden Boy
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

กรมศิลปากร ได้รายงานการเดินทางมาถึง ประเทศไทย ของ ประติมากรรมสำริด 2 ชิ้นเอก โดย 1 ในนั้นก็คือ “Golden Boy” หรือ ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะยืน (The Standing Shiva) ขณะที่อีกชิ้นหนึ่งเป็นประติมากรรมรูปสตรีพนมมือนั่งชันเข่า ยกมือไหว้เหนือศีรษะ (The Kneeling Female) ตามที่ระบุไว้ในวารสารแนะนำโบราณวัตถุที่จัดแสดงใน The Metropolitan Museum Art หรือ The MET

เฉพาะประติมากรรม Golden Boy ทาง The MET ได้ยกย่องว่า เป็นประติมากรรมที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเชื่อว่า ถูกสร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 11 และบ่งบอกว่า เป็นศิลปะเขมรแบบปาปวน

ลักษณะประติมากรรม Golden Boy เป็นรูปเคารพรูปบุรุษ สูง 105.5 ซม. หล่อด้วยโลหะผสมที่เรียกว่า สำริด มีการทำกะไหล่ทอง และมีร่องรอยของการฝังแผ่นเงินและหินมีค่าจากการเซาะร่องบริเวณคิ้ว ดวงตา และ หนวด

ตามประวัติการได้มาของ Golden Boy จากป้ายกำกับเดิมที (2531) ระบุว่า เป็นของมาจากกัมพูชา (เมืองพระนคร เสียมเรียบ) แต่ข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดเผยออกมาภายหลังก็คือ ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ถูกพบที่ ปราสาทบ้านยาง บ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ในปี 2518 โดยชาวบ้านเป็นคนขุดพบบริเวณซากปราสาทและถูกซื้อไปในราคา 1 ล้านบาท จาก Douglas Latchford นักค้าวัตถุโบราณที่เป็นคนจ้างให้ชาวบ้าน บ้านยางโป่งสะเดา ขุดหาโบราณวัตถุดิบ ต่อมา Golden Boy ได้ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศไปโผล่ที่ บริษัทประมูลชื่อดัง และ ผู้ครอบครองคนสุดท้ายได้บริจาค Golden Boy ให้กับ The MET ในที่สุด

การเดินทางของ Golden Boy จาก ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ไปยัง The MET และถูกยืนยันว่า เป็นประติมากรรมสำริดที่มีที่มาจากประเทศไทย โดยถูกลักลอบนำออกนอกประเทศโดยนักค้าวัตถุโบราณอย่างผิดกฎหมาย เรื่องแดงออกมาเมื่อ Latchford ถูก สำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาค้าวัตถุโบราณโดยผิดกฎหมายในปี 2562 ผลการสอบสวนพบว่า มีรายการ Golden Boy ถูกบันทึกการซื้อขายไว้ด้วย

Advertisment

ทาง The MET หรืออีกนัยหนึ่งอาจตกเป็นผู้ครอบครองโบราณวัตถุที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายและอาจถูกดำเนินคดีจึงมีคำสั่งให้ถอดรายการ Golden Boy กับ ประติมากรรมสตรีพนมมือนั่งชันเข่า The Kneeling Female ออกจากทะเบียนวัตถุโบราณของพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับแจ้งความประสงค์ที่จะส่งคืนประติมากรรมชิ้นเอกทั้ง 2 ให้แก่ประเทศไทยตามข้อตกลงที่ The MET ทำไว้กับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้ โดยแจ้งทางรัฐบาลไทยในเดือนธันวาคม 2566 และนำมาซึ่งกระบวนการส่งมอบคืน ทั้ง Golden Boy และ The Kneeling Female

สำหรับความสำคัญของ Golden Boy นอกเหนือไปจากการเป็นประติมากรรมสำริดชิ้นเอกใน สมัยปาปวน ที่คงสภาพสมบูรณ์และงดงามทางศิลปะอย่างยากที่จะหาประติมากรรมในยุคเดียวกันมาเทียบเคียงได้นั้น คงหนีไม่พ้นกับคำถามที่ว่า Golden Boy เป็นรูปเคารพของใคร ในประเด็นนี้มีคำตอบทั้งจากนักวิชาการอิสระ ตลอดจนตัว The MET เองที่ตั้งข้อสังเกตถึง “ความพิเศษ” ของ Golden Boy ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ การทำกะไหล่ทอง การเจาะฝังแผ่นเงินและหินมีค่า

ตลอดจนการสืบค้นจากจารึกทั้งในไทยและกัมพูชาจนมีความเชื่อว่า Golden Boy ไม่ใช่รูปเคารพของบุคคลธรรมดา แต่ควรเป็นรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์หรือรูปเคารพของเทวราชา ซึ่งเชื่อกันว่า จะเป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้เป็นต้นวงศ์ “มหิธรปุระ” ซึ่งแผ่อำนาจอยู่บริเวณเมืองพิมายและบริเวณอีสานใต้ หรือ เป็นรูปเคารพพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

ทว่าก็มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งยังคงเชื่อว่า อาจเป็นรูปพระศิวะในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามที่ The MET เคยระบุไว้ หรือ เป็นประติมากรรมแบบศิลปะพิมายโดยเฉพาะ แต่ไม่ว่า Golden Boy จะเป็นใคร นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การเดินทางที่ยาวนานได้สิ้นสุดลง เมื่อ Golden Boy ได้ถูกนำกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Advertisment