รู้จัก Golden Boy เปิดไทม์ไลน์ทวงคืน ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 6

Golden Boy

รู้จักและเปิดไทม์ไลน์การทวงคืน “Golden Boy” ประติมากรรมสำริดรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อายุพุทธศตวรรษที่ 16 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน สหรัฐอเมริกา เตรียมส่งคืนไทย

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 สืบเนื่องจากประเทศไทยได้รับการแจ้งขอส่งคืนวัตถุโบราณจำนวน 2 ชิ้นจาก “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน” ประเทศสหรัฐอเมริกา (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ซึ่งประกอบไปด้วย “ประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6” หรือ “Golden Boy” และ “ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง”

สำหรับ Golden Boy การส่งคืนสืบเนื่องจาก MET ตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับ “นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด” นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเมื่อปี 2562

ส่วน ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง MET พบว่าเกี่ยวพันกับ นางดอรีส วีเนอร์ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กแจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เมื่อปี 2564

คณะกรรมการบริหาร MET จึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ และประสานแจ้งการส่งคืนแก่ไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้ โดยจะประสานงานและทำพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการผ่านทางสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์กต่อไป

Golden Boy ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

ประติมากรรมสำริดรูปหล่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ Golden Boy เป็นศิลปะเขมรแบบพิมาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 1623-1650) ชาวบ้านขุดพบที่ “ปราสาทบ้านยาง” ณ บ้านยางโปร่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 และขายให้พ่อค้าในราคา 1 ล้านบาท จากนั้นถูกนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ผ่านบริษัทประมูล Spink & Son และนำไปจัดแสดงที่ MET นิวยอร์ก

Golden Boy มีพัฒนาการของผ้านุ่งสั้นที่มีชายสมอรูปหางปลาด้านหน้า ผ้านุ่งสั้นที่โค้งเว้าเห็นสะดือแบบบาปวน มีเข็มขัดรัด แต่ไม่มีขอบชายสมอต่อตรงลงมาจากขอบผ้านุ่งเหนือเข็มขัด ได้ส่งต่อให้แบบพิมาย และยังใช้ต่อเนื่องมาจนถึงแบบนครวัดตอนต้น ด้วยเหตุที่ลักษณะผ้านุ่งของ Golden Boy ใกล้เคียงกับภาพสลักผ้านุ่งที่ปราสาทหินพิมายมากกว่าที่อื่น จึงเรียกศิลปะเขมรแบบพิมาย

ย้อนไทม์ไลน์ทวงคืน Golden Boy

“ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์” นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อทราบถึงการมีอยู่ของ Golden Boy เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยังไม่ทราบว่าเป็นของไทยหรือกัมพูชา เพราะยังไม่สามารถหาหลักฐานมาประกอบได้ จนกระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเป็นรูปร่างมากขึ้น พบหลักฐานในเอกสารของดักลาส แลตช์ฟอร์ด ที่ระบุว่า Golden Boy เคยอยู่ในประเทศไทย

เมื่อค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือที่ดักลาส แลตช์ฟอร์ด พิมพ์เผยแพร่พบว่า Golden Boy อยู่ที่บ้านยาง จึงได้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุวิชาการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาว่าจะตัดสินใจทวงคืนหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูล

เมื่อนำเรื่อง Golden Boy เข้าที่ประชุม ทุกคนก็ยังเกิดความสงสัยอยู่ เพราะมีแค่ข้อมูลด้านเอกสารที่ระบุว่าอยู่ที่บ้านยาง และมีฐานรองรับประติมากรรมอยู่ 2 ฐาน ที่ประชุมจึงขอให้ค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อเสนอใหม่ต่อคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

จากนั้นจึงมีการหาตำแหน่งให้ชัดเจนว่า Golden Boy เคยมีอยู่ตามเอกสารจริงหรือไม่ เนื่องจากบ้านยางมีหลายแห่ง ตอนแรกพิจารณาจากประติมากรรม เป็นศิลปะเขมรแบบพิมาย ก็ควรจะอยู่แถบปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะถูกขนย้ายไปยังบ้านยาง จังหวัดชัยภูมิ

แต่เมื่อตรวจสอบเอกสารอีกชิ้น พบว่ามีการพูดถึงบ้านยางโปร่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเบนเข็มและติดต่อไปในพื้นที่นั้น พบว่ามีปราสาทองค์หนึ่งชื่อปราสาทบ้านยาง จึงให้ผู้ใหญ่บ้านนำทางไป

ขายได้ 1 ล้าน มหรสพฉลอง 3 วัน 3 คืน

“ดีที่ชาวบ้านยอมเปิดใจ เพราะเราไปกับคนในท้องถิ่น” ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านก็เจออดีตนายก อบต.ตาจง เล่าให้ฟังว่า รูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ถูกค้นพบที่ปราสาทบ้านยาง จึงเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าใช่ที่นี่แน่นอน

ชาวบ้านให้ข้อมูลกับ ดร.ทนงศักดิ์ ว่าได้ขุดพบประติมากรรมสำริดชิ้นนี้จริง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ได้ดูรูปยังบอกว่า “เมื่อสมัยหนุ่ม ๆ จำได้เลยว่ารูปเคารพนี้สูง 110 เซนติเมตร ขุดได้ที่นี่” ปรากฏว่าใกล้เคียงกับในหนังสือของดักลาส แลตช์ฟอร์ด ที่ระบุว่าสูง 105 เซนติเมตร เป็นอย่างมาก

“น่าเสียดาย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเคยเก็บรูปถ่ายไว้ แต่เนื่องจากมีฝรั่งและอะไรต่ออะไรเข้ามาเมื่อ 2-3 ปีให้หลัง เขาคิดว่าจะมาสืบสวนเรื่องการขโมยโบราณวัตถุ จึงเผาหลักฐานพวกนั้นทิ้งหมด เราจึงไม่ได้ข้อมูลรูปถ่ายสมัยที่เขาขุดกัน”

จากนั้นได้ไปพบกับครอบครัวที่เป็นคนขุด ครอบครัวนั้นยืนยันว่าขุดได้เมื่อปี 2518 โดยสามีซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ลูกสาวเขายังจำได้ว่าเป็นคนตักน้ำมาราดวัตถุโบราณชิ้นนี้ โดยขายให้พวกพ่อค้าซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครไปในราคา 1 ล้านบาท ถือว่ามหาศาลมาก ณ เวลานั้น

“เมื่อได้เงินมาก็จัดฉลองกันทั้งหมู่บ้าน จ้างมหรสพฉลอง 3 วัน 3 คืน ตามความเชื่อของเขา แล้วโบราณวัตถุชิ้นนี้ก็หายไปจากหมู่บ้าน”

อดีตนายก อบต.บอกกับ ดร.ทนงศักดิ์อีกว่า ดักลาส แลตช์ฟอร์ด เป็นคนเข้ามาซื้อโบราณวัตถุของกลุ่มกรุพระประโคนชัย และเช่าบ้านของพ่ออดีตนายก อบต. เป็นสำนักงานซื้อขาย เมื่อดักลาส แลตช์ฟอร์ด ได้ข่าวเรื่องประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ ก็จ้างชาวบ้านตารางเมตรละ 100 บาท ขุดทุกตารางเมตรของปราสาท เพื่อหาโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ อีก

สิ่งที่ได้จากการสอบถามชาวบ้านคือ ทุกคนยืนยันว่าประติมากรรม Golden Boy เคยอยู่ที่บ้านยางโปร่งสะเดา เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงนำเข้าที่ประชุมคณะอนุวิชาการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย จนกระทั่งมีมติเห็นว่าให้ติดตามคืนโบราณวัตถุชิ้นนี้

อีกเหตุการณ์สำคัญในการทวงคืน ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า มีโอกาสได้รู้จักผู้แทนจากกัมพูชาซึ่งมีหน้าที่ติดตามโบราณวัตถุเช่นกัน ทางกัมพูชาเห็นว่าไทยควรดำเนินการทวงคืนโบราณวัตถุร่วมกัน เพราะ Golden Boy เป็นชิ้นสำคัญ

กัมพูชาเองก็ต้องการให้วัตถุชิ้นนี้อยู่ทางฝั่งกัมพูชา แต่ไทยมีหลักฐานหนักแน่นกว่า สุดท้ายกัมพูชาทวงคืนวัตถุโบราณชิ้นอื่น ๆ ซึ่งได้มา 14 รายการ ส่วนไทยได้มา 2 รายการ คือประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ Golden Boy และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ

ความสำคัญ Golden Boy อธิบายสังคมในอดีต

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์ Golden Boy เชื่อว่าเป็นรูปเคารพฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้สร้างปราสาทหินพิมายถวายให้พระพุทธเจ้า ซึ่งพบจารึกหลายหลักทั้งในไทย ลาว และกัมพูชาที่กล่าวถึง “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ของพระองค์ จารึกพนมรุ้งระบุชัดว่าพระองค์ตั้งราชวงศ์นี้ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าศูนย์กลางอยู่ที่ใด

จารึกที่เจอในกัมพูชาก็ระบุการปกครองของพระองค์ว่า ทรงเลือกปกครองถิ่นฐานเดิมที่อยู่ทางเหนือของเมืองพระนคร (ปัจจุบันคือเสียมเรียบ) หากสอดคล้องกับจารึกพนมรุ้ง สันนิษฐานกันว่าบริเวณดังกล่าวคือ “ลุ่มน้ำมูล”

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีหลานคือ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งและปราสาทนครวัด และเหลนคือ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ผู้สร้างปราสาทบายน ซึ่งทั้งนครวัดกับบายนอยู่ที่เสียมเรียบ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าสัมพันธ์กันทั้งหมด

รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 บ้านยาง จึงมีความสำคัญสอดคล้องกับหลักฐานจารึกที่พบบริเวณที่ราบเขาพนมรุ้งกล่าวถึงต้นกำเนิดของราชวงศ์มหิธรปุระ ที่สถาปนาใหม่โดยพระองค์

จารึกปราสาทพระขรรค์กล่าวถึงพระองค์ทรงเลือกถิ่นฐานเดิม เพื่อตั้งราชธานีปกครองอาณาจักรเขมร เชื่อว่าคือเมืองพิมาย ก่อนที่เชื้อสายของราชวงศ์มหิธรปุระจะย้ายเมืองหลวงกลับไปยังเมืองพระนคร สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือปราสาทนครวัด

หากมองประวัติศาสตร์แบบไร้พรมแดน จะเห็นว่าถิ่นกำเนิดของราชวงศ์มหิธรปุระอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลจนถึงพนมรุ้ง และพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สร้างปราสาทหินพิมายถวายพระพุทธเจ้า ปรากฏชุมชนขนาดใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา

ความสำคัญของประติมากรรมชิ้นนี้จึงอธิบายได้ว่า บริเวณที่ราบสูงโคราช ตั้งแต่พนมรุ้งจนพิมายมีชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลักและมีความเข้มแข็ง จนสามารถสร้างอาณาจักรได้

ในทางประวัติศาสตร์ทั่วไปมักจะบอกว่า ปราสาทในภาคอีสานของไทยได้รับอิทธิพลมาจากเขมร ที่แผ่ขยายขึ้นมา แต่ถ้ามองอย่างที่กล่าวไป พระพุทธศาสนาจากที่ราบสูงโคราชต่างหากที่แผ่ลงไปถึงกัมพูชาในปัจจุบัน

“เมื่อวัฒนธรรมไร้พรมแดน เราจะมองเห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และอธิบายสังคมตอนนั้นได้ชัดเจนขึ้น หากไร้พรมหมแดนดังเช่นในอดีต คงหมดปัญหาเรื่องข้อถกเถียงว่า Golden Boy พบที่บ้านยางจริงหรือไม่ เพราะทั้งสองดินแดนในปัจจุบันต่างสืบสายมาจากวัฒนธรรมแบบเขมร”

ทั้งนี้ หนังสือที่คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ครอบครองโบราณวัตถุไทยอยู่มากกว่า 30 ชิ้น ซึ่งยังไม่ได้กลับคืนมา อยู่ในขั้นตอนดำเนินงาน บางแห่งก็คืบหน้า พิพิธภัณฑ์เหล่านั้นยอมปลดทะเบียนออกจากการจัดแสดงแล้ว และพร้อมส่งกลับประเทศไทย ดร.ทนงศักดิ์กล่าว