ทุจริตในองค์กรทำยังไงดี ?

คอลัมน์ : SD TALK
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

คำถามสั้น ๆ แต่คงต้องตอบกันยาวสักหน่อย แต่บอกก่อนนะครับว่าคำตอบต่อไปนี้มาจากประสบการณ์ และความคิดเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น ไม่ได้ตอบตามหลักวิชาการหรืออ้างอิงทฤษฎีอะไรทั้งนั้น ใครที่อ่านแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยย่อมเป็นความคิดเห็นของตัวท่านเอง

จากคำถามข้างต้น ผมคงต้องถามกลับไปว่า…การทุจริตที่ถามมาอยู่ในระดับไหน ระดับพนักงานปฏิบัติการ, ผู้บริหารระดับต้น, ระดับกลาง หรือระดับสูง หรือตัวกรรมการผู้จัดการทุจริตเสียเอง ?

ลองมาไล่ระดับการทุจริตกันดีไหมครับ ?

1.กรณีพนักงานระดับปฏิบัติการทุจริต สิ่งที่ผมเคยปฏิบัติตอนเป็นผู้บริหารงาน HR ก็ตามนี้ครับ

1.1 หัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่เกิดความผิดร้ายแรง จะต้องรีบแจ้งเรื่องให้ฝ่าย HR ทราบในทันที

1.2 HR ทำคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (บางแห่งอาจจะเรียกว่า คณะกรรมการวินัยพนักงาน) ขึ้นชุดหนึ่ง ซึ่งมักจะประกอบด้วยผู้บริหารในหน่วยงานที่เกิดเรื่องนั้น ๆ เช่น หัวหน้างาน, ผู้จัดการในหน่วยงาน, ผู้บริหารในฝ่าย HR, ผู้บริหารจากหน่วยงานอื่นซึ่งเป็นคนกลาง และเคยเป็นกรรมการสอบสวนมาแล้ว ทั้งหมดนี้จะมีหน้าที่เฉพาะกิจ
ครั้งนี้คือมีอำนาจในการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง และสรุปเรื่องทั้งหมดตลอดจนมติของคณะกรรมการสอบสวนเสนอ MD ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนี้ก็จะลงนามโดย MD

1.3 คณะกรรมการสอบสวนจะเชิญผู้ถูกล่าวหามาชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา โดยพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปของเรื่องนี้ ลงมติร่วมกันและนำเสนอผลการสอบสวนต่อ MD

1.4 เมื่อ MD ได้รับผลการสอบสวนแล้ว MD จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามมติของคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ ยังไงก็ว่ากันไป เช่น คณะกรรมการสอบสวนมีมติว่า กรณีนี้พนักงานทุจริตจริงจึงเห็นสมควรเลิกจ้างพนักงานที่ทำความผิดร้ายแรงโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน

1.5 เมื่อ MD ตัดสินใจตามมติ บริษัท (โดยทั่วไปจะเป็นผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่เกิดเรื่องนั้น ๆ ร่วมกับฝ่าย HR) ก็จะเชิญพนักงานที่กระทำความผิดร้ายแรงมาแจ้งผลการสอบสวน (โดยยื่นหนังสือเลิกจ้าง) ให้พนักงานทราบว่าบริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นต้น

1.6 พนักงานที่กระทำความผิดร้ายแรงยังมีสิทธิร้องทุกข์ได้อีกนะครับ ซึ่งในเรื่องนี้บริษัทต้องไปเขียนในข้อบังคับการทำงานว่าจะมีขั้นตอนวิธีการให้พนักงานร้องทุกข์ได้ยังไง และบริษัทจะพิจารณาข้อร้องทุกข์ให้เสร็จสิ้นภายในกี่วัน เป็นต้น ซึ่งบริษัทจะต้องพิจารณาการร้องทุกข์ของพนักงาน หากตัดสินใจอย่างไรก็จะถือว่าเรื่องนี้ยุติครับ

1.7 บริษัทจะต้องเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน และบันทึกรายงานการสอบสวนอย่างรัดกุมครบถ้วน ซึ่งปกติฝ่าย HR จะทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนในการบันทึกการสอบสวนและเก็บพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อนำเสนอ MD และเมื่อตัดสินเรื่องนี้แล้วก็ตาม เรื่องการสอบสวนทั้งหมดจะเก็บไว้ที่ฝ่าย HR ครับ

1.8 กระบวนการสอบสวนทั้งหมดนี้ คนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนควรจะต้องถือเป็นความลับ ไม่ควรนำเรื่องการสอบสวนออกไปแฉแต่เช้า หรือแฉยันเย็นให้พนักงานในบริษัทได้รู้และเม้าท์มอยกันสนุกปากนะครับ ที่ต้องบอกกันอย่างนี้เพราะเคยมีบางคนที่เป็นกรรมการสอบสวน แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารแต่ยังขาดวุฒิภาวะแล้วนำเรื่องเหล่านี้ออกไปวิพากษ์วิจารณ์กันจนเกิดความเสียหายในด้านแรงงานสัมพันธ์ในบริษัทน่ะสิครับ

2.กรณีผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูงทุจริต วิธีปฏิบัติก็ทำแบบเดียวกับการทุจริตของระดับพนักงานที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นแหละครับ เพียงแต่คนที่ถูกสอบสวนจะเป็นระดับบริหารเท่านั้นแหละ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการปฏิบัติข้างต้นสำหรับผมจะมีข้อสังเกตคือผู้บังคับบัญชาระดับสูงเห็นจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา และตัดสินใจเมื่อเกิดการทุจริตมากน้อยแค่ไหนต่างหาก

เพราะถ้าเจอผู้บริหารประเภทที่ชอบพูดว่า “มีกฎระเบียบแต่ไม่อยากบังคับใช้กลัวจะกระทบกันไปหมด” นี่ก็จบข่าวได้เลย ไม่ต้องคิดไปแก้ปัญหาทุจริตอะไรกันแล้วแหละครับ

หรือผู้บริหารที่รู้ทั้งรู้ แต่ก็หลับตาเสียข้างทำเป็นมองข้ามไป เผลอ ๆ มีตรรกะวิบัติประเภท “ทุจริตเงินเพียงไม่เท่าไหร่เอง แค่ตักเตือนก็พอ” หรือ “ถ้าไปไล่เขาออก เดี๋ยวไม่มีคนทำงาน งานก็มีปัญหาอีก” อย่างงี้คงเหมือนกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ 2.5 ด้วยการสวดภาวนาขอให้ลมพัดแรง ๆ ฝนตกมาเยอะ ๆ อะไรทำนองนี้แหละครับ

3.กรณีกรรมการผู้จัดการทุจริต เคยได้ยินคำคำหนึ่งไหมครับ…ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก ยังใช้ได้อยู่เสมอนะครับ เพราะลูกน้องย่อมมองหัวหน้าพร้อมทั้งสังเกต และอ่านท่าทีของหัวหน้าอยู่ทุกวัน โดยหัวหน้าอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่าอยู่ในสายตาลูกน้องเสมอ และสัจธรรมข้อหนึ่งคือ “เม้าท์อะไรก็ไม่มันส์เท่าเม้าท์หัวหน้า”

หรือใครไม่เคยเม้าท์หัวหน้าบ้างล่ะครับ ?

ดังนั้น ถ้านายใหญ่ที่เป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรทำทุจริตเสียเองอย่างนี้ คนที่จะจัดการปัญหานี้ได้ก็ต้องเป็นคณะกรรมการบริษัทแล้วล่ะครับ เดี๋ยวนี้เป็นโลกยุคใหม่ยุคโซเชียล และเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดกล้าแชร์สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าไม่เหมาะสมไปในสื่อต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ถ้าพนักงานแชร์เรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการบริษัทแล้ว ยังไม่มีแอ็กชั่นอะไรในเรื่องนี้ ก็จะเข้าทำนองหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก องค์กรนั้นก็จะมีเบอร์ 1 ที่มีพฤติกรรมฉ้อฉลอยู่แบบนั้นตามหลักอิทัปปัจจยตาแหละครับ

แถมยังจะมีแนวโน้มให้คนในระดับถัด ๆ ลงมามีพฤติกรรมเลียนแบบนายใหญ่ประเภท “Me too” อีกต่างหาก

“นายโกงได้ ฉันก็โกงบ้างฮี่ ถ้อยทีถ้อยกันโกง”

องค์กรนั้นก็คงรอวันล่มสลายในอนาคต

กลับมาที่เจ้าของคำถามนี้…ท่านคงต้องกลับมาประเมินดูว่าในองค์กรของท่านมีการปฏิบัติในเรื่องการทุจริต (ไม่ว่าจะเป็นในระดับไหน) ยังไงบ้าง ?

ถ้ามีการปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาตามที่ผมลำดับขั้นตอนข้างต้น ผมเชื่อว่าท่านคงไม่มีคำถามนี้หรอกจริงไหมครับ แต่ถ้าประเมินสถานการณ์ดูแล้วเห็นแล้วว่าฝ่ายบริหารไม่ได้เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหานี้ ก็หาทางถอยดีกว่าครับ

เพราะอยู่ต่อไปก็เปลืองตัว แถมวันร้ายคืนร้ายมาสั่งให้เราทำอะไรที่เข้าข่ายเอื้อทุจริตให้กับคนที่สั่ง แล้วเมื่อเกิดการตรวจสอบขึ้นมาภายหลังแล้วเรากลายเป็น “แพะ” เพราะเป็นการสั่งด้วยวาจาไม่มีหลักฐานไปถึงตัวคนสั่งการนี่จะเข้าคำพังเพย “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” ซะอีก

ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ