การเมืองอันตราย

เลือกตั้ง
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้ทุกฝ่ายล้วนจับตามองการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างใจจดใจจ่อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน

เพราะทุกคนต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเรื่องนโยบายและขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ

งบประมาณใหม่ก็ต้องรีบ เพราะเป็นหัวรถจักรที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก

เราเลือกตั้งกันในวันที่ 14 พฤษภาคม

กว่ารัฐสภาจะได้เลือกนายกรัฐมนตรีก็คือวันที่ 13 กรกฎาคม

เป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนเต็ม

และถ้านับย้อนหลังไปถึงวันยุบสภา

ประเทศไทยมีรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจเต็มในการตัดสินเรื่องใหญ่ ๆ เป็นเวลา 4 เดือน

และอาจนานกว่านี้ถ้า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งที่ในความเป็นจริงของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งและรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

เขาควรได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย

แต่ทำไมการเมืองไทยถึงไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

เหตุผลสำคัญที่สุด ก็คือ กติกาในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. มี “ไส้ติ่งการเมือง” ที่เปิดทางให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

มี 1 เสียงเท่ากับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้น สถานการณ์ของ “พิธา” จึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะคาดกันว่าวุฒิสมาชิกเกือบทั้งหมดจะไม่ลงคะแนนให้

หากเป็นเช่นนั้นจริง การเมืองจะถึงจุดเดือดทันที

“พิธา” ในวันนี้เหมือนคนที่ยืนอยู่หน้า “รังผึ้ง” ขนาดใหญ่

ถ้าตี “พิธา” ล้ม

เราไม่รู้ว่าจะเกิดภาพของ “ผึ้ง” ที่แตกรังหรือไม่

ต้องยอมรับว่าเสียงปาร์ตี้ลิสต์ของ “ก้าวไกล” ในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงมากถึง 14 ล้านเสียง

เฉพาะใน กทม.และจังหวัดรอบข้าง คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ

มีจำนวนถึง 3 ล้านเสียง

ใน กทม.คนเลือก “ก้าวไกล” ถึง 48%

คิดง่าย ๆ ว่าเดินไปเจอใครใน กทม. 2 คน จะมีคนหนึ่งเลือก “ก้าวไกล”

และ “เสียง” เหล่านี้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็น “ขา” ลงถนนได้ทันที หาก “พิธา” โดนขัดขวางจากวุฒิสมาชิกไม่ให้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

อย่าประมาทอารมณ์ของสังคมนะครับ

ไม่เชื่อลองถามน้อง ๆ ในที่ทำงานก็ได้นะครับ ว่าถ้าวุฒิสมาชิกคว่ำ “พิธา” ในสภา

เขาจะลงถนนไหม

ที่น่ากลัว ก็คือ “ผึ้ง” เวลาแตกรังแล้ว เราไม่รู้ว่ามันจะบินไปในทิศทางใด

และไม่รู้ว่าจะต่อยใครบ้าง

ภาคธุรกิจไม่ชอบ “ความไม่แน่นอน”

เขาอยากให้การเมืองชัดเจนไปเลยว่าใครได้หรือไม่ได้

รัฐบาลใหม่มีโฉมหน้าอย่างไร

และที่ภาคเอกชนนั้นกลัวที่สุด คือ “ม็อบ”

เพราะเขารู้ว่าถ้าเกิด “ม็อบ” ขึ้นมาแล้ว

ไม่มีใครทำนายได้ว่าจุดจบของเรื่องราวจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้มีประธานสภาประกาศแล้วว่า ถ้า “พิธา” ไม่ได้รับเลือกในวันที่ 13 จะมีการนัดประชุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 และ 20

ช่วงอันตรายที่สุดของการเมืองไทย น่าจะเป็นหลังการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

หากวุฒิสมาชิกคว่ำ “พิธา” จริง ๆ

วินาทีต่อจากนั้นการเมืองไทยจะเข้าสู่ภาวะ “ความไม่แน่นอน” อย่างเต็มตัว

จนถึงวันที่เลือกใหม่อีกครั้งในวันที่ 19

ตอนนี้ก็คงได้ภาวนาอย่างเดียวว่า “วุฒิสมาชิก” จะยอมรับในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

ฟังเสียงลูกหลานบ้าง

แต่ถ้าไม่ฟัง และยังเลือกแนวทางที่สวนกระแสประชาชน

เราก็คงต้องสวดมนต์ให้ประเทศไทยแทน