บริหารแบบ ‘ฮ่องเต้’

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน มีโอกาสได้นั่งคุยกับคุณธนินท์ เจียรวนนท์ “เจ้าสัวซี.พี.” และ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพี คนใหม่

คุณสุภกิตที่เคยใช้เวลาส่วนใหญ่ประมาณ 90% ในแต่ละเดือนอยู่ที่เมืองจีน

พอมารับตำแหน่งใหม่ เขาต้องกลับมาอยู่เมืองไทยมากขึ้นเกิน 50%

ส่วนคุณธนินท์ ขยับขึ้นเป็นประธานอาวุโส

อายุของเขาจะครบ 80 ปีในเดือนเมษายน

แต่ไม่น่าเชื่อว่า “ความคิด” ยังหนุ่มมาก ๆ

ตอนนี้เขาให้เวลากับ “สถาบันพัฒนาผู้นำ” ที่เขาใหญ่มากเป็นพิเศษ

สถาบันแห่งนี้เป็นหนึ่งใน “ความฝัน”  ของ “ธนินท์”

เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน

เขาได้ไอเดียนี้จาก “แจ็ก เวลช์” สุดยอดซีอีโอของ “จีอี”

นอกเหนือจากการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงให้เก่งขึ้น เขายังต้องการนำพนักงานของแต่ละบริษัทในเครือมาอบรมพร้อมกัน

เพราะตอนนี้บริษัทในเครือเยอะมาก

พนักงานแต่ละบริษัทไม่รู้จักกันเลย

การอบรมจะทำให้พนักงานได้รู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการข้ามบริษัท

ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์เวลาการโยกย้ายผู้บริหาร

หรือเวลาจะ “ซินเนอร์ยี่” แต่ละองค์กรเข้าหากันจะได้ง่ายขึ้น

แต่ที่น่าสนใจมาก คือ การจัดหลักสูตรให้กับ “คนรุ่นใหม่” ในเครือ

เอา “คนเก่ง” ที่มีแววมารวมตัวกัน

มีทั้ง “เถ้าแก่น้อย-เถ้าแก่กลาง-เถ้าแก่ใหญ่”

เพราะโลกวันนี้เป็นโลกของ “คนรุ่นใหม่”

“เทคโนโลยี” ทำให้โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป

“ประสบการณ์” ของ “คนรุ่นเก่า”

บางทีก็เอามาใช้กับ “โลกยุคใหม่” ไม่ได้

คุณธนินท์จะไปอยู่ที่ “สถาบันพัฒนาผู้นำ” สัปดาห์เว้นสัปดาห์

สัปดาห์ละ 2 วัน

ส่วนหนึ่ง คือ การไปถ่ายทอด “ความรู้” และ “ประสบการณ์” ให้คนที่มาอบรม

แต่อีกส่วนหนึ่งที่คุณธนินท์เน้นมาก คือ การไปฟัง “คนรุ่นใหม่”

ไปฟังว่าวิธีคิดของเขาเป็นอย่างไร

และพร้อมให้ทดลอง

คุณธนินท์บอกว่าถ้าโครงการที่เสนอมาไม่ได้มีผลให้องค์กรล้ม ก็ให้ทดลองได้เลย

อย่าคิดมาก

เขาบอกว่าวิธีการบริหาร “คนรุ่นใหม่” คือ ทำให้โครงสร้างไม่มีขั้นตอนมาก

ไม่ต้องมีชั้นการบังคับบัญชาเยอะ

ต้องทำให้ “โลกแบน”

“พูดกันเยอะ แต่ทำกันไม่ค่อยสำเร็จ”

คุณธนินท์บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ยากอะไรเลย

เขาใช้วิธีการแบบ “ฮ่องเต้” ของจีน

นั่นคือ การให้ “ดาบอาญาสิทธิ์” กับคนทำงาน

เขาให้ “อำนาจ” การตัดสินใจกับ “คนรุ่นใหม่” อย่างเต็มที่

ไม่ต้องถาม ไม่ต้องหันหลังมาดูใคร

ตัดสินใจเลย

“คนที่อยู่ในสนามรบต้องรู้สถานการณ์ดีกว่าเรา”

เราตัดสินใจก็อาจจะผิดพลาด

เพราะไม่รู้ข้อมูล และวิธีคิดเป็นคนละแบบ

ที่สำคัญ “การตัดสินใจ” คือ “ความรับผิดชอบ”

ถ้า “ผู้ใหญ่” ตัดสินใจ

เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบ

แต่ถ้าปล่อยให้เขาตัดสินใจเอง

ผลที่เกิดขึ้น คนที่รับผิดชอบก็คือคนที่ตัดสินใจ

อ้างอะไรไม่ได้

ส่วนคุณธนินท์จะติดตามอยู่ห่าง ๆ ขอให้ส่งรายงานมาเรื่อย ๆ

เพื่อจะได้รู้ว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง

คุยกันประมาณ 40 นาที

ได้ความรู้เพียบเลย

ที่เล่าให้ฟัง แค่ “น้ำจิ้ม” ครับ

ถ้าจะให้เขียน คงเขียนได้เป็นเล่ม

คนอะไร อายุจะ 80 แล้วยังคุยเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหมือนคนอายุ 40

ก่อนกลับคุณธนินท์ชวนให้ไปที่สถาบันพัฒนาผู้นำที่เขาใหญ่ด้วย

ไปเมื่อไร จะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!