ภัยแล้ง

DCIM100MEDIADJI_0152.JPG

เดือนกรกฎาคมของทุกปีถือว่าเป็นช่วงต้นฤดูฝน

เรื่องน้ำไม่น่าจะใช่ปัญหา

เกษตรกรน่าจะยิ้มรับฝนที่ตกลงมา

แต่ปีนี้กลับกลายเป็นว่าเกิดภัยแล้งในช่วงฤดูฝน

ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงน่ากลัวมาก

ต้องเก็บกักไว้เพื่อบริโภคอย่างเดียว

ไม่สามารถปล่อยน้ำมาช่วยเกษตรกรได้

ตอนแรกที่เห็นข่าวนี้ตกใจเลยครับ

ตกใจ 2 เรื่อง

เรื่องแรก รัฐบาลบริหารจัดการอย่างไร

แม้เรื่องฝนฟ้าอากาศเป็นเรื่องยากที่จะวางแผนจัดการ

ไม่มีใครทายได้ล่วงหน้าว่าปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนจะมากหรือน้อย

เรื่องนี้เข้าใจได้

แต่ทราบไหมครับว่า วันนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่ง เหลืออยู่เท่าไร

เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 10% ของความจุอ่างเก็บน้ำ

เขื่อนสิริกิติ์ ใช้การได้ 7%

เขื่อนแควน้อยฯ ใช้การได้ 10%

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือใช้การได้ 4%

สิ่งแรกที่ทุกเขื่อนต้องทำ คือ เก็บกักน้ำไว้เพื่อการบริโภคก่อน

น้ำเพื่อการเกษตรเอาไว้ก่อน

คำถามก็คือ ทำไมรัฐบาลปล่อยให้น้ำ

เหลือใช้การได้ไม่ถึง 10% แบบเงียบ ๆ

อย่าลืมว่า “น้ำ” ไม่ได้ลดลงทันทีทันใด

มันต้องค่อยลดลงมา

แต่ทำไมรัฐบาลไม่ส่งสัญญาณอะไรออกมาเลยก่อนหน้านี้

ปล่อยให้คนป่วยหายใจพะงาบ ๆ แล้วค่อยบอก

ถ้าส่งสัญญาณเร็วกว่านี้

ทุกฝ่ายจะได้ตั้งรับได้ถูกต้อง

รู้ไหมว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่

และเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นั่นคือที่มาของความตกใจเรื่องที่สองครับ

เพราะเศรษฐกิจไทยปีนี้หนักหนาสาหัสมาก

โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

เพิ่งคุยกับ “เจ้าสัวใหญ่” คนหนึ่งที่รู้เรื่องพืชผลการเกษตรและค้าปลีกเป็นอย่างดี

เขาบอกว่า “กำลังซื้อ” ในต่างจังหวัดย่ำแย่มาก

พูดเหมือน “เจ้าสัวสหพัฒน์” เลย

เพราะราคาพืชผลเกษตรตกต่ำมาหลายปี

ค่าเงินบาทก็แข็ง

การส่งออกลดต่ำลง

วันนี้เกษตรกรที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

มาเจอ “ภัยแล้ง” กลางฤดูฝนเข้าอีก

จะพึ่งน้ำฝนจากธรรมชาติก็ไม่ตกลงมา

จะพึ่งน้ำจาก “เขื่อน” ก็ไม่ได้

เพราะปริมาตรน้ำในเขื่อนเหลือน้อยเต็มที

พืชผลที่ลงทุนไปก็ต้องปล่อยให้แห้งตาย

แบบนี้นึกไม่ออกเลยว่า “กำลังซื้อ”

ต่างจังหวัดจะเป็นอย่างไร

จากที่เข้าห้องไอซียูอยู่แล้ว

ถ้าอาการหนักขึ้นจาก “ภัยแล้ง” อีก

ไม่อยากนึกเลยว่า “คนป่วย” จะต้องย้ายไปอยู่ห้องไหน

หรือวัดไหน

นึกแล้วเศร้า

ครับ คนที่ทำธุรกิจคงต้องวางแผนใหม่

จะหวังปาฏิหาริย์จากกำลังซื้อในต่างจังหวัดไม่ได้แล้ว

เกษตรกรยังต้องพึ่งตัวเอง

นักธุรกิจก็คงต้องคิดแบบเดียวกัน

ใช้การตลาดแนวพุทธ

“อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” มาร์เก็ตติ้ง

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

หายใจไว้…หายใจไว้