ธนาคารสะดวกบริการ (2)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

การพลิกโฉมธนาคารไทย เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทั้งมุมมองและความเป็นไป

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจากระแสเปิดฉากโดยธนาคารไทยพาณิชย์ “กลับหัวตีลังกา” สะท้อนความพยายามปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งระบบธนาคารไทย ว่าด้วยแผนการจัดการ ปรับ-ลด “สาขา” ที่สำคัญเชื่อมโยงกับการลดจำนวนพนักงานจำนวนมาก

แล้วมาผนวกรวมกับจินตนาการ ว่าด้วยทิศทาง และ “อิทธิพล” ร้านสะดวกซื้อ กำลังก้าวไปมีบทบาทบริการธนาคาร ในจังหวะเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถแต่งตั้ง “ตัวแทนฝาก-ถอน-จ่ายเงิน-โอนเงิน” โดยไม่ต้องขออนุญาต

เรื่องของเรื่องข้างต้น มีทั้งเป็นเรื่องเดียวกัน และคนละเรื่อง

ประเด็นแรก–ธนาคาร+ร้านสะดวกซื้อ

ที่จริงแล้ว ธนาคารกับร้านสะดวกซื้อมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกันมานานแล้ว เครือข่ายสาขาร้านสะดวกซื้อเป็นที่ตั้งเครื่องบริการเงินอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า ATM อยู่แล้ว แทบจะเรียกว่าเป็นบริการที่จำเป็นอย่างหนึ่งของร้านสะดวกซื้อ เป็นภาพให้ความหมายในแง่หนึ่งว่า ร้านสะดวกซื้อให้บริการการเงินบางระดับ เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อมีดีลกับธนาคาร ธนาคารต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการใดก็แล้วแต่ ให้ร้านสะดวกซื้อ ทำนองเดียวกันกับที่ธนาคารต้องจ่าย ต้องลงทุน ต้องเสียค่าเช่าที่ในบริการ ATM นอกสาขาในที่อื่น ๆ อยู่แล้ว

คงจะเป็นเรื่องยากทีเดียว ร้านสะดวกซื้อจะมีพนักงานบริการทางการเงินอยู่ที่นั่น ความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก อยู่ที่เครื่องอัตโนมัติบริการทางการเงิน (ATM ) จะพัฒนาไปอย่างไร เชื่อว่าคงจะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นบริการทางการเงินอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน จากสาขาดั้งเดิม สู่ไร้สาขาในโลกดิจิทัล บางทีบางคนมองไปไกลเกินจริง อีกด้านหนึ่งธนาคารไทยจะต้องลงทุนกับเทคโนโลยีข้างต้นต่อไปเรื่อย ๆ

ภาพดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การปรับตัวเครือข่ายสาขาธนาคาร ซึ่งค่อย ๆ ปรับตัวกันมาระยะหนึ่ง

ก่อนจะมาเป็น “กลับหัวตีลังกา” นำร่องโดยธนาคารไทยพาณิชย์ การปรับตัวเพื่อให้ธนาคารเข้าถึงผู้ใช้บริการ ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะรายย่อย รายบุคคล ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว

ผมเชื่อว่าร้านสะดวกซื้อ ในฐานะตัวแทนบริการทางการเงิน จะไม่ทำให้โฉมหน้าธนาคารไทยเปลี่ยนแปลงอย่าง “กลับหัวตีลังกา” ไปมากกว่านี้

อีกด้านหนึ่ง ร้านสะดวกซื้อโดยเฉพาะ 7-Eleven ในสังคมไทย ย่อมแตกต่างจาก 7-Eleven กับ Seven Bank ในญี่ปุ่น

Seven Bank เป็นธนาคารในเครือข่ายธุรกิจเดียวกันกับ 7-Eleven ในญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2544 เป็นบุคลิกใหม่ธนาคารญี่ปุ่น เปิดฉากด้วยบริการทางอินเทอร์เน็ต ต่อด้วยเครื่อง ATM (automatic teller machines) อยู่ภายในเครือข่ายสาขา 7-Eleven บริการที่สำคัญซึ่งเป็นที่รู้กันดีของบรรดานักท่องเที่ยว คือบริการโอนเงิน เชื่อมบัตรต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งบัตรเอทีเอ็มของไทย เมื่อปี 2548 เพิ่งเปิดสาขาแรกที่มีพนักงานบริการ

โมเดล Seven Bank กับ 7-Eleven ในญี่ปุ่น แตกต่างจากกรณีในเมืองไทย ตรงที่เฉพาะ Seven Bank เท่านั้นติดตั้ง ATM ภายในสาขา 7-Eleven ขณะที่ 7-Eleven เมืองไทย ด้านหน้าสาขามี ATM ธนาคารต่าง ๆ ติดตั้งอยู่ บางแห่งมีหลายเครื่อง หลายธนาคาร

สังคมญี่ปุ่นยังคงใช้เงินสดอยู่พอสมควร บทบาทของ ATM ยังคงอยู่ และกำลังเคลื่อนย้ายไปสู่ที่ร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ทุกซอกทุกมุม ขณะที่เครือข่ายสาขาธนาคารมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเครือข่ายสาขาในสังคมไทย ผู้ใช้บริการในญี่ปุ่นมักไม่นิยมใช้บริการ ATM ณ สาขาธนาคาร ส่งผลให้แนวโน้มให้ลดจำนวนลง ปรากฏการณ์ใหม่ในวงการธนาคารญี่ปุ่นที่น่าสนใจ คือธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็ก มีแนวโน้มยกเลิกบริการ ATM โดยมีดีลกับ Seven Bank ให้เข้ามาบริการแทน (ย่อหน้าข้างต้นเรียบเรียง As Japanese banks shed ATMs, convenience stores take up the slack, Nikkei, September 19, 2017)

เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อีกประเด็นหนึ่ง-ร้านสะดวกซื้อจะเป็นธนาคาร

แม้ว่าเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปฏิเสธไปแล้ว ไม่มีการอนุญาตตั้งธนาคารใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเจาะจงไขความวิตกกังวลที่ว่า ร้านสะดวกซื้อโดยเฉพาะ 7-Eleven และโดยเฉพาะเครือข่าย

กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) จะกลายเป็นธนาคาร

อันที่จริง ซี.พี.มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเงินอยู่แล้ว ธุรกิจการเงินและธนาคารเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ เจาะจงแยกออกมา หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร จาก “รุ่นพ่อ” สู่ “รุ่นลูก” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เครือข่ายธุรกิจดังกล่าวอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มต้นมามานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว

จากการก่อตั้ง Chia Tai International Finance ขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2535 จนมาถึงปี 2553 จึงได้ยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัว เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเชงสิน (Zhengxin Bank Company) ทั้งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเงินต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุมัติจากทางการจีน (People’s Bank of China)

อีกกรณีหนึ่งในปี 2556 ซีพีซื้อหุ้นจำนวน 15.6% ของ PingAn Insurance Group บริษัทด้านประกันภัยแห่งแรกและใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศจีน “แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ด้าน คือ การประกันภัย การธนาคาร และการลงทุน การเข้าซื้อหุ้นผิงอันก็เพื่อมุ่งขยายและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้านการเงินของเครือ” (ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้ใน “บันทึกความทรงจำ”)

กิจการบริการการเงินของซี.พี.ในเมืองไทย ถือว่ามีแล้วเช่นกัน

หลังจากซี.พี.ได้ปรับโครงสร้างการบริหารดังกล่าวข้างต้น มีกลุ่มธุรกิจเกิดขึ้นใหม่ ๆ อย่างแท้จริง คือ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัทสำคัญ 2 แห่ง คือ ASCEND GROUP กับบริษัท พันธวณิช

ทั้งนี้ เชื่อว่าเชื่อมโยงและต่อเนื่องมาจากดีลสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า “แอนต์ ไฟแนนเชียล ประกาศร่วมมือกับแอสเซนด์ มันนี่ ขยายแผนงานการเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วโลก” (หัวข้อข่าวแถลงเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซี.พี. เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2559 อ้างจาก http://www.cpgroupglobal.com) เรื่องราวดีลระหว่างซี.พี.กับ Alibaba Group ผู้คนในแวดวงให้ความสนใจอย่างมาก ๆ รวมทั้งนักการเมืองผู้มีบทบาทดูแลนโยบายเศรษฐกิจอย่าง กรณ์ จาติกวณิช

“ผมคุยกับน้องในแวดวง เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัว ทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า 7-Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้ง online และ offline ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่นฯ, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอปมือถือ, กู้เงิน peer to peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่นฯ, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ 7-Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อ-ขายของผ่าน Lazada ฯลฯ” กรณ์ จาติกวณิช (อ้างมาจาก Facebook fan page ในนาม Korn Chatikavanij 1 November 2559) เป็นครั้งแรก ๆ มีการกล่าวถึงบทบาทร้านสะดวกซื้อ กับบริการทางการเงินแบบใหม่ซี.พี.กับบริการทางการเงินในปัจจุบัน ที่สำคัญผ่าน “ทรูมันนี่ (True Money)”

“ทรูมันนี่ คือผู้นำด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์ชั้นนำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นให้บริการทางการเงินแก่ทุก ๆ คน รวมไปถึงผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการของสถาบันทางการเงินต่าง ๆ” ภาพธุรกิจให้ไว้ (จาก Facebook True Money หากสนใจรายละเอียดมากกว่านี้ โปรดดู www.truemoney.com) และยังให้ข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติมด้วย “บริษัท ทรูมันนี่ ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย และได้เป็นพันธมิตรกับแบรนด์ Alipay ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Ant Financial Services Group”

ปรากฏการณ์ข้างต้นจะสั่นสะเทือนธุรกิจธนาคารดั้งเดิมมากกว่าที่คิด

 

 


คลิกอ่าน  >>> ธนาคารสะดวกบริการ (1)