ชาตรี โสภณพนิช 2477-2561 (ตอน 2)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

จากประสบการณ์เชื่อมต่อระหว่างยุคธนาคารกรุงเทพ สู่สายสัมพันธ์อีกมิติหนึ่ง เชื่อมโยงกับภูมิภาค

โมเดลการบริการธนาคารกรุงเทพ มีความแตกต่างจากธนาคารอื่น ๆ อย่างมาก ด้วยมีโครงสร้างซ้อนกันระหว่างผู้บริหาร 2 รุ่น บ้างก็ว่าสะท้อนธุรกิจครอบครัวฝังราก อีกมุมหนึ่งสะท้อนบทบาทเชื่อมต่อระหว่างยุคอย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองผ่านความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่บทบาทธนาคารระดับภูมิภาคอย่างเต็มตัวในกรณีจีนแผ่นดินใหญ่และมาเลเซีย

ธนาคารกรุงเทพประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยในความพยายามสร้างเครือข่ายในภูมิภาค ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกราก ธนาคารในภูมิภาคเคลื่อนไหวอย่างคึกคักไปในทิศทางนั้น

ว่าไปแล้วเป็นความต่อเนื่องจากสายสัมพันธ์ ตั้งแต่ยุค ชิน โสภณพนิช ผู้บุกเบิกแผ้วถางไว้เมื่อกว่ากึ่งศตวรรษที่แล้ว ส่งผ่านมายังกระแสอันสอดคล้องยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ควรถือได้ว่าเป็นกระบวนการผ่านบุคคลซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่ออย่างน่าทึ่งนั่นคือ ชาตรี โสภณพนิช

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ ชิน โสภณพนิช ต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกง 5 ปี (2501-2506) ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว “นายชินใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติการงานด้านต่างประเทศ…ทุ่มเทความพยายามเต็มที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Robert Kwok แห่งมาเลเซีย Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง ขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ” เชื่อกันว่าสายสัมพันธ์มีความต่อเนื่องสู่รุ่นต่อมา (หนังสือ “ชิน โสภณพนิช (2453-2531)” จัดพิมพ์โดยธนาคารกรุงเทพ)

ยุคชิน-ชาตรี

สาขาแห่งแรกที่ฮ่องกงเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว (2497) ครั้นเมื่อชินปักหลักที่ฮ่องกง แผนการขยายเครือข่ายภูมิภาคจริงจังมากขึ้น มีอีก 2 สาขาในฮ่องกงช่วงต่อมา (ปี 2503 และ 2504) ที่น่าสนใจมีสาขากัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (2502) ด้วย

ในช่วง ชิน โสภณพนิช บริหารธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัวอีกครั้ง เป็นช่วงยาวทีเดียว (2505-2535) มุมมองขยายตัวในภูมิภาคลดความสำคัญลงเมื่อเทียบกับโอกาสเปิดกว้างในประเทศ มาเริ่มต้นอีกครั้งในช่วงหลังสงครามอินโดจีน

“แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” เมื่อเข้าช่วงคาบเกี่ยวยุค ชาตรี โสภณพนิช (กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2522-2535 และประธานกรรมการบริหาร 2535-2541)ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรก บุกเบิกเครือข่ายในจีนแผ่นดินใหญ่

เริ่มต้นเปิดสำนักงานตัวแทนธนาคารที่ปักกิ่งในปี 2529 และตามมาด้วยการเปิดสาขาแห่งแรกที่ซัวเถาในปี 2535 จากนั้นปีเดียว (2536) ตามมาด้วยสาขาเซี่ยงไฮ้

จากนั้นเป็นเวลาที่ดีมากขึ้น “ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นสาขาแรกเมื่อปี 2502 หรือกว่า 50 ปีแล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย จึงได้เปลี่ยนสถานะของสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นธนาคารท้องถิ่น จดทะเบียนในนาม Bangkok Bank Berhad เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์” (เอกสารประชาสัมพันธ์ธนาคารเคยระบุไว้ ถือเป็นธนาคารไทยธนาคารแรกที่ได้ใบอนุญาตก่อตั้งธนาคารท้องถิ่นในต่างประเทศ ในเวลานั้นไทยเองปิดตายสำหรับโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ยุคชาตรี-ชาติศิริ

ชาติศิริ โสภณพนิช ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ปี 2537 ส่วนชาตรีเป็นประธานกรรมการบริหารช่วงเดียวกับบุตร 5 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นประธานกรรมการ (ปี 2542) ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ระบบธนาคารเผชิญปัญหาหนักหน่วง ธนาคารกรุงเทพตามโครงสร้าง 2 รุ่น ไม่เพียงสามารถพยุงตัวอยู่รอด กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาธนาคารต่างชาติ โดยเฉพาะธนาคารในภูมิภาคขยายเครือข่ายกันคึกคัก เข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ในระบบธนาคารไทยด้วย

ดูแล้วเป็นทิศทางที่จำเป็นต้องเดินไป ขณะที่ธนาคารไทยกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหา ด้วยมุมมองค่อนข้างเฉื่อยเนือยกับบทบาทภูมิภาค

ธนาคารกรุงเทพมีโอกาสมากกว่าใคร จะด้วยรากฐานเดิมหรือแรงบันดาลใจก็แล้วแต่ ได้ก้าวนำหน้าธนาคารไทยไปพอสมควร

ปฏิบัติการมุ่งมั่นในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน ในปี 2541 สามารถมีสาขาที่เซียะเหมิน ตามมาด้วยเป้าใหญ่อีกขั้นในปี 2548 เปิดสาขาปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงนั้นดูมีแผนธุรกิจจริงจัง มีการย้ายสาขาจากซัวเถามายังเสิ่นเจิ้น (ปี 2550) และแล้วปี 2552 ธนาคารกรุงเทพบรรลุเป้าหมายสำคัญ

“ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารแห่งใหม่ที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้น 100% ได้เปิดดำเนินธุรกิจโดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในธนาคารต่างชาติไม่ถึง 30 แห่งที่ได้รับอนุญาต ธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์ยาวนานในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกในฮ่องกงเมื่อปี 2497 และเปิดสำนักงานตัวแทนแห่งแรกในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2529 การเปิดธนาคารแห่งใหม่ได้ใช้เวลาเตรียมการมาหลายปี ที่สำคัญธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สามารถเปิดสาขาได้เพิ่มขึ้นอีก และสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าทั่วไป ให้บริการชำระเงินในสกุลเงินหยวนได้อย่างครบวงจร สาขาของธนาคารกรุงเทพที่มีอยู่ก่อนแล้วในเขตเศรษฐกิจหลัก ๆ ของจีน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสิ่นเจิ้น และเซียะเหมิน ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้” ภาพธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) อ้างจากข่าวประชาสัมพันธ์ธนาคารกรุงเทพ (28 ธันวาคม 2552)

“การจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สำเร็จลงและดำเนินการในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิภาค หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทศวรรษแห่งเอเชีย” เมื่อข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตเสรีการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน และอีกหลายประเทศเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย” สาระและจินตนาการเพิ่มเติมจากรายงานประธานกรรมการบริหาร (ขณะนั้นคือ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ในรายงานประจำปี 2552 ธนาคารกรุงเทพเป็นจังหวะต่อเนื่องกับกรณี Bangkok Bank Berhad ธนาคารท้องถิ่นในมาเลเซีย ซึ่งธนาคารกรุงเทพถือหุ้นเต็มจำนวน 100% “ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ให้เปิดสาขาใหม่ 4 สาขาในรัฐยะโฮร์ (Johor) 2 สาขา รัฐปีนัง (Penang) 1 สาขา และรัฐสลังงอร์ (Selangor) 1 สาขา”

ข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญธนาคารกรุงเทพอีกชิ้นหนึ่งในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน (20 เมษายน 2553) ไม่ได้ระบุช่วงเวลาอนุมัติ หากนำเสนอในช่วงสาขาใหม่ที่ Jalan Bakri เมือง Johor เปิดดำเนินการไปแล้ว และอีกสาขาที่ Taman Molek เมือง Johor Bahru กำหนดเปิดขึ้นเมื่อ 22 เมษายน 2553 จากนั้นไม่นานอีก 2 สาขาได้เปิดดำเนินการแล้วเช่นกัน

ภาคผนวก

มีเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้นอย่างมีนัยเกี่ยวข้องเรื่องราวข้างต้น ใน ยุคชาตรี-ชาติศิริ ท่ามกลางการแก้ปัญหาจากวิกฤตการณ์ มาพร้อมกับโอกาสใหม่ด้วย เครือข่ายธุรกิจตระกูลโสภณพนิช กับธนาคารกรุงเทพ ได้รับอนุมัติจัดตั้งธนาคารใหม่ในปี 2547 ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นธนาคารใหม่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารดั้งเดิมเพียงกรณีเดียวนั่นคือ ธนาคารสินเอเซีย ที่น่าสนใจกว่านั้นจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม ธนาคารสินเอเซียได้ขายให้กับธนาคารจีน (Industrial and Commercial Bank of China Ltd. หรือ ICBC) ไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน)

นั่นเป็นเพียงบางเรื่องราวเกี่ยวข้องกับชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ผู้จากไป