กลัว COVID-19 ? มีโรคอื่นน่ากลัวกว่ามาก

คอลัมน์ Healthy Aging

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ณ วันที่เขียนบทความนี้ ความเป็นห่วงเรื่องการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ทางการจีนประกาศว่า มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันนั้นถึง 15,000 ราย รวมเป็น 65,000 ราย จากเดิมที่อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียง 2,000 รายต่อวัน หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันทยอยลดลงจาก 4,000 คน ซึ่งเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราเห็นสถิติผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 1,500 รายแล้ว และยังมีผู้ป่วยที่มีอาการหนักอีก 8,500 คน ในขณะที่มีผู้หายป่วยและกลับบ้านได้เพียง 6,200 คน

เป็นความจริงที่ COVID-19 นั้นแพร่ออกไปได้ง่าย เพราะผู้ที่ติดเชื้อจะยังไม่มีอาการใด ๆ ในตอนแรก แต่อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ที่ติดเชื้อยังอยู่ที่ระดับต่ำ คือ ประมาณ 2% เมื่อเทียบกับโรค SARS ที่มีอัตราการเสียชีวิตประมาณเกือบ 10% แต่การเสียชีวิตในจำนวนพันกว่ารายนั้นยังถือได้ว่าไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับการที่มนุษย์เป็นไข้หวัดใหญ่ (influenza) ทั่วโลกปีละประมาณ 3-5 ล้านราย (ที่มีอาการหนักจนต้องได้รับการรักษาจากแพทย์) และจากจำนวนผู้ป่วยนี้ได้มีงานวิจัยประเมินว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 389,000 คน หมายความว่าหากมีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นอีก 100 เท่า (จากตัวเลขปัจจุบันที่ 1,500 คน) ก็จะเป็นเพียง 38% ของยอดผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ทุก ๆ ปี (ดูงานวิจัยได้ที่ Journal of Global Health 22 October 2019 “Global mortality associated with seasonal influenza epidemics : New burden estimates and predic-tors from the GLaMOR Project”)

นักวิจัยประเมินอีกด้วยว่า ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปี หรือมากกว่า) เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยจำนวนผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 67% ของยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด

โรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะระบาดเป็นประจำทุกปี และมีผู้เป็นโรคนี้มากจนเกือบจะเห็นเป็นปกติเมื่อเข้าฤดูหนาว เช่น ในกรณีของประเทศสหรัฐ ตัวเลขล่าสุดประเมินว่า มีผู้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่มากถึง 35-45 ล้านคนต่อปีโดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ป่วยหนักมากถึง 490,000-810,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตปีละ 34,000-61,000 ราย

สำหรับประเทศไทยนั้น World Life Expectancy.com อ้างตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกปี 2017 ว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคปอดบวม มากถึง 60,321 ราย ในปีดังกล่าว ทำให้ไทยติดอันดับ 57 ของโลก สำหรับจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ งานวิจัยของนักวิชาการไทย เช่น ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Influenza Other Respiratory Viruses, November 2015 “Influenza-associated mortality in Thailand 2006-2011” ประเมินจากข้อมูลผู้เสียชีวิตในปี 2006-2011 สรุปว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่มากถึง 4 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดย 83% ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ และอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปอดบวมนั้นเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

ดังนั้น จึงน่าจะสรุปได้ว่าควรระมัดระวังเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 อยู่บ้าง แต่ภัยร้ายที่ใกล้ตัวมากกว่า (มาก) คือ การเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ทั้งนี้ นอกจากอายุจะเป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวานและมีอาการความดันโลหิตสูง ก็ยังจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือ COVID-19 อีกด้วย

หากกลัวติดเชื้อและเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วก็ต้องขอบอกว่า เรื่องของโรคเบาหวานนั้นยิ่งน่ากลัวกว่าอีกหลายเท่า แม้จะไม่เป็นโรคติดต่อ แต่ผมต้องขอนำมากล่าวถึงเป็นพิเศษ เพราะเดิมทีผมไม่เคยเข้าใจว่าเป็นโรคที่อันตรายอย่างมาก หลายคนคงจะเข้าใจเหมือนกับผมว่า โรคหัวใจ-ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่อันตราย แต่หลายคนรวมทั้งผมนั้นจะไม่ค่อยกลัวโรคเบาหวานมากเท่าที่ควร ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก และ International Diabetes Federation ดังนี้

– มีคนเสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั่วโลก 1.6 ล้านคน ในปี 2016 และปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะใกล้ 2 ล้านคนต่อปีแล้ว หากประเมินจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคนี้ในอดีต

– มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานทั่วโลก 464 ล้านคน ในปี 2019 โดยประมาณ ผู้ใหญ่มีสัดส่วนเป็นโรคเบาหวานประมาณ 9.3% และคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เป็นโรคเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 629 ล้านคน ในปี 2045 หากนำเอาส่วนต่างของตัวเลขทั้งสองไปหารด้วยจำนวนปีก็จะได้ตัวเลขที่พอสรุปได้ว่า จะมีผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้ ปีละ 6.34 ล้านคน ใน 26 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้การแพร่ขยายของโรค COVID-19 ดูเป็นเรื่องที่เล็กน้อยกว่าโรคเบาหวานอย่างมาก

– 79% ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย (โรคเบาหวานไม่ใช่โรคของคนรวย)

– 50% ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน (232 ล้านคน) ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานเพราะไม่ได้ไปตรวจเลือด

การลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานนั้นมีอยู่ 3 แนวทาง คือ การควบคุมการกินอาหาร การออกกำลังกายและการกินยา แต่งานวิจัยที่ผมอ่านพบนั้นมีข้อสรุปว่า การควบคุมการกินและการออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานได้ดีกว่าการกินยา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อายุ 60 ปี หรือมากกว่า ซึ่งข้อสรุปของงานวิจัยดังกล่าว ผมจะขอนำมาเสนอในครั้งต่อไป

แต่ผมมีข้อสรุปชัดเจนว่า โรคเบาหวานจะน่ากลัวกว่าโรค COVID-19 อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ และแม้ว่าโรคเบาหวานจะไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้ แต่หากดูแนวโน้มแล้วก็จะเห็นว่า ผู้ที่เป็นโรคนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เสมือนกับเป็นโรคติดต่อ เช่น ในกรณีของประเทศไทยนั้น สัดส่วนของผู้ที่เป็นโรคอ้วน (ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน) นั้น เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ของจำนวนผู้ใหญ่ทั้งหมดในปี 1991 มาเป็น 9.1% ในปี 2009 ครับ

ในตอนต่อไปผมจะนำเอางานวิจัยเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานมาสรุปให้อ่านกันครับ