คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2019 ได้แก่นักเศรษฐศาสตร์ 3 ท่าน คือ ดร.อภิชิต พานรชี (Abhijit Banerjee) ดร.เอสเธอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) และไมเคิล เกรเมอร์ (Michael Kremer) อภิชิต เป็นชาวอินเดีย เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1961 ส่วนเอสเธอร์ ดูโฟล อายุน้อยที่สุดใน 3 คนนี้ เกิดเมื่อปี 1972 ที่นครปารีส ฝรั่งเศส และเป็นสุภาพสตรีคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้ ทั้ง 2 ท่านนี้ เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT อีกท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัลร่วมกัน ดร.ไมเคิล เกรเมอร์ เกิดเมื่อปี 1964 ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทั้ง 3 คน เป็นชาวอเมริกัน
ผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ก็คือ ผลงานจากการทดลองเพื่อทดสอบวิธีการขจัดความยากจน ให้หมดไปจากโลก “Experimental approach to alleviating global poverty” รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2019 นี้ จึงเป็นรางวัลให้กับนักเศรษฐศาสตร์สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ หรือ development economics ซึ่งเป็นวิชาผสมกันระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคกับเศรษฐศาสตร์มหภาค ใช้วิธีการของเศรษฐศาสตร์จุลภาคเพื่อเข้าใจเศรษฐศาสตร์มหภาคในประเด็นขจัดความยากจน โดยการแตกปัญหาระดับมหภาคเป็นเรื่องย่อย ๆ เป็นเฉพาะที่และเฉพาะกลุ่มแล้วลงพื้นที่ไปดูของจริง
นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาการทั้ง 3 ท่าน ทำงานโดยร่วมกันลงพื้นที่ทำการทดลองด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ในห้องทดลอง แต่ไปทำที่ภาคตะวันตกของประเทศเคนยา โดยการตั้งประเด็นว่า ทำไมประสิทธิผลของการลงทุนอย่างเดียวกัน ขนาดเท่ากัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วจึงสูงกว่าประเทศที่ยากจน ซึ่งเป็นปัญหาความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศในโลก คำถามอย่างเดียวกันก็ใช้ได้ภายในประเทศเดียวกันได้ด้วย
กล่าวคือ ด้วยเทคโนโลยีอย่างเดียวกันลงทุนอย่างเดียวกัน ผลออกมาได้ประสิทธิภาพในการผลิตที่ต่างกันระหว่างบุคคลและบริษัท ทั้ง 3 ท่าน พบว่า ประเทศหรือคนหรือบริษัทที่ร่ำรวยนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือเครดิตดีกว่าประเทศหรือบุคคลหรือบริษัทที่ยังยากจนอยู่ ทำนองเดียวกับสุภาษิตไทยเราว่า “เงินต่อเงิน” เงินคนรวยหรือบริษัทรวยมีประสิทธิภาพในการทำงานลงทุนผลิตสูงกว่าเงินของประเทศ บุคคลหรือบริษัทที่ยากจนหรือร่ำรวยน้อยกว่า
คนมีเงินพูดอะไรก็ถูกไปหมด น่าฟังไปหมด ประเทศที่ร่ำรวยก็จะรวยยิ่งขึ้น การลดช่องว่างและความแตกต่างจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ผลิตอะไรออกมาขายก็ขายหมด ต่างกับประเทศยากจนหรือคนยากจน หรือบริษัทในประเทศยากจน ผลิตออกมาก็ขายไม่ได้
การศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะลดช่องว่างดังกล่าว ไมเคิล เกรเมอร์ ได้ลงพื้นที่เพื่อทำการทดลองแบบเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ทำร่วมกับองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือ NGO เลือกทดลองในสถานศึกษาโดยแยกโรงเรียนในพื้นที่ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยปกตินักเรียนในประเทศยากจนอย่างประเทศเคนยา หนังสือและอุปกรณ์การศึกษาเป็นของหายาก เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน การแจกหนังสือตำราเรียนอุปกรณ์การเรียนและจัดอาหารกลางวันจะมีผลต่อการศึกษาของเด็กน้อยมาก จะให้ผลเฉพาะกับเด็กเรียนดีเท่านั้น การเจาะเข้าไปดูแลเด็กเป็นรายคน จะได้ผลต่อการศึกษาของเด็กที่เรียนอ่อนได้ดีกว่าการทำรวม ๆ กันไป
ปัญหาการศึกษาของประเทศยากจนก็คือ ตัวครูเองที่ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการหรือปัญหาของเด็กแต่ละคน ไมเคิล เกรเมอร์ ได้ทำการทดลองกับนักเรียนใน 2 เมืองใหญ่ ๆ ในอินเดีย คือ เมืองมุมไบหรือบอมเบย์เดิม กับเมืองวาโดดารา Vadodara โรงเรียนกลุ่มหนึ่งถูกสุ่มเลือกไปเป็นกลุ่มทดลอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องทำอะไร โรงเรียนกลุ่มที่ได้รับการสุ่มคัดเลือก ครูผู้สอนปรับตัวปรับวิธีสอนให้เข้ากับความต้องการของเด็ก พานรซี และดูโฟล เปรียบเทียบผลที่ออกมาปรากฏว่าเด็กที่เรียนอ่อนที่สุดที่ได้รับการคัดเลือก มีการเรียนที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ดีกว่าการแจกตำราหรืออาหารกลางวันฟรีเสียด้วยซ้ำ
การทดลองอีกเรื่องหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คือ การทดลองให้ยาถ่ายพยาธิ โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยาถ่ายพยาธิฟรีกับมารดาของเด็ก อีกกลุ่มหนึ่งมารดาของเด็กต้องซื้อยาถ่ายพยาธิให้เด็ก ผลการทดลองมารดาที่รับยาถ่ายพยาธิฟรี ทำการถ่ายพยาธิให้เด็กในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่มารดาต้องซื้อยาถ่ายพยาธิ ยิ่งราคายาถ่ายพยาธิแพงขึ้นเท่าใด อัตราส่วนของเด็กที่มารดาให้ยาถ่ายพยาธิก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น เมื่อนำไปใช้ทดลองกับการฉีดวัคซีนหรือการให้ยาป้องกัน หรือการป้องกันโรค การให้ฟรีได้ผลกว่าการคิดเงินในการป้องกันโรค
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ท่านทำการทดลองโดยโยงเข้ากับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ของที่จะแจกจ่ายต้องไม่มีล้นเหลือ ต้องให้มีน้อยกว่าความต้องการ หรือมีน้อยกว่าที่ต้องการจะแจก พอมีข่าวว่าของมีน้อย ผู้คนก็จะรีบเข้ามาแย่งรับแจกหรือแย่งกันมารับบริการ ดังนั้น การจัดวัคซีนไว้กับที่ เช่น ที่โรงพยาบาลจะได้ผลน้อยกว่า กล่าวคือมีคนมารับการฉีดวัคซีนกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ไปให้บริการมากกว่า ยิ่งเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมกับมีของแจก จะทำให้การฉีดวัคซีนทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อคนในการฉีดวัคซีนต่ำลง
การทดลองทำที่ประเทศเคนยาโดยการจัดให้มีวัคซีนที่โรงพยาบาล มีหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่โดยไม่แจกอะไร กับหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่พร้อมกับการแจกถั่วเลนทิลถุงหนึ่ง ปรากฏว่าหน่วยฉีดวัคซีนพร้อมแจกถั่วได้ผลที่สุด หน่วยฉีดวัคซีนเฉย ๆ รองลงมา และหน่วยฉีดวัคซีนอยู่กับที่ที่โรงพยาบาลได้ผลน้อยที่สุดคือคนมาฉีดน้อยที่สุด เพราะต้นทุนการเดินทางไปฉีดสูงกว่าหน่วยเคลื่อนที่มาฉีดให้ใกล้บ้าน กลุ่มที่ฉีดแล้วได้ถั่วเป็นของแถมดีที่สุด เพราะมนุษย์แม้จะยากจนอย่างไรก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ชีวิตมีราคาต่ำกว่าคนรวย กลัวตายน้อยกว่าคนรวย ยิ่งรวยก็ยิ่งกลัวตายมากขึ้นไปอีก
การเรียนการสอนในโรงเรียนขึ้นอยู่กับครูผู้สอนมากกว่าการแจกตำราเรียนแจกอุปกรณ์ ในประเทศยากจนโรงเรียนที่ครูไม่เอาใจใส่ ไม่รับผิดชอบต่อการเรียนการสอน ชอบขาดสอนบ่อย ๆ ชอบลางานบ่อย ๆ คุณภาพของเด็กนักเรียนก็จะต่ำกว่าเด็กนักเรียนที่มีครูขยันดูแลเอาใจใส่กับการเรียนการสอนของเด็ก สำคัญมากกว่าหลักสูตร สำคัญกว่าการแจกตำราฟรี สำคัญกว่าการแจกอาหารฟรี หรือการมีรถรับส่งฟรีการศึกษาและการสาธารณสุขมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพของการผลิตของประเทศ ของบริษัท ห้างร้าน และตัวปัจเจกบุคคล
ทุกวันนี้ประชากรของโลกกว่า 700 ล้านคนยังอยู่ในสภาพยากจน ทุก ๆ ปีเด็กประมาณ 5 ล้านคนต้องตายด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้หรือสามารถรักษาได้ ครึ่งหนึ่งของเด็กทั่วโลกต้องออกจากโรงเรียน เป็นคนไม่รู้หนังสือ คิดเลขบวกลบคูณหารไม่เป็นตลอดชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ขณะเดียวกัน ทั้งรัฐบาลของประเทศและองค์การสหประชาชาติทุ่มเงินมหาศาลเพื่อขจัดความยากจน แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะใช้วิธีการที่ไม่ถูก
ทางที่ถูกต้องคือเข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เช่น การแก้ไขปัญหาการรู้หนังสือ การสาธารณสุข การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ต้องทำเป็นโครงการเล็กที่สามารถบริหารจัดการได้ ต้องศึกษาให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงจึงจะแก้ไขได้ถูกทางอย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น
ทั้ง 3 ท่านเสนอวิธีแก้ไขเรื่องครูขาดการสอน ลางานบ่อย ปล่อยให้นักเรียนเล่นกันเองในห้อง โดยการให้ค่าตอบแทนครู เป็นรายชั่วโมงหรือรายวันแทนที่จะเป็นรายเดือน เพราะการจ่ายค่าตอบแทนรายชั่วโมงหรือรายวัน ครูขาดสอนหรือลางานน้อยกว่าจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน
ทั้ง 3 คนเคยลงไปศึกษาพฤติกรรมของพยาบาลในโรงพยาบาลในชนบทของอินเดีย พยาบาลจำนวนมากลางานกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทำงาน แต่การลางานจะลดลงถ้ามีการให้รางวัลกับคนที่ขยัน ไม่ลางานหรือลางานเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยของเวลาที่ควรจะทำงานทั้งหมด จะทำให้มีผลต่อการไม่ลางานยิ่งขึ้นถ้ารางวัลมีขนาดมากขึ้น จำนวนวันลางานจะน้อยลงหรือไม่ลางานเลย
นอกจากนั้น ในบททดลองในพื้นที่พบว่า ครูที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานประจำ ประสิทธิภาพการสอนต่ำกว่าครูที่จ้างโดยสัญญาที่มีกำหนดเวลาจ้าง จากการประเมินคุณภาพของเด็กนักเรียนในการสอบเข้าสถาบันการศึกษาพื้นฐาน ครูที่จ้างโดยสัญญาการจ้างสามารถผลิตนักเรียนที่เรียนดีมากกว่าครูที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานประจำ
งานอีกชิ้นที่ทั้ง 3 คนศึกษาพฤติกรรมของชาวนาในเคนยาตะวันตกก็คือ โครงการช่วยเหลือปุ๋ยราคาถูกแก่เกษตรกร ถ้ารัฐบาลจัดหาปุ๋ยจำนวนมากและมีระยะเวลาซื้อเป็นช่วงเวลา เกษตรกรจะไม่สนใจซื้อใช้เท่าที่ควรจะซื้อ แต่ถ้ารัฐบาลประกาศว่ามีปุ๋ยจำนวนจำกัดและจำกัดช่วงเวลาที่ซื้อได้ให้สั้นลง เกษตรกรจะรีบซื้อและซื้อเอามาเก็บไว้มากกว่าความจำเป็น
เพศ อายุ เชื้อชาติก็มีความสำคัญในการตัดสินใจ ถ้าเป็นผู้บริหาร เช่น นายอำเภอเป็นผู้หญิง จะสนใจโครงการน้ำสะอาด โครงการแม่และเด็กมากกว่าโครงการสร้างถนน สนใจโครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนมากกว่าโครงการแจกตำราเรียน ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผู้หญิงมักจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงคนเดิม มากกว่าผู้สมัครผู้ชายหรือผู้สมัครผู้หญิงคนใหม่ ผลงานจากการลงสนามพิสูจน์เป็นวิธีการทำวิจัยอีกแบบหนึ่ง แต่ต้องทำหลาย ๆ ครั้ง จึงจะสามารถอ้างเป็นทฤษฎี
ยังมีงานของเจ้าของรางวัลโนเบลปี 2019 อีกมากที่ไม่อาจจะนำมาเล่าได้หมด