ประยุทธ์ เว้นวรรค 37 วัน ครม.ประวิตร อนุมัติเงิน 4.58 แสนล้าน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รายงานพิเศษ

นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “หยุดปฏิบัติหน้าที่”

ฉายา “ป้อมทะลุเป้า” ไม่ได้เกินเลยความเป็นจริง เมื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 ครั้ง อนุมัติโครงการ-งบประมาณ 458,295 ล้านบาท

ครม.ถอนเงิน 4.58 แสนล้าน

ครั้งแรก การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นัดแรก บนเก้าอี้ “รักษาการนายกฯ” พล.อ.ประวิตร อนุมัติโครงการ-งบประมาณ 3 รายการ วงเงิน 6,398 ล้านบาท

1.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 จำนวน 66 ล้านบาท เพื่อสมทบเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรในส่วนที่ไม่เพียงพอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.)

2.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 5,282 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 69 จังหวัด 2,086 โครงการ

Advertisment

3.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 1,050 ล้านบาท โครงการค่าตอบแทน อสม.-อสส. คนละ 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 2 เดือน

กราฟิก งานนายก

ให้ กฟผ.กู้เงิน 8.5 หมื่นล้าน

ครั้งที่สอง การประชุม ครม.วันที่ 6 กันยายน 2565 อนุมัติงบประมาณ 8 รายการ วงเงิน 87,280 ล้านบาท 1.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 279 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินอุดหนุนสนับสนุนการจัดการศพผู้สูงอายุ

2.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 จำนวน 663 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

Advertisment

3.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 141 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุม 4.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 146 ล้านบาท ใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงช่วงโควิด-19

5.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 ดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม เมืองเก่าสงขลา วงเงิน 60 ล้านบาท 6.อนุมัติเบิกจ่ายจากงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 80 ล้านบาท สำหรับบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด

7.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 911 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566

8.อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ 2566

อุ้มค่าไฟฟ้า 9 พันล้าน

ครั้งที่สาม การประชุม ครม.วันที่ 13 กันยายน 2565 อนุมัติงบประมาณ จำนวน 10 รายการ วงเงิน 56,201 ล้านบาท 1.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 933 ล้านบาท จ่ายเงินงบฯอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

2.อนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กู้เงินในประเทศ วงเงิน 2,300 ล้านบาท สำหรับแผนงานขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปี 2565-2566

3.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 จำนวน 363 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายของสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง 4.อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565-2567 จำนวน 28 ล้านบาท สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

5.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 วงเงิน 1,747 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2565 6.อนุมัติงบฯกลาง ปี’65 จำนวน 714 ล้านบาท ให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

7.อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 5 วงเงิน 27,562 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโควิด-19 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

8.อนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 6 โครงการ วงเงิน 13,124 ล้านบาท 9.มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้า การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน รวม 4 เดือน 9,128 ล้านบาท

10.ขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เดือน จำนวน 302 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านพลังงานทางภาษีที่ทำให้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ จำนวน 21,436 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 เดือน สูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท

2.ขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอัตราศูนย์ 6 เดือน สูญเสียรายได้ 1,436 ล้านบาท

พล.อ.ประวิตร ยังมีเวลานั่งหัวโต๊ะ ครม. อนุมัติงบประมาณอย่างน้อยอีก 2 ครั้ง ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดี พล.อ.ประยุทธ์

ทุ่มงบลงทุน 2.76 แสนล้าน

ครั้งที่สี่ การประชุม ครม.วันที่ 20 กันยายน 2565 อนุมัติงบประมาณ-งบลงทุน 8 รายได้ วงเงิน 286,980 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 44 แห่ง 15 กระทรวง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 276,274 ล้านบาท

หากรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในครือ 5 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท โรงแรมท่ากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด 3.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,483,868 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 443,351 ล้านบาท

2.อนุมัติงบกลางฯ ปี 65 วงเงิน 287 ล้านบาท โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 จำนวน 59 ลำ

3.อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 วงเงิน 8,319 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

4.อนุมัติงบกลาง ฯ ปี65 วงเงิน 137 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษ จากเรือนจำและทัณฑสถาน

5.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พ.ศ. …. เพื่อโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 กับสถานีรถไฟนาทา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากศูนย์ขนส่งสินค้าบริเวณสถานีรถไฟนาทา ขนาด 4 ช่องจราจร มีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 28 ไร่ (22 แปลง) มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 15 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 91 ล้านบาท

6.อนุมัติงบกลางฯ ปี 65 จำนวน 486 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 (กระทรวงสาธารณสุข)

7.นอกจากนี้ยังมีวาระลับ-ริมแดง เห็นชอบปรับกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเต็ด ลิมิเต็ด จำนวน 65 ล้านบาท จากเดิม 731.13 ล้านบาท เป็น 796.67 ล้านบาท

8.รวมถึงอนุมัติงบค่าใช้จ่ายบุคลากรภายใต้แผนบุคลากรภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ จำนวน 1,321 ล้านบาท แบ่งออกเป็น กองทัพบก 760 ล้านบาท และกองทัพอากาศ 561 ล้านบาท

ไม่นับเงินของกองทุนประกันสังคมที่จะจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯได้ลดลงประมาณ 10,744 ล้านบาท หลังจากเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานการส่งเงินสมทบประกันสังคม พ.ศ. …. ลดอัตราเงินสมทบสำหรับนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ลดลงจากเดิม 5 % เหลือ 3 % และมาตรา 39 จากเดิม 432 บาท ลดลงเหลือ 240 บาท ระยะเวลา 3 เดือน หรือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม –ธันวาคม 2565

ประยุทธ์ พักงาน 37 วัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะไม่ได้เป็นผู้ใช้เงินงบฯกลางแล้ว ยังต้อง “พักงาน” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหลือเพียงแค่หมวก รมว.กลาโหม…

25 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 8/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

“ไม่ต้องกังวล กับเรื่องที่เกิดขึ้น จะทำหน้าที่ต่อ และขอให้ทุกคนทำหน้าที่ต่อไป” พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาเปิดเผย “ข้อสั่งการแรก” ของ พล.อ.ประยุทธ์

“พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ และยังเป็น รมว.กลาโหมอยู่”

“ท่านยังลงนามในหนังสือทุกวันอยู่ อีกทั้งจะเข้ามาทำงานที่กระทรวงกลาโหมหรือไม่ก็ได้ เพราะทำที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องกังวลเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถสั่งการและมอบนโยบายได้ตลอดเวลา”

29 สิงหาคม 2565 : เป็นประธานเปิดงาน Defense & Security 2022 ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี

นอกจากนี้ยังให้การต้อนรับเยี่ยมคำนับและหารือร่วมกับ ดาโต๊ะ ซรี ฮิชามมุดดิน บิน ตุน ฮุดเซ็น รมว.กลาโหม มาเลเซีย สำหรับการพูดคุยสันติสุข และการพัฒนาพื้นที่ชายแดนต่อเนื่องกันไป เสนอให้มีการยกระดับกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงของช่องแคบมะละกาเป็นระดับกระทรวงกลาโหม

รวมถึง พล.อ.อ.ไฟยาด บิน ฮาเมด อาล โรไวลิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซาอุดีอาระเบีย ในฐานะผู้แทนเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาล บิน อับดุลอะซิส อัล ซะอูด มกุฎราชกุมาร

30 สิงหาคม 2565 : ประชุม ครม.นัดแรกในบทบาทที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะ “รมว.กลาโหม” ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ มีแต่ภาพ-ไม่มีเสียง และเป็น พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาราชการนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุม มิหนำซ้ำ พล.อ.ประวิตร ยัง “แย่งซีน” พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยฉาก “พี่ชายที่แสนดี” ไม่นั่งหัวโต๊ะ-ทับที่ “น้องรัก”

การศึกมิหน่ายเล่ห์

31 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ เปิดห้องกระทรวงกลาโหม หารือสถานการณ์บ้านเมืองกับ นายอนุทิน และ พล.อ.อนุพงษ์

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะ “กบดาน” อยู่ใน “ถ้ำเสือ” แต่ยังมีการจงใจ “ปล่อยภาพหลุด” การหารือนอกรอบในห้องปิดลับกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

โดย นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งข่าวพร้อมคำบรรยายใต้ภาพในกลุ่มไลน์ “รังนกกระจอก” ให้ผู้สื่อข่าวทั้งในและนอกทำเนียบรัฐบาลได้ส่งต่อข้อความว่า

“โดยได้มีการหารือเรื่องสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเรื่องที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้”

ตรงกันข้ามกับคำให้การของนายอนุทินที่ออกมา Echo ต่อที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เป็นการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อพาแพทย์จากสถาบันโรคผิวหนัง ติดตามอาการผิวหนังบริเวณหลังมือ และกินมื้อเที่ยงเมนู ข้าวกะเพราไก่ ไข่ดาว”

2 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจราชการน้ำท่วมอย่างเงียบ ๆ ไร้นักการเมือง-ส.ส. และข้าราชการคอยติดตาม มีเพียงประชาชนที่มาให้กำลังใจบางตา นอกจากนี้ ยังลงมาให้กำลังใจกำลังพลกองทัพเพื่อรับมือกับภัยน้ำท่วม

6 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่มาประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยประชุมผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ มีแต่ภาพ-ไม่มีเสียงเช่นเดิม

7 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ลงพื้นที่บัญชาการน้ำท่วมด้วยตัวเอง แต่ก็สั่งการผ่าน “โฆษกกลาโหม” ให้ทหารช่วยเหลือน้ำท่วม หลังฝนตกหนักถล่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ฝากฝัง วปอ.ปกป้องสถาบัน

9 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปเป็นประธานพิธีปิดการศึกษา หลักสูตร วปอ.รุ่นที่ 64 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และเดินทางไปลงนามถวายความอาลัย ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ Four Seasons Private Residences ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

“พล.อ.คงชีพ” กล่าวอ้างอิงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวกับ วปอ.รุ่น 64 ว่า ขอให้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ช่วยกันดูแลปกป้องพิทักษ์ประเทศชาติและสถาบันกษัตริย์ โดยร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปข้างหน้าในทิศทางที่ยึดเอาประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน ตามหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละคน

13 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ยังคงประชุม ครม.ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์เช่นเคย และ 15 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการแก้ปัญหาน้ำท่วมตามปกติหลังจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ก่อนที่ในวันที่ 16 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เข้าช่วยเหลือวิกฤตน้ำท่วมจากฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำทะเลหนุนสูง ใน 6 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 25,000 ครัวเรือน

หากวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ได้ไปต่อ” จะมีโอกาสประชุม ครม.ได้อีกเพียง 2 ครั้ง คือ 20 กันยายน 2565 และส่งท้ายวันที่ 26 กันยายน 2565

2 พี่น้อง 3 ป. อีกคนอำนาจเบ่งบาน อีกคนนับถอยหลังลงจากอำนาจ