ครม.เคาะงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ปี’66 วงเงิน 2.76 แสนล้าน

เงินบาท

ครม.ไฟเขียว รัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ลงทุนปี’66 วงเงิน 2.76 แสนล้านบาท คาด 3 ปีข้างหน้าเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 3.8 แสนล้านบาท

วันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบและงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566 สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 44 แห่ง 15 กระทรวง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 276,274 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,163,937 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 226,274 ล้านบาท และ 2.กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน

นายอนุชากล่าวว่า เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในครือ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด 3.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไม่รวมบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ที่ไม่ประมาณการข้อมูลวงเงินลงทุน และบริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด ที่อยู่ระหว่างการขอยุบเลิกกิจการแล้วจะทำให้วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,483,868 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 443,351 ล้านบาท

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ยังรับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2566 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 67,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 12 โดยมีรายได้รวม 1,715,119 ล้านบาท และรายจ่ายรวม 1,647,427 ล้านบาท

“ครม.รับทราบประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้าของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 44 แห่ง คาดว่าจะมีเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 383,970 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานปี 2566 ร้อยละ 69.7 (วงเงินเบิกจ่ายลงทุนปี 2566 จำนวน 226,274 ล้านบาท) ผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยปีละประมาณ 80,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานปี 2566 ร้อยละ 18.9 เนื่องจากคาดว่ารัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 8 ด้าน ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้ 1.การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน 2.การปรับปรุงงบฯลงทุนระหว่างปี โดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุนควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้หรือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเท่านั้น

3.การทบทวนสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลัง เร่งพิจารณาความจำเป็นของการคงสถานะองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจในภาวะการปัจจุบัน หรืออาจปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นหน่วยงานภาครัฐอื่นที่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งการปรับบทบาทการดำเนินงานภารกิจให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันให้มากขึ้น

4.แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ให้พิจารณาเสนอขออนุมัติงบฯลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วย 5.การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ซึ่งการพิจารณาการจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ควรพิจารณารายละเอียดข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างรอบคอบ

6.การปรับ กระบวนการ ภาครัฐ ที่มีผลต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดพิจารณาหรือดำเนินการในส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่นการตอบข้อวินิจฉัยหรือข้อหารือด้านกฎหมายให้มีความชัดเจนโดยเร็ว

7.การพัฒนาบุคลากรของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และ 8.การบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยให้ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เพื่อจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานและการลงทุนรองรับได้ทันต่อสถานการณ์