“สุรเกียรติ์” แจงที่ปรึกษาปมยะไข่ไขก๊อก โต้เพิ่งมาดูปัญหายังไม่ได้ให้คำปรึกษาใดๆ

กรณีนายบิล ริชาร์ดสัน นักการทูตสหรัฐ ที่ปรึกษาของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน หนึ่งในคณะที่ปรึกษาการนำข้อเสนอเรื่องรัฐยะไข่ไปปฏิบัติ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการพม่าประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังคณะที่ปรึกษาดังกล่าวเพิ่งจัดประชุมเต็มคณะเป็นครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า โดยระบุว่า คณะที่ปรึกษาดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือในการฟอกขาวให้รัฐบาลพม่า พร้อมกับกล่าวหานางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าว่าขาดความเป็นผู้นำในทางศีลธรรมที่ต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในประเด็นดังกล่าว

วันที่ 25 ม.ค. นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะที่ปรึกษาการนำข้อเสนอเรื่องรัฐยะไข่ไปปฏิบัติ เปิดเผยว่า คณะที่ปรึกษายังไม่ได้ให้คำปรึกษาใดๆ ดังนั้น ข้อกล่าวหาของนายริชาร์ดสันว่ที่ปรึกษาฟอกขาวให้รัฐบาลพม่า จึงเป็นเรื่องไม่จริง ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ส่วนการพ้นตำแหน่งของนายริชาร์ดสัน เป็นการดำเนินการของรัฐบาลพม่า หลังจากเกิดเหตุไม่ปกติขึ้น

ประธานคณะที่ปรึกษากล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คณะที่ปรึกษาได้ประชุมเต็มคณะจำนวน 10 คน 3 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาสถานการณ์ ได้เข้าหารือกับออง ซาน ซูจี โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะใหญ่ 40 คน ได้หารือแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการที่จะนำข้อเสนอต่างๆ ไปปฏิบัติ ซึ่งได้บอกเล่าสถานการณ์ และหารือข้อเสนอ 88 ข้อที่กรรมการชุดนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาติสรุปไว้ และต่อมาในวันที่ 24 ม.ค.ได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องเดินทางด้วยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ไปดูพื้นที่ปัญหา

“เราเพิ่งจบภารกิจไปเมื่อค่ำวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ให้คำปรึกษาใดๆ ที่นายริชาร์ดสันจะนำไปกล่าวหาได้ว่าเป็นการฟอกขาว ทางรัฐบาลพม่าได้จัดให้เราไปดูสถานการณ์ด้วยตนเอง ในพื้นที่ชนบท 4-5 แห่ง ได้พูดคุยกับชาวมุสลิมที่นั่น โดยมีล่ามแปล ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเดินทางไปด้วย เป็นการเดินทางที่เหน็ดเหนื่อยพอสมควร” นายสุรเกียรติ์กล่าว

นายสุรเกียรติ์กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้พบเห็นมาด้วยตนเอง และจากประชาชนในพื้นที่มาประมวล สรุปในเช้าวันที่ 25 ม.ค. โดยอาจจะมีสเตตเมนต์ออกมาก่อนที่คณะที่ปรึกษาจะเดินทางกลับ หลังจากนั้น ต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ที่อาจจะมีคำปรึกษาเบื้องต้นออกมา

ส่วนการที่นายริชาร์ดสันถูกให้ออกจากตำแหน่งไปนั้น จะมีการตั้งกรรมการเพิ่มหรือไม่ เป็นเรื่องของทางรัฐบาลพม่าจะดำเนินการ

นายสุรเกียรติ์ยังกล่าวถึงการโจมตีของนายริชาร์ดสันว่า คณะกรรมการที่ปรึกษามีการประชุมน้อยเกินไปว่าในความเป็นจริง การทำงานของคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่างๆ การประชุมเต็มคณะซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นเรื่องที่ต้องเกรงใจภาระที่จะเกิดกับเจ้าภาพ จึงจัดประชุมตามความเหมาะสมและจำเป็น และยังสามารถติดต่อหรือประชุมด้วยระบบออนไลน์กันได้อยู่แล้ว

แหล่งข่าวในรัฐบาลพม่าเปิดเผยว่า ปัญหาของนายบิล ริชาร์ดสัน ซึ่งถูกรัฐบาลพม่าให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษา และเดินทางออกจากพม่าไปแล้ว เนื่องนายริชาร์ดสันมีเป้าหมายของตนเอง ที่ต้องให้พม่าปล่อยผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ 2 คน แต่ไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือแต่อย่างใด และระหว่างที่ประชุมกับออง ซาน ซูจี ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเข้าประชุมวงใหญ่ 40 คน นายริชาร์ดสันได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด จนเกิดการโต้เถียงกับนางซูจี ซึ่งแย้งว่าเป็นเรื่องนอกเหนือจากภาระหน้าที่ของคณะกรรมการที่ปรึกษา

แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากการโต้แย้งกับนางซูจีแล้ว นายริชาร์ดสัน ซึ่งเป็นเจ้าของ” ริชาร์ดสันเซนเตอร์ “อันเป็นองค์กรด้านสันติภาพ และมีการรณรงค์ให้ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง ยังได้ไปขอพบ รมว.มหาดไทย ซึ่งไม่ได้อยู่ในภารกิจของคณะที่ปรึกษา และไม่ได้บอกกล่าวคณะที่ปรึกษา อันเป็นการผิดมารยาท อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า คณะที่ปรึกษาได้เคยกล่าวถึงปัญหานักข่าว 2 คนนี้กับรัฐบาลพม่าแล้ว ซึ่งพม่ารับฟังและชี้แจงว่า ขอให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายพม่า

แหล่งข่าวระบุว่า ต่อมานายริชาร์ดสันได้พูดจาโวยวายต่อว่าคณะที่ปรึกษาว่าไม่สนับสนุนข้อเสนอของตนเอง และเมื่อจะเดินทางไปงานเลี้ยงในตอนค่ำวันที่ 22 ม.ค. ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ นายริชาร์ดสันได้ตบหลังคนขับรถชาวพม่า 2 ครั้ง และในงานเลี้ยง ยังแสดงอาการไม่ปกติกับหญิงพม่าที่มาทำหน้าที่เสิร์ฟ สร้างความแปลกประหลาดใจให้ผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก

แหล่งข่าวเผยว่า ในวันที่ 23 ม.ค.นายริชาร์ดสันยังเข้าประชุมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาตามปกติ แต่ในตอนบ่าย ได้ปฏิเสธไม่ไปพบรองประธานาธิบดี รักษาการประธานาธิบดีพม่า อันเป็นธรรมเนียมทางการทูตทั้งหมด มีการรายงานไปยังรัฐบาลพม่า และเป็นสาเหตุที่ทำให้นายริชาร์ดสันถูกเชิญออก

ต่อมาในวันที่ 24 ม.ค. อันเป็นกำหนดเดินทางไปยะไข่ นายริชาร์ดสันปฏิเสธไม่ร่วมเดินทาง คาดว่าอาจทราบว่าถูกเชิญออก จากนั้นได้ให้ข่าวกับสื่อต่างประเทศ ก่อนเดินทางออกจากประเทศ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์