ครม.เคาะแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ฉบับ 2 ส่งเสริมความร่วมมือหลายมิติ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก
ภาพจาก ROYAL THAI GOVERNMENT

เดินหน้าสานต่อสัมพันธ์ไทย-ตุรกี ครม.เคาะแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ฉบับที่ 2 ส่งเสริมความร่วมมือหลากมิติ

วันที่ 18 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐตุรกี (Joint Plan of Action) ฉบับที่ 2 ค.ศ. 2023-2028

ซึ่งจะมีการลงนามแผนปฏิบัติการร่วมในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Joint Committee on Economic and Technical Cooperation : JETC) ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2566 ณ กรุงอังการา ตุรกี

ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฉบับที่ 2 นี้ จัดทำขึ้นเพื่อสานต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับตุรกี จากแผนปฏิบัติการร่วม ฉบับที่ 1 โดยเน้นย้ำความร่วมมือเดิม เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา การทหาร และขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ คมนาคม การเกษตร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจ

  1. ทั้งสองฝ่ายพร้อมเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับตุรกี
  2. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนคณะนักธุรกิจและการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และสัมมนาทางธุรกิจ
  3. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการเงิน เช่น EXIM Bank และกองทุนรวมระหว่างทั้งสองประเทศ
  4. ร่วมมือด้านการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานทั้งสองประเทศ
  5. สำรวจความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการร่วมกัน ในสาขาผลิตภัณฑ์อาหาร บริการก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณี พลังงาน และการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

1.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/อาหาร/กีฬา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยว MICE

Advertisment

2.สานต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การแลกเปลี่ยนศิลปิน เยาวชน นักเรียน นักวิชาการ และตัวแทนสื่อมวลชน และวัฒนธรรมของไทยและตุรกีในประเทศของแต่ละฝ่าย รวมถึงแสวงหาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทยและตุรกีร่วมกัน

การศึกษา วิชาการ และการพัฒนา

1.สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาทั้งของไทยและตุรกีศึกษาต่อในด้านวิชาชีพและในระดับอุดมศึกษาในสถาบันการศึกษาของแต่ละฝ่าย

2.ส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพและการแบ่งปันประสบการณ์ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและเห็นพ้องร่วมกัน อาทิ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล

1.แลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมกิจกรรมร่วมกันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรม 4.0

Advertisment

2.ส่งเสริมการเข้าร่วม “เทศกาลการบิน อวกาศ และเทคโนโลยี TEKNOFEST” ที่จัดขึ้น ณ ตุรกี ซึ่งเป็นเทศกาลการบินและอวกาศประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กลาโหมและความมั่นคง

  1. สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการขายระหว่างกันของบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันของทั้งสองประเทศ
  2. จัดตั้งกลไกหารือด้านความมั่นคง (Security Dialogue)
  3. กระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยข่าวกรอง เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ

การคมนาคม

1.เสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการคมนาคม เช่น การขนส่งทางทะเล การบริการต่อเรือ ซ่อมเรือ โทรคมนาคม

2.ทบทวนสถานะของเที่ยวบินในปัจจุบันระหว่างไทยและตุรกี เช่น จำนวนเที่ยวบิน จุดหมายปลายทาง และความถี่ของเที่ยวบิน

3.สนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเข้าร่วมโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

การเกษตร

1.สนับสนุนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ อาทิ แนวปฏิบัติด้านเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

2.ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและกิจกรรมแบ่งปันข้อมูลในสาขาการวิจัยแหล่งดินและน้ำ การใช้เครื่องจักรการเกษตร และการวิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

พหุภาคี

1.ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้กรอบ UN

2.เสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ ยาเสพติด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ การปลอมแปลงเอกสาร การฟอกเงิน

3.ส่งเสริมความร่วมมือในทางปฏิบัติระหว่างอาเซียนและตุรกี ในฐานะคู่เจรจาเฉพาะสาขาของอาเซียน