กรณ์ : ปีนขั้วขึ้นขบวนรัฐบาล ใช้เสรีนิยมประชาธิปไตยแก้ไขเศรษฐกิจ

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

กรณ์ อดีต ส.ส.กทม. 1 ใน 4 คน ที่ฝ่ากระแสพรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย 377 เสียง

เคยเป็นรัฐมนตรีคลังไทย-ล่มหัวจมท้ายกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลกปี 2010

กรณ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค “ลมใต้ปีก” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ในสมรภูมิที่การแข่งขันรุนแรงที่สุด

ปักธง 25 ที่นั่ง เป็นนายกฯ

เป็นครั้งแรกของ “กรณ์” ต้องนำทัพลงสนามเลือกตั้งเป็นแม่ทัพครั้งแรก ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต 120 เขต จากทั้งหมด 400 เขต และด้วยชุดนโยบายที่เราเสนอออกไปเรื่องปากท้อง โดยมีเป้าหมาย คือ ประชาชนคนไทยทุกคน

“โคราชส่งครบ 16 เขต กรุงเทพฯครบ 33 เขต เราหวังผลสูง มีผู้สมัครเก่ง ๆ ระยอง นครสวรรค์ ภาคใต้กระแสตอบรับดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของ เราหวังปักหมุดแน่นอน ภูเก็ต สงขลา ชุมพร ปัตตานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูลด้วย”

ผู้สมัครเราก็มีคุณภาพ เป็นคนรุ่นใหม่ ตั้งพรรคใหม่ทั้งที ถ้าคนไม่ใหม่ด้วยมันเปลี่ยนยาก

“25 ที่นั่งเป็นเป้าหมายให้การเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีความหมาย ไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงทำไม่ได้ หลายพื้นที่ตอนนี้ไม่มีเจ้าของ ข้อเสนอของเราชัด ถ้าต้องการเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ต้องการคนมาแก้ปัญหาปากท้อง เราเป็นตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่ง”

คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เราหวัง ส.ส. 3-4 คน หรือล้านคะแนนบวก ถ้าลำดับที่ 5 ได้ ต้อง 1.6-1.7 ล้านคะแนน เป็นไปได้จากผู้มาใช้สิทธิ 35-36 ล้านคน ถ้า 10% 3.5 ล้านคะแนน 5% คือ 1.7-1.8 ล้านคะแนน ไม่ง่าย แต่ผมมั่นใจจะได้ ส.ส.หลักสิบขึ้นไป

ก้าวข้ามขั้ว-ไม่สร้างเงื่อนไข

“กรณ์” ไม่ขอเลือกขั้ว-สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง โดยวางบทบาทเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย-ไม่อนุรักษนิยมทางเศรษฐกิจ

เราเป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องของแพง กู้เงินไม่ได้ อัตราดอกเบี้ยแพงจนต้องไปกู้ยืมนอกระบบ

“เราเป็นพรรคเดียวที่ออกมาสู้เรื่องการปรับค่าการกลั่นเพื่อลดราคาหน้าปั๊ม การลดค่าไฟด้วยการส่งเสริมซื้อและขายไฟเสรี รื้อระบบโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อ ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ เรามีความต่างจากพรรคที่มีความอนุรักษนิยมมากกว่าเรา”

“ผมมองการเมืองเป็นเรื่องปากท้อง ป่วยการพูดเรื่องการเมืองถ้าชีวิตประชาชนไม่ดีขึ้น เราไม่อนุรักษนิยมในเรื่องเศรษฐกิจ เราอยากเห็นประชาชนมีงานดี ๆ ทำ มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ค่าครองชีพต่ำลง”

ขั้วที่เห็นดีด้วยกับความตั้งใจของเราในการรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายด้าน ถ้าเขาเห็นตรงกับเราว่าโครงสร้างพลังงานตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ ราคาน้ำมันแพงเกินไป ค่าไฟแพงเกินไป ต้องเข้าไปรื้อ และบางทีต้องชนกับทุนที่ครอบงำกิจการเหล่านี้อยู่ ผมคิดว่าเราก็พร้อมทำงานด้วยได้ เช่นเดียวกับระบบการเงิน ทำไมส่วนต่างดอกเบี้ยไทยถึงสูงกว่าประเทศอื่นและสูงกว่ามานานแล้ว รายได้เยอะแต่กำไรน้อย ถ้าเขาเห็นด้วย ผมคิดว่านั่นคือรัฐบาลที่เรามีส่วนร่วมด้วย

วันนี้ผมมองว่าขั้วสลายไปแล้ว ส.ส.สลับสับเปลี่ยนพรรค ไม่ได้มีการแบ่งขั้วจริงจัง มีไม่กี่พรรคที่เด็ดขาดจะไม่ร่วมกับพรรคนี้ ป่วยการ เสียเวลา เป็นเรื่องของวาทกรรมทางการเมือง เรามาพูดกันเรื่องปัญหาของประชาชนดีกว่า

“ผมไม่อยากเรียกเป็นขั้ว ผมไม่อยากสร้างเงื่อนไขให้เกิดปมความขัดแย้ง เราเป็นพรรคการเมือง หน้าที่เราคือเสนอความคิดความตั้งใจของเรา ถ้าประชาชนเลือกเรา เราจะทำอะไรให้เขาบ้าง”

ผมออกจากพรรคเก่ามา แล้วมาตั้งพรรคใหม่ เพราะผมอยากทำการเมืองแบบนี้ อย่าดึงผมกลับเข้าสู่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างขั้ว

ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“กรณ์” ประเมินว่า ฤดูการเลือกตั้ง 2566 การต่อสู้ด้วย money politics “รุนแรงที่สุด” และปัญหาที่ตามมาคือ การ “ถอนทุน” ของ “บิ๊กคอร์ปอเรต” ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง

“เที่ยวที่แล้วว่าหนักแล้ว แม้แต่การเลือกตั้งซ่อมระหว่างทางในหลายเขตที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนในแง่ของปริมาณเงินที่ใช้”

“ถอนทุนคือเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งคือเงิน ไม่ใช่เงินของเขาตั้งแต่แรก ถอนทุนโดยทุนที่อยู่เบื้องหลังนักการเมือง น่ากลัวมากกว่าด้วยซ้ำไปเพราะเงียบกว่า”

“ต้องเลือกพรรคการเมืองที่คุณเห็นว่าเป็นอิสระจากการทำงานการเมือง วิธีที่ดูง่ายที่สุดคือ ดูว่าพรรคการเมืองไหนไม่ซื้อเสียง ถ้าไม่ใช้เงินแสดงว่าน่าจะมีความเป็นอิสระจากใครก็แล้วแต่ที่เป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง”

ส่วนนโยบายการเมืองที่ทุกพรรค-ทุกขั้วใช้หาเสียง อย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “กรณ์” เสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรอง” เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

“เพื่อจะปกป้องสถาบันหลักของประเทศ แต่ต้องมีกลไกในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

กรรมการไม่จำเป็นต้องอยู่ในฝ่ายการเมือง ถ้าเราตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาด้วยบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับ มีภาคประชาชนและนักวิชาการ เราเคยทำมาแล้วสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งผลให้จำนวนคดีที่เข้าสู่ชั้นศาลลดลง

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรจะมีต่อไปหรือยกเลิก “กรณ์” ตอบสั้น-กระชับว่า “ยกเลิกครับ”

ผมไม่เคยให้ความสำคัญเลย คิดว่าคุณประยุทธ์ไม่ให้ความสำคัญด้วย ผมอยู่สภามา 1 ปีก่อนลาออกมาตั้งพรรค ช่วงที่มีการรายงานความคืบหน้าในสภา รายงานโดยระบบราชการ ไม่มีความจริงใจหรือจริงจังที่จะรายงาน แลกเปลี่ยนพูดคุยกันจริง ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

ผมและหลายคนมองว่า ยุคสมัยนี้การมีแผนยุทธศาสตร์ในรายละเอียดที่มีผลทางการเมืองเลย ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแบบปัจจุบันเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง และสำคัญที่สุด สุดท้ายแล้วถูกบังคับให้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้เมื่อ 5-6 ปีมาแล้ว และในอนาคตสมมุติอีก 10 ปีมาแล้ว มีผลเป็นภัยต่อประเทศอาจจะเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะบริบทโลกเปลี่ยนไป

นับ 1 นิรโทษกรรมคดีการเมือง

สำหรับเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมือง “กรณ์” มองว่า ประเด็นปัญหาของการนิรโทษกรรมในอดีตมันข้ามเส้นไปสู่เรื่องอื่นที่เป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจึงมีปัญหา หลักการ คือ ถ้าเป็นความผิดทางการเมือง เพื่อประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ ผมคิดว่า มันก็คือใช่

“ถ้าเป็นประเด็นทางการเมือง คุณทักษิณก็เหมือนคนไทยคนหนึ่ง ปัญหาคือ ถ้าเป็นความผิดที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง อันนั้นใช่ไหม เข้าข่ายไหม”

ตัวกระบวนการและที่มาสำคัญ ถ้ากระบวนการไม่ใช่ แล้วมีเหตุทำให้คิดว่า ผลการพิจารณาผิดเพี้ยนไป อาจจะมาดูว่าให้มีการพิจารณาใหม่ไหม แต่ถ้ายกเลิกคำพิพากษาเลย เป็นไปได้น้อย

ดีเอ็นเอประชาธิปัตย์

“กรณ์” อดีตศิษย์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “ดีเอ็นเอสีฟ้า” จากเบ้าหลอม ตลอด 16-17 ปี ที่ได้มีทั้งโอกาส-ประสบการณ์มองว่า วันนี้ “พรรคไม่เหมือนเดิม” แต่ไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับ “พรรคเก่า”

วันนี้ผมก็แค่มองในมุมของผมว่า พรรคเก่าไม่เหมือนเดิม และผมอยากผลักดันแนวความคิดที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ให้ความสำคัญในเรื่องของความหลากหลาย และการแข่งขันเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

แน่นอนที่สุด ตัวผมเป็นทั้งประสบการณ์ที่มาจากการเคยทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นทั้งประสบการณ์ 20 ปีก่อนหน้านั้นที่ทำงานอยู่กับภาคเอกชน โดยเฉพาะสายการเงิน ตัวผมในวันนี้ก็คือ รวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดก่อนหน้านี้ในชีวิตผม

“สำคัญคือทุกคนที่พรรคชาติพัฒนากล้า มีความคิดตกผลึกในแนวเดียวกัน เสรีนิยมประชาธิปไตย เราอยากสร้างโอกาส เราอยากให้ทุกคนมีโอกาสที่แข่งขันได้ บางกรณีต้องให้แต้มต่อกับคนบางคน เพื่อแข่งขันได้ กติกาต้องแฟร์กับเราทุกคน

เราต้องการทำงานการเมืองสร้างสรรค์ ผมยอมรับว่าหนึ่งในแรงฉุดการพัฒนาบ้านเมืองคือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การเลือกตั้งสกปรกมากขึ้นเรื่อย ๆ”

“ผมอยู่ในวงการเมือง 20 ปี อาจจะแย่ที่สุด เงินที่ต้องใช้มหาศาล ตราบใดที่เรายังอยู่ในวัฏจักรนั้น แก้ปัญหายาก เพราะเงินต้องมาจากผู้ที่หวังประโยชน์จากการเมือง ผู้ที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะได้เปรียบอยู่ในวันนี้”

ผมอยากจะทำคือสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมจึงต้องพยายามแยกตัวออกมาเพื่อให้เราอยู่ในสถานะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นได้จริง

การออกมาตั้งพรรคไม่ใช่เป็นเส้นทางทางการเมืองที่ง่ายอยู่แล้ว แต่สำหรับผม ผมชอบเดินไปข้างหน้า ชอบทำงานกับคนที่คิดเหมือนเรา คนที่มีเป้าหมายการทำงานเดียวกันกับเรา และสนุกกับงานที่ทำในบรรยากาศแบบนั้น

3 ปีที่ผ่านมาไม่สนุกแน่นอน ถ้าผมไม่ได้ตัดสินใจออกมาเลือกเส้นทางของตัวเอง ชีวิตเราก็คิดได้แค่นั้น ป่วยการที่จะย้อนกลับไปคิดว่า อะไรอาจจะใช่หรือไม่ใช่ เอาเป็นว่า ผมไม่อยากอยู่กับที่ ผมไม่ชอบนั่งรอ ผมชอบที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อกำหนดลิขิตชีวิตหรือเส้นทางของชีวิตด้วยตนเอง

ชาติพัฒนากล้า ไม่ใช่พรรคสุดท้าย

ส่วนพรรคชาติพัฒนากล้าจะเป็นที่มั่นทางการเมืองสุดท้ายของเขาหรือไม่ “กรณ์” แบ่งรับ-แบ่งสู้ ขอลิขิตชีวิตด้วยตัวเอง “อนาคตก็พูดยาก แต่ผมอยู่ในปัจจุบัน วันนี้เราทำงานด้วยความสุข เราสามารถนำเสนอทุกความคิดของเราออกมาเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไปอยู่พรรคอื่น”

ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็มีข้อเสนออะไรมามากมายจากพรรคอื่น ถ้ามองในแง่ของความสบายในชีวิต สบายกว่าการที่จะมาทำพรรคเองอยู่แล้ว อยู่พรรคที่ใหญ่กว่า ทรัพยากรปัจจัยต่าง ๆ มีครบถ้วน แต่พวกเราทุกคนที่อยู่ชาติพัฒนากล้า เราเลือกแนวอินดี้ เรามองว่า นี่คือแนวทางที่เรารู้สึกว่าทำในสิ่งที่เราอยากทำได้มากกว่า

มันมีคนถามว่าจะทำได้แค่ไหนอยู่พรรคเล็ก ๆ ผมมองว่าที่สำคัญคือ การเมืองตอนนี้ บ้านเมืองเราต้องการการเปลี่ยนแปลง การเมืองต้องเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยน อย่างน้อยที่สุด ขอให้เราได้ทำอยู่ในพรรคที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์แบบนั้น

“ผมไปอยู่พรรคที่ใหญ่กว่า แต่ผมไม่เชื่อว่าเขาจริงใจหรือจริงจัง จะสบายยังไงแต่เสียเวลา ทำงานการเมืองเหนื่อยมาก เหนื่อยทั้งทีขอให้ได้อย่างน้อยมีความรู้สึกว่าเราทำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อบ้านเมือง เราทำได้แค่ไหนค่อยว่ากัน”