“มาร์ค” รับประชาธิปัตย์ต้องตั้งใจทำงาน สนองปชช.มากขึ้น หลังพรรคการเมืองหน้าใหม่โผล่

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการที่มีกลุ่มการเมืองเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง และได้ประกาศตัวว่าไม่ใช่พรรคทางเลือก แต่เป็นพรรคการเมืองที่พร้อมจะเข้ามาบริหารประเทศ ว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ต้องการที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองและหวังที่จะนำแนวคิดของตัวเองมาผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใหม่หรือพรรคเก่าจะต้องปฏิบัติ ทั้งการยืนยันสมาชิกพรรค การรับสมัครสมาชิกพรรค และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีพรรคการเมืองทำได้มากน้อยแค่ไหนหรือทำได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาดังกล่าวก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น

“ยอมรับว่าการมีพรรคการเมืองใหม่เพิ่มขึ้นมาก ก็จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องตั้งใจทำงานขึ้นและต้องกำหนดทิศทางนโยบายการทำงานเพื่อให้พรรคมีความเข้มแข็งและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้บริหารพรรคเตรียมดำเนินการอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองจะส่งผลกับการดำเนินงานของพรรคหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด สำหรับพรรคอื่นนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องภายในพรรค ส่วนความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นจะทำให้การแข่งขันทางการเมืองในอนาคตมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่นั้น ก็ต้องใจเย็นๆ ขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมได้ จึงยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ โดยระหว่างที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมและทำกิจกรรมทางการเมืองได้ไม่ว่าใครก็สามารถพูดให้ข่าวได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ คสช.ปลดล็อกทางการเมืองหลายอย่างก็จะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น

สำหรับการพูดคุยหรือทาบทามกันระหว่างกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีใครเข้ามาพูดคุย และเห็นว่าเรื่องนี้ต้องให้เกียรติประชาชน ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งเบื้องต้นว่าจะเลือกใคร และต้องผ่านกระบวนการหาเสียงว่าใครคิดอย่างไร หากคิดว่าจะมีการจับมือกันล่วงหน้าโดยไม่ต้องสนใจว่าประชาชนคิดยังไงก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไรก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม

ที่มา : มติชนออนไลน์