ผ่าเกมซ่อนกล พลิกกฎหมายคว่ำ พิธา สกัดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แม้ดูเหมือน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะรอดพ้นคดีถือหุ้น ไอทีวี 4.2 หมื่นหุ้น

เมื่อปรากฏข่าวด่วนในช่วงหัวค่ำของวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ว่า….

ที่ประชุม กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จากการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น

แต่ให้รับเรื่องไว้พิจารณาเป็น “ความปรากฏ” โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน (ผู้ร้อง) เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา กรณีที่ร้องว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จึงเห็นควรพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ

แปลว่า กกต.ไม่รับคำร้องของ ผู้ร้อง 3 คน คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ-ศรีสุวรรณ จรรยา-สนธิญา สวัสดี เนื่องจาก ทั้ง 3 คน ยื่นให้ กกต.พิจารณาก่อนการเลือกตั้งเพียง 2 วัน ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่า กรณีมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ต้องร้องภายใน 7 วัน นับแต่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 51 ประกอบมาตรา 60

เบื้องหลัง กกต.สอบต่อ

ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเชิงเทคนิค กกต.จึง “รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ” ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 มาตรา 41

“เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปว่ามี การกระทําใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผล ให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ มีหน้าที่ต้องดําเนินการให้มีการสืบสวน หรือไต่สวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานโดยพลัน ถ้าผลการสืบสวนหรือไต่สวนปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อว่า มีผู้กระทําการตามที่มีการสืบสวนหรือไต่สวน ให้คณะกรรมการสั่งให้ดําเนินคดีโดยเร็ว”

เพราะ กกต.เห็นว่า คดีหุ้นสื่อของ “พิธา” มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า “พิธา” เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

“จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนที่ได้รับแต่งตั้งจะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป”

ดังนั้น กกต.เลือกใช้วิธีดำเนินคดีอาญา กับ “พิธา” กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติการเป็น ส.ส.แต่ยังลงสมัคร โทษ จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี

เหมือนกับที่ กกต.มีมติให้แจ้งความ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า กรณีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย

เหมือนกับที่ กกต.มีมติให้แจ้งความ “สิระ เจนจาคะ” อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ จากเหตุเคยต้องคำพิพากษาในคดีฉ้อโกง

แต่ทั้งสองกรณียังไม่มีข่าวคืบหน้า ทั้งที่เวลาล่วงเลยมาเป็นปี

อย่างไรก็ตาม พิษหุ้นสื่อ ยังคงติดตามหลอกหลอน “พิธา” ต่อไป อาจถูกสกัดไม่ให้ไปถึงเก้าอี้นายกฯ ดังต่อไปนี้

ขั้นแรก หลังจาก กกต.รับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดย ส.ส.และ ส.ว.อาจเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา เพื่อให้ประธานแห่งสภาที่สังกัดอยู่ยื่นต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ของพิธา

ทั้งนี้ หาก ส.ส.จะยื่นสอบคุณสมบัติ “พิธา” จะต้องใช้ ส.ส.50 คนในการเข้าชื่อ หากเป็น ส.ว.ใช้เพียง 25 คน ในการเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่ง มาตรานี้ เคยถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นำมาใช้ถอดถอน “สิระ เจนจาคะ” จนต้องพ้นจาก ส.ส.มาแล้ว

ขั้นที่สอง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.หรือไม่ก็ได้ ดังที่เคยมีตัวอย่างกรณีหุ้นสื่อของ “ธนาธร” ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่กรณีคำร้องหุ้นสื่อ ของ 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา ศาลไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

ขั้นที่สาม หาก “พิธา” ถูกยื่นสอบคุณสมบัติ เป็นจังหวะเดียวกับที่การโหวตนายกรัฐมนตรี มีโอกาสสูงที่ ส.ว.อันเป็นตัวแปรสำคัญอาจจะ “งดออกเสียง” หรือ “ไม่เห็นชอบ” เพราะคุณสมบัติของ “พิธา” ยังไม่เคลียร์

อีกทั้ง ยังมี คดีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร ที่ตอนนั้นอาจจะคาอยู่ในชั้นการไต่สวนของ กกต. เนื่องจาก กกต.ใช้เวลาไต่สวนอย่างน้อย ๆ 3-4 เดือน เมื่อเทียบระยะเวลากรณี “สิระ และธนาธร” เป็นชนักติดหลักอีกอย่างหนึ่งของ “พิธา” ที่ ส.ว.ใช้เป็นปัจจัยในการยกมือโหวตให้เป็นนายกฯ หรือไม่

ที่ประชุม กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา ลิ้ม

เรืองไกร สงสัยต่อ

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ยื่นสอบ “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี ยังคงใช้สิทธิสงสัย เมื่อ กกต. ยก 3 คำร้อง ว่า ที่ กกต.ยกคำร้องเพราะไต่สวนไม่ทัน กระชั้นกับวันเลือกตั้งเข้าใจได้ แต่ในคำร้องยังมีส่วนอื่น ๆ ที่ประกอบในคำร้อง

เช่น การกล่าวหาว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามเรื่องการถือหุ้นสื่อไว้เช่นกัน รวมถึงเรื่องที่นายพิธาขาดการเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่ปี 2563-2565 เพราะไปถือหุ้นสื่อ

“การตั้งข้อกล่าวหากรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครเลือกตั้ง แต่ยังไปลงสมัคร ส.ส.ตาม มาตรา 151 นั้น เป็นความผิดอาญา แต่แล้วเอาสองเรื่องนี้ไปไหน โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าพรรคขาดตั้งแต่ 2563-2565 ที่ย้อนไปแค่ 2565 เพราะทราบมาว่าพรรคก้าวไกลไปแก้ข้อบังคับพรรคมกราคม 2566 แต่ผมยังสงสัยว่า พรรคก้าวไกลแจ้งเลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อไหร่” นายเรืองไกรกล่าว

หุ้นสื่อยังไม่จบ พิธา ไม่อาจหายใจทั่วท้อง แม้ กกต.ยกคำร้องไปแล้ว