พิธา รับปาก ตั้งสภา SMEs ให้มีอำนาจต่อรองทุนใหญ่

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ยกคณะพบสมาพันธ์เอสเอ็มอี รับปาก ให้ความสำคัญ ผลักดันตั้งสภา SMEs ต่อรองทุนใหญ่

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยว่า ได้พูดคุยถึงทิศทางการบริหารเศรษฐกิจแบบมหภาค และลงลึกถึงสถานการณ์ของ SMEs โดยเฉพาะสถานการณ์ภายในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเห็นว่าในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ และสัดส่วนของเอสเอ็มอี ต่อจีดีพีของแต่ละประเทศหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงได้สอบถามความต้องการของทางสมาพันธ์เอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสมุดปกขาว และการชี้แจงนโยบายสำคัญสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยเอสเอ็มอี ทั้งหวยใบเสร็จ หรือการผ่านกฎหมายต่างๆ เพื่อที่จะตั้งสภาเอสเอ็มอี

แม้ว่าขณะนี้ จะเป็นเพียงสมาพันธ์ แต่ต่อไปเราอยากจะทำให้เป็นสภาเพื่อให้เป็นระดับเดียวกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพื่อเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐ สร้างโอกาสและแต้มต่อในการต่อรอง และสามารถตัดลดต้นทุนทางพลังงาน ดอกเบี้ย และกฎหมายที่ไม่จำเป็น ที่ส่งผลต่อต้นทุนของ SMEs รวมถึงการขอใบอนุญาตต่าง ๆ จากทางราชการ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

“พรรคก้าวไกลพร้อมทำงานกับ SMEs ไทยทุกคนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี เพราะเราถือว่า SMEs คือรากฐานของเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา งบประมาณช่วยเหลือ SMEs มีเพียง 2,700 ล้านบาท เรือดำน้ำลำเดียว 30,000 ล้านบาท ชัดเจนมากว่าการดำเนินการของภาครัฐก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยที่มากเพียงพอ” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวว่า เรื่องสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ และในขณะเดียวกันต้องลดค่าใช้จ่ายของทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของค่าไฟฟ้า ค่าดอกเบี้ย ที่ต้องเสียให้กับภาครัฐอย่างครบวงจร ทั้งนี้จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนให้กับ SMEs ในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศไทย

พรรคก้าวไกลไม่ได้ต้องการเพียงแค่ประคับประคองให้เอสเอ็มอีไทยอยู่รอด แต่ต้องการทำให้เอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพในการทำธุรกิจมากขึ้น มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งในระยะยาว ผ่านแนวทาง 5 ต.

ประกอบด้วย 1.แต้มต่อ เช่น นโยบายหวยใบเสร็จ 2.เติมทุน เช่น นโยบายทุนสร้างตัว รายละ 100,000 บาท 3.ตัดต้นทุน เช่น นโยบายเอสเอ็มอี นำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี 4.เติมตลาด เช่น นโยบายกำหนดชั้นวางสินค้า SME ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5.นโยบายตั้งสภา SMEs ให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายให้มีการทบทวนหรือ “กิโยติน” กฎหมายและใบอนุญาต เพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจ โดยภายใน 4 ปีตั้งเป้ายกเลิกใบอนุญาต 50% และยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมถึงออกกฎหมายเพื่อรับประกันกรอบระยะเวลาของกระบวนการพิจารณาใบอนุญาตไว้ที่ไม่เกิน 15 วัน หากหน่วยงานพิจารณาเสร็จไม่ทันภายใน 15 วัน ให้ถือว่าคำขออนุญาตนั้น มีผลบังคับใช้เหมือนใบอนุญาตทันที

ทั้งนี้ ยังขอยืนยันคำเดิม และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ขับเคลื่อนชุดนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้จริงภายใน 4 ปีของการเป็นรัฐบาล