ขยับ-สกัดขุนพลเศรษฐกิจ ระทึก ผบ. 4 เหล่าทัพ สับเปลี่ยนกำลัง

ตู่-ป้อม
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

รอยต่อผ่องถ่ายรัฐบาลกลายเป็นช่วงหัวเลี้ยว-หัวต่อ รอเปลี่ยนหัวหน้ารัฐราชการ-สับกำลังผู้บัญชาการความมั่นคง ระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ และ “ผบ.เหล่าทัพ”

ยิ่งระยะเวลาทอดยาวออกไปหลังเดือนสิงหาคม 2566 รัฐบาลเก่าออกไม่ได้-รัฐบาลใหม่ไปไม่ถึงศูนย์กลางอำนาจ เพราะส.ว. 250 คน ไม่แน่ว่าจะยกมือให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

ยัง “ติดล็อก” รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (2) ไม่ให้แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

เตะตัดขาปลัดคลังคนใหม่

สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากราชการเพราะครบเกษียณอายุ เมื่อสิ้นงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวันที่ 30 กันยายน 2566 กระทรวงการคลัง มีข้าราชการระดับสูงจ่อเกษียณอายุราชการ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง โดยมีแคนดิเดตปลัดกระทรวงการคลัง คนที่ 19 คือ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และมี 1 อธิบดีที่จะเกษียณอายุ 1 คน คือ นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีข้าราชการระดับสูงที่จะเกษียณอายุในเดือนกันยายน 2566 ดังนี้ นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวง นายขจร เราประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวง

ระดับอธิบดี 4 คน ได้แก่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม

รวมถึง กระทรวง “ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” อย่างกระทรวงพลังงาน ที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เกษียณเช่นเดียวกัน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เกษียณราชการในปี 2566 น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

เบรก ผู้ว่าการ กฟผ.-เลขาฯ ก.ล.ต.

ในช่วงสุญญากาศ-รอยต่อรัฐบาลใหม่ มี “หน่วยงานเศรษฐกิจ” 2 หน่วยงาน ที่ถูกเตะสกัด-ดึงเกมการแต่งตั้ง เช่น การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีกระแสข่าวว่า เกิดกระบวนการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการสรรหา

โดย ครม.ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

ทว่า กกต.มีมติ “เสียงข้างมาก” ไม่เห็นชอบแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เพราะนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.คนปัจจุบัน ยังไม่หมดวาระในวันที่ 21 สิงหาคม 2566

รวมถึงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะมาแทน “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ที่ “ครบวาระ 4 ปี” ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 20 เปิดช่องให้ได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

ปัจจุบัน นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการและปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ครม.มีมติอนุมัติบรรจุเป็น น.ส.รื่นวดี เป็น “ผู้ตรวจราชการกระทรวง” สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับเงินเดือน 76,800 บาท เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ ครม.แต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต. โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ทำให้เกิดเสียงจาก “วิรไท สันติประภพ” ถึงความล่าช้าในการแต่งตั้ง “เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่” และกลิ่น “ล้มกระดานสรรหาใหม่”

“แปลกใจมากที่กระบวนการสรรหา เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ ใช้เวลานานมาก ทั้งที่มีข่าวว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้เสนอชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้กระทรวงการคลังไปตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว

ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าจะได้ เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ บางข่าวก็บอกว่าอาจจะมีการล้มกระดานสรรหาใหม่ กระบวนการสรรหาที่ไม่ชัดเจนแบบนี้ น่ากังวลว่าถ้าเปิดสรรหาใหม่ คนดี ๆ คนเก่ง ๆ คงคิดหนัก ไม่อยากมาสมัคร”

มีรายงานว่า บอร์ด ก.ล.ต. ส่งชื่อ 2 ชื่อ ไปให้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง เพื่อตัดเหลือ 1 ชื่อเสนอ ครม. คือ “วรัชญา ศรีมาจันทร์” รองเลขาธิการ ก.ล.ต. และ “พรอนงค์ บุษราตระกูล”

ผบ. 4 เหล่าทัพ เกษียณยกแผง

ในส่วนของ “ผบ.ความมั่นคง” ที่ “สะเด็ดน้ำแล้ว” จากสภา 7 เสือกลาโหม เพราะไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม.เห็นชอบ-กกต.ไฟเขียว รอสับเปลี่ยนกำลัง 4 เหล่าทัพยกแผง

กองบัญชาการกองทัพไทย ที่มี “บิ๊กแก้ว” พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมีแคนดิเดตคือ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทสส. และ พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร

กองทัพบก “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) โดยมีแคนดิเดต ผบ.ทบ. เป็นเตรียมทหารรุ่น 23 (ตท.23) คือ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผู้ช่วย ผบ.ทบ.

กองทัพเรือ “บิ๊กจอร์จ” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) โดยมีแคนดิเดต ผบ.ทร. คือ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วย ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหาร

กองทัพอากาศ “บิ๊กตุ๊ด” พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) โดยมีแคนดิเดต ผบ.ทอ. แผงอำนาจจาก “ตท.รุ่น 23” คือ พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. และ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสนาธิการทหารอากาศ

ผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ นอกจากภารกิจในกรม-กองแล้ว ยังมีพันธกิจที่ต้องสนองนโยบายในยุคที่กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเป็นพลเรือน

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยมีแคนดิเดต ผบ.ตร. คือ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.

โดยมี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. คอยสอดแทรก

ส่วน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ “เสธ.ไก่” พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาฯ สมช.คนปัจจุบัน จะเกษียณในปีนี้เช่นเดียวกัน ต้องจับตาดูว่าจะมีปฏิบัติการ “ข้ามห้วย” จากกองทัพอีกหรือไม่

โดยมีระดับรองเลขาฯ สมช.ที่เป็น “ลูกหม้อ” ที่รอขึ้นหม้อ ดังนี้ นายฉัตรชัย บางชวด นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ และนายวรณัฐ คงเมือง

ปลดระวาง 17ผู้ว่าฯ

ฟากพ่อเมือง-กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดเกษียณ ได้แก่ นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร

นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร

นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี

นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา

ไม่แน่ว่า 17 ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกษียณอายุราชการอาจจะเป็น “ชุดสุดท้าย” ที่ไม่ได้เลือกจากส่วนกลาง ก่อนถูกกระจายอำนาจเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

ระดับอธิบดี 2 กรม คือ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองอธิบดี 1 ตำแหน่ง คือ นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 5 ตำแหน่ง คือ นายคมสัน เจริญอาจ นายปรีชา เดชพันธุ์ นายปรีชา ทองคำ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ นางสาวสิริมา วัฒโน

แคนดิเดตปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ-“พ่อเมือง” ผู้ว่าราชการจังหวัด ลุ้นตัวโก่ง ว่าหวยจะออกที่ใคร