เพื่อไทยหักก้าวไกล 8 พรรคเสี่ยง เกมชิงประธานสภา ชิ่งนายกฯ คนที่ 30

ก้าวไกล
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เกมชิงเก้าอี้ประธานสภากลายเป็นศึกตะลุมบอนระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย เป็นเกมยื้อ-ลากยาวมาเกือบเดือน เคลียร์ไม่ลงตัว

พรรคเพื่อไทยยืนยันสูตร 14 รัฐมนตรี + 1 เก้าอี้ประธานสภา แต่พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขอเก้าอี้ประธานสภาไว้ในความครอบครอง

เก้าอี้ประธานสภากลายเป็น “เกมชี้เป็นชี้ตาย” การตั้งรัฐบาลจะไปต่อ หรือ แยกวง พรรคก้าวไกล นัดเคลียร์ใจ พรรคเพื่อไทย ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม

เหตุผล 2 ฝ่ายชิงเก้าอี้

ในภาวะการเมืองปกติ เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรอาจมีค่าทางการเมืองน้อยกว่าตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี

หากแต่ในการเมืองปัจจุบัน เก้าอี้ประธานสภา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพรรคก้าวไกล เพราะเป็นกลไกสำคัญชี้เป็น ชี้ตายในการโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

ก่อนหน้าที่พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเก้าอี้ประธานสภา เนื่องจากบรรดาแกนนำ ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ไม่คิดว่าพรรคก้าวไกลจะชนะเป็นอันดับหนึ่ง

ความเป็นไปได้มากที่สุดคือ พรรคอันดับสอง หรือ อันดับสาม ดังนั้น เก้าอี้ที่หมายตาคือ รองประธานสภา 1 ตำแหน่ง เพื่อช่วยในการผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ ตามเป้าหมายที่พรรคก้าวไกลต้องการ และต้องการยกระดับการทำงานของสภา

แต่แล้วสถานการณ์บังคับให้พรรคก้าวไกล มาเป็นที่ 1 จำนวน 151 เสียง ขึ้นแท่นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค

เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำโดยบังเอิญ ความคิดเรื่องยึดเก้าอี้ประธานสภา จึงโผล่มาอยู่ในห้องประชุมระดับแกนนำยุทธศาสตร์

แหล่งข่าวจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่เคยมีบทบาทอยู่ “วงใน” พรรคเพื่อไทย วิเคราะห์สถานการณ์จากคนในที่ปัจจุบันมาอยู่อีกพรรคหนึ่งว่า

สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับที่พรรคก้าวไกล ไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย กลัวว่า หากโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ รอบแรกแล้ว ส.ว.ไม่ยกมือโหวตให้ ถ้าประธานสภาเป็นของพรรคก้าวไกล ก็จะนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ ต่อไปได้อีก

แต่ถ้าประธานสภา เป็นของพรรคเพื่อไทย การโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ อาจทำได้แค่ครั้งเดียว แล้วครั้งต่อ ๆ ไป พรรคเพื่อไทยพลิกเกมไปเสนอแคนดิเดตนายกฯ คนอื่น เช่น “เศรษฐา ทวีสิน” และพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็พร้อมโหวตนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทย เพราะต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองได้ง่ายกว่า หวังผลระยะยาวได้

“พรรคก้าวไกลจึงคิดว่า ถ้ายกเก้าอี้ประธานสภาให้กับพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ก็เป็นของพรรคเพื่อไทย สุดท้ายจะไม่เหลืออะไรไว้ในมือเลย เพราะเท่ากับไม่มีหลักประกันอะไรที่พรรคเพื่อไทยจะไม่เบี้ยว” แหล่งข่าวในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคกล่าว

แต่เกมนี้กลายเป็นว่า พรรคเพื่อไทย เดินเกมพลาด เมื่อเสนอว่า เก้าอี้ประธานสภาควรเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง และรองประธานสภา 2 คน จะต้องเป็นของพรรคอันดับสอง ทำให้พรรคประชาชาติ ทักท้วง-ขอแจมเก้าอี้รองประธานสภาด้วย

จู่ ๆ พรรคเพื่อไทยก็กลับลำ ยืนยันสูตร 14+1 ทำให้ดูเหมือน กลับไป-กลับมา ทำลายความน่าเชื่อถือ

สวนทางพรรคก้าวไกล เปิดชื่อ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” พร้อมด้วยวิสัยทัศน์ ต้องการยกระดับสภา ทำเพื่อประชาชน โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรต่อ ทำให้พรรคเพื่อไทยดูเหมือนเห็นแก่ตัวเอง ทัวร์จึงลงพรรคเพื่อไทย โดยไม่ต้องออกแรง

โอด พท.ถูกคลุมถุงชน

หลังทัวร์ลงหนักที่พรรคเพื่อไทย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “เราค่อนข้างระมัดระวังมากในการเสนออะไรออกไป แม้แต่เราเสนอขอตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เฉพาะทัวร์นะ ทุกอย่างมาลงที่เพื่อไทยหมดเลย ด้วยความไม่เข้าใจ มันเป็นการเสนอชื่อตำแหน่งประธานสภาของพรรคเพื่อไทย ในภาวการณ์ที่เรากำลังเสนอขอตำแหน่ง โดยที่ยังไม่ได้รับคำตอบ ถ้าเราดันเอาชื่อคนใดคนหนึ่งไปประกบกับพรรคก้าวไกล เพื่อไทยจะถูกประณามมากกว่านี้ จะถูกมองว่าเราแข่งทันที”

แล้วหากพรรคก้าวไกลไม่ตกลง “นพ.ชลน่าน” กล่าวว่า “ก็เป็นสิทธิ เขาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง เราจะได้กลับมาพิจารณาว่าเมื่อเขาไม่ให้แล้ว เพื่อไทยเราเป็นพรรคอันดับสอง เราจะพิจารณาอย่างไรในการทำงานร่วมกับเขา”

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย จะออกจากก้าวไกล ไปจับมือขั้วตรงข้าม-ตั้งรัฐบาลแข่ง “นพ.ชลน่าน” กล่าวอย่างมีนัยสำคัญว่า “เราถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชน นี่ผมพูดหลายครั้ง แม้เราอยากออกไป แต่เราออกไปไม่ได้ แม้เราอยากออกไป ซึ่งเรามีสิทธิด้วยนะครับที่จะออกไป แต่มันไม่ชอบธรรม เราถูกพี่น้องประชาชน 25 ล้าน มัดเรากับพรรคก้าวไกลให้ติดกัน มันเสมือนพ่อแม่เรา เราเป็นลูก เราถูกจับคลุมถุงชนให้มาแต่งงานกัน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธจริง ๆ”

“ดังนั้น เจตจำนงของพี่น้องประชาชน 25 ล้านคน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เราคำนึงถึงตรงนี้ เราถึงบอกว่า เราคำนึงถึงจุดนี้เป็นหลักในการพูดคุย เจรจา และนำเสนอทุกเรื่อง เพื่อให้สมประโยชน์ตรงนี้ เมื่อก้าวไกลไม่ให้ เราก็ต้องมาพิจารณาว่า เขาไม่ให้ เราก็ไม่ควรรับ”

3 ตัวเต็งแคนดิเดต

สุดท้าย 2 กรกฎาคม ต้องจบเหลือเพียงชื่อเดียว พรรคก้าวไกล ชิงชงชื่อ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก คาเอาไว้ก่อน แม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่าเก้าอี้ประธานสภาอยู่กับพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย

ชื่อ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ จบคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนทำงานการเมืิองเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปีได้ กระทั่งลงเล่นการเมือง จนฉายา “หมอหมา ชนะหมอคน” หลังจากชนะหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า 3 สมัย ในสนามเลือกตั้งพิษณุโลก เมื่อ 24 มีนาคม 2562

ถามคนในพรรคก้าวไกล ถึงเหตุผล ที่ “ปดิพัทธ์” สมควรเป็นที่เชิดหน้าชูตาทำหน้าที่อย่างกล้าหาญในสภา

เป็นผู้อภิปรายประเด็น รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เอื้อหมูเจ้าสัว ปกปิดการระบาดของโรค ASF ปล่อยเกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์ และทำให้ “หมูแพง”

อภิปรายปมเครือข่าย “ตู้ห่าว” โยงกับบริษัท คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น อันเป็นบริษัทของหลานชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร และยังประกอบกิจการหลักคือรับประมูลงานจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังอภิปรายกรณีทุจริตบ้านพักสวัสดิการทหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งนำไปสู่เหตุกราดยิงโคราชเมื่อปี 2563 ซึ่งทุจริตบ้านพักสวัสดิการทหาร มีการเรียกรับสินบน 5% และอมส่วนต่างค่าบ้าน จนนำไปสู่ความกดดันของทหาร ทำให้เกิดเหตุกราดยิงโคราช อีกทั้งยังได้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน

ขณะที่ 2 แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย คนแรก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกชูจากคนวงในว่าเหมาะสมที่สุดที่จะมาเป็นประธานสภา

“หมอชลน่าน” เคยเป็นแฟนพันธุ์แท้พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่สมัยเรียน แต่พอถึงเวลาเลือกลงเล่นการเมืองในขณะที่เขาเป็น ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เขาถูกชักชวนให้มาลงการเมืองในพรรคใหม่ป้ายแดงเวลานั้น คือ พรรคไทยรักไทย

หลังจากนั้น นพ.ชลน่านก็ชนะเลือกตั้ง 6 สมัยรวด เลือกตั้ง 2544 ถึงปัจจุบัน ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย และการเลือกตั้ง 2566 เป็นหัวหน้าพรรคคนเดียวที่ลงเลือกตั้งในระบบเขต

ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง นอกจากเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ก่อนหน้านี้ว่ากันว่า หนึ่งดีลที่สำคัญที่ “สุชาติ ตันเจริญ” กลับมายังพรรคเพื่อไทย ก็เพราะหวังที่จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาสมใจ เพราะในสมัยที่แล้วต้องหลีกทางให้ “ชวน หลีกภัย” จากประชาธิปัตย์ ด้วยเงื่อนไขพิเศษ ทำให้เขาต้องนั่งเป็นรองประธานสภาอยู่ 4 ปี

เป็น ส.ส.กว่า 9 สมัย อยู่มา 11 พรรค อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสามัคคีธรรม พรรคไท พรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย

นั่งเก้าอี้สำคัญมาแล้ว เช่น เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย ปี 2535 และปี 2538 “สุชาติ” มีพันธมิตรการเมืองฝังไว้ทุกพรรค พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทยก็พันธมิตรกัน เชื่อมโยงกันหลายกลุ่ม เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลุ่มกำแพงเพชร รวมถึงในพรรคภูมิใจไทย ที่พร้อมสนับสนุนให้เขาเป็นประธานสภา ขวางก้าวไกล

เกมชิงเก้าอี้ประธานสภา ดุเดือดเลือดพล่าน หากวันหนึ่งถึงจุดแตกหัก หากพรรคก้าวไกล ต้องแยกทางไปเป็นฝ่ายค้าน ก็รอจังหวะตีจากไปแบบพระเอก เป้าหมายรอวันรีเทิร์นถล่มทลายในปี 2570