ครม.ไฟเขียวกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-สิ่งแวดล้อม

ประเทศไทย สภาพอากาศ พยากรณ์อากาศ ภาคเหนือ ดอยปุย
Photo by Darcey Beau on Unsplash

ครม.เห็นชอบ ปรับโครงสร้าง-เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

นายอนุชากล่าวว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งส่งผลให้ไทยต้องรับมือกับปัญหาที่ตามมาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้ทบทวนและปรับปรุงบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยนำภารกิจของกองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมารวมกับภารกิจของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) การดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1.ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …

2.ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …

โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็น ดังนี้ 1.ร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับที่เสนอมานั้นเป็นผลจากการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจและเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

2.ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับไม่เป็นการตัดโอนงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพิ่มเติม เพิ่มวงเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณที่จะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป