เพื่อไทย เปิดเกมรุกใหม่ จัดสูตรรัฐบาลข้ามขั้ว ยุติแก้ ม.112

เพื่อไทยนำ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

นาทีนี้ถึงคิวพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับสอง แต่งตัวรอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

ภายหลังพรรคก้าวไกล พรรคอันดับหนึ่ง และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่อาจฝ่า “กับดัก” ส.ว. แถมยังติดกับ “เดดล็อกญัตติซ้ำ” ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ซึ่งไม่อาจเสนอชื่อ “พิธา” โหวตเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ได้ เพราะเป็นญัตติที่ตกไปแล้วในการโหวตนายกฯรอบแรก

รัฐสภา ฝัง “พิธา” อย่างเป็นทางการ ตอกย้ำ-ซ้ำเติม ด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย กรณีถือ 42,000 หุ้นไอทีวี

เป็นการผนึกกำลังทั้งองคาพยพ ไม่ว่าขั้วรัฐบาลเดิม อำนาจนอกสภา ไม่เว้นแม้แต่เกมของเพื่อนร่วมจัดตั้งรัฐบาล

นาทีนี้เหลือเพียงแค่ พรรคก้าวไกลประกาศ “ยอมแพ้” เกมชิงอำนาจจากพรรค 151 เสียง จะสมบูรณ์แบบ

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในผู้ทรงอำนาจ พรรคก้าวไกล จึงระบายความรู้สึกผ่านโซเชียลมีเดียว่า “หากนายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นประธานรัฐสภา วันนี้ผมมั่นใจว่าเขาจะกล้าใช้อำนาจประธานยืนยันว่าการเสนอชื่อนายกฯไม่ใช่ญัตติ หรือต่อให้ลากไปเป็นญัตติซ้ำ แต่ก็มีข้อยกเว้นในข้อ 41 ตอนท้ายว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้เสนอซ้ำได้”

ปั้นเศรษฐา นายกฯเพื่อไทย

เมื่อรูปเกมมาเข้าทางพรรคเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เต็งหนึ่งนาทีนี้ มีชื่อเดียวคือ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย เซตเกมแต่งตัวเศรษฐา เป็นว่าที่นายกฯ มาตั้งแต่ก่อนโหวต “พิธา” รอบแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม จัดคิว “เศรษฐา” ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้าน โชว์วิชั่น “การเกษตร” ซักซ้อมเข้าถึงประชาชน คู่ขนานกับการเข้าถึง ส.ส.เพื่อไทย

หลังมีข่าวมาตลอดว่า “เศรษฐา” คือบุคคลที่ ส.ส.ไม่ปลื้ม เพราะเข้าถึงยาก ทว่า ภาพในหัว ส.ส.กำลังถูกปรับ mind set เพราะ เศรษฐา นัดเปิดอกคุยกับ ส.ส.แต่ละกลุ่ม รับฟังความต้องการจากพื้นที่

ขณะเดียวกัน ในการเมืองภาพใหญ่ พรรคเพื่อไทยขยับเกมรุกคืบอีกระดับ เมื่อ “พิธา” ไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก

พรรคเพื่อไทย ลงมือเปิดตัว “เศรษฐา” เป็นแคนดิเดตนายกฯคนต่อไปอย่างเป็นทางการ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พูดต่อหน้าที่ประชุม ส.ส.พรรค เมื่อ 18 กรกฎาคม โน้มน้าว ส.ส.ให้สนับสนุนเศรษฐาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ คนที่ 30

“คุณเศรษฐาก็ทำประโยชน์ให้พรรคแม้มาใหม่ และอิ๊งก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะ ช่วยอิ๊งเยอะ” แหล่งข่าวอ้างคำพูดของ แพทองธาร

ใคร ๆ ก็ไม่เอา ม.112

เมื่อพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อันดับแรก นอกจากต้องคุยกับพรรคก้าวไกล จะกอดคอกันอย่างไรต่อไป แต่อีกทาง เอ็มโอยู 8 พรรค ของพรรคก้าวไกล ต้องถูกรื้อ กลายเป็น “เอ็มโอยู” พรรคเพื่อไทย ที่ไม่มีการแก้ไข-ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เพราะ พรรคการเมืองทุกพรรคบนกระดาน มีจุดยืนเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ยกเลิก-ไม่แก้ไข มาตรา 112 ไม่ว่า พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ และต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล

จุดยืนเรื่อง 112 ของพรรคก้าวไกล จึงเป็นโจทย์นี้คือโจทย์ที่ยากที่สุด ที่ทีมเจรจาของพรรคเพื่อไทยต้องไปไกล่เกลี่ย

“เศรษฐา” กล่าวเรื่องมาตรา 112 ว่า “การโหวตนายพิธา 2 ครั้งในสภา การแก้มาตรา 112 ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ และหากครั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสตั้งรัฐบาล และมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าไปโหวต จะเป็นที่ชัดเจนว่า พรรคที่จะเสนอนายกฯ ครั้งต่อไป ต้องไม่มีเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ไม่งั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. และจากหลาย ๆ พรรค เพราะคณิตศาสตร์ค่อนข้างจะพลิกผันเป็นอย่างมาก นับดูก็รู้”

“ถ้าเกิดมีพรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป เรื่อง 112 ต้องไม่อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิก อันนี้ชัดเจน ไม่งั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง ส.ว. และอีกหลายพรรคการเมือง คณิตศาสตร์มันค่อนข้างจะพลิกผันมาก ๆ เลย นับดูก็รู้ว่าเรื่องอะไร”

นาทีนี้ พรรคเพื่อไทย ถูกวงล้อมขั้วรัฐบาลเดิม บวก ส.ว. ต้องการให้เขี่ยพรรคก้าวไกลที่มีจุดยืนแก้มาตรา 112 ทิ้งไป ขณะที่ พรรคก้าวไกล ถูกบีบทางอ้อม ให้ทิ้งประเด็นเรื่องแก้มาตรา 112 หรือไม่ก็ต้อง “เสียสละ” ไปเป็นฝ่ายค้าน

แต่แกนนำ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย หลายคนยืนยันตรงกันว่า ในสมการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ยังมี “ก้าวไกล” อยู่เสมอ แต่พรรคก้าวไกลต้องเสียสละเรื่องใดเรื่องหนึ่งบ้าง

เพื่อไทยไม่ยอมเป็นผู้ร้าย

โจทย์ยาก-โจทย์ใหญ่ วันนี้ของพรรคเพื่อไทย หากต้องตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน จะทำอย่างไรไม่ให้ “ถูกมองเป็นผู้ร้าย” และเป็นจำเลย

“เราต้องดูเงื่อนไขในกระดาน ในเมื่อหลายพรรคไม่เอามาตรา 112 และถ้ายังมีพรรคก้าวไกลก็จะไม่ร่วมรัฐบาล อย่างนี้ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้”

“ดังนั้น ต้องชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ หรือพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ แน่นอนเราต้องรักษานายกฯ และต้องรักษาคำพูด แม้ตอนที่หาเสียง เราต้องการแลนด์สไลด์เพื่อที่จะเลือกได้ว่าจับมือกับใคร แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไป และโหวตนายกฯหลายครั้งก็ไม่ได้”

“เหมือนกับเลือกระหว่างเลวร้ายที่ 2 สองฝั่ง เราต้องเลือกอันที่เลวน้อยที่สุด เพราะไม่อย่างนั้น ปล่อยให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯไหม ฝั่งนั้นก็ไม่ได้อีก เพราะมีแค่ 188 เสียง เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้น ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย เมื่อเราไม่มีตัวเลือก ก็ต้องเลือกสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่กระทบประชาชนน้อยที่สุด”

“และถามย้อนกลับ เพื่อไทยมีทางเลือกไหม… ไม่มี แต่ทางรอดของประเทศคืออะไร รัฐบาลของใครเลวน้อยที่สุด อาจไม่ดีที่สุดในองค์ประกอบ แต่คิดว่าคนไทยเข้าใจได้ ขอให้เอาสถานการณ์ข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง และต้องแฟร์กับพรรคเพื่อไทยบ้าง เราสู้สุดทางกับพรรคก้าวไกลแล้ว”

นี่คือคำอธิบาย พรรคเพื่อไทยไม่อาจอยู่ในสถานะ “ผู้ร้าย-จำเลย” ที่ให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน