เปิดประวัติ “ไผ่ ลิกค์” สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ

นายไผ่ ลิกค์
ภาพจากเฟซบุ๊ก ไผ่ ลิกค์

เปิดประวัติ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พลังประชารัฐ โชว์จุดยืน 40 สส.โหวตเพื่อไทยตั้งรัฐบาลแบบไม่มีเงื่อนไข

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 จากกรณีที่นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ว่า “พรรคพลังประชารัฐจะไม่ขาดแม้แต่คนเดียว เราจะมาทั้งหมด โดยไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อเสนออะไรทั้งนั้น”

เราเคยทำงานกับพรรคเพื่อไทยมา ผมก็เป็นเด็กเก่าพรรคเพื่อไทย เราเชื่อมั่นว่าจะทำได้ ผ่านวิกฤตทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ

“ที่สำคัญที่สุดก่อนหน้านี้ ตอนที่พรรคก้าวไกล เป็นคนเลือกนายกฯ ผมก็ได้รับการประสานจากพรรคก้าวไกลมา ว่าให้ช่วยโหวตได้ไหม ผมก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลก ก็วันนั้นเขาก็ประสานมาให้ช่วยโหวต วันนี้พวกเราก็พร้อมนะครับที่จะทำให้บ้านเมืองก้าวข้ามปัญหาตรงนี้ไป” นายไผ่กล่าว

นายไผ่ ลิกค์

เมื่อถามว่า การช่วยโหวตกับการร่วมรัฐบาล ยืนยันได้หรือไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายไผ่กล่าวว่าไม่มีการพูดคุยเรื่องนั้น การเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องเล็ก

ประชาชาติธุรกิจพาไปรู้จัก “ไผ่ ลิกค์” สส.กำแพงเพชร พลังประชารัฐ ศิษย์เก่าเพื่อไทยให้มากยิ่งขึ้น

ประวัติ

ไผ่ ลิกค์ อายุ 45 ปี เกิดวันที่ 20 เมษายน 2521 เป็นลูกชายของนายเรืองวิทย์ ลิกค์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กับนางปราณี โชติรัชต์กุล มีน้องชายคือ นายภูผา ลิกค์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไผ่ ลิกค์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อแรกสำเร็จการศึกษาได้กลับมาสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว แต่ด้วยความชอบเครื่องจักรและยานยนต์มาตั้งแต่เด็ก จึงได้เริ่มขยายธุรกิจมายังแวดวงรถยนต์ และเต็นท์รถมือสอง

ที่มาชื่อ ไผ่ วันพอยท์

ที่มาของชื่อ “ไผ่ วันพอยท์” ปรากฏชื่อเข้าร่วมแข่งขันอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการแข่ง เซอร์กิต แดร๊ก และดริฟต์ หรือยิมคาน่า โดยนายไผ่เป็นหนึ่งในนักแข่งของทีมวันพอยท์ จึงเป็นที่มาของฉายาไผ่ วันพอยท์

เส้นทางการเมือง

หลังจากที่บิดาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองกลุ่มบ้านเลขที่ 111 จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2550 พรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาในปี 2554 ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยเอาชนะนายสุขวิชชาญ มุสิกุล บุตรชายนายปรีชา มุสิกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าดำรงตำแหน่งในโฆษกคณะกรรมธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร

ต่อมาในปี 2561 ไผ่ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด