เปิดขั้นตอนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีวิธีการอย่างไร

โหวตนายกฯ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (22 ส.ค. 2566) เป็นการโหวตรอบที่ 3 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยการโหวตเลือกนายกฯ ในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ได้เสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย

สำหรับขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 เป็นดังนี้

ขั้นตอนที่ 1

แคนดิเดตนายกฯ ที่จะถูกเสนอชื่อมาโหวตในสภา ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองนั้นจะต้องเป็นพรรคที่มี สส. 25 คนขึ้นไป ผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ต้องมี ส.ส.รับรองอย่างน้อย 50 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159

ขั้นตอนที่ 2

การลงมติเลือกนายกฯ ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 ด้วยการขานชื่อ สส.-สว. ตามลำดับอักษรและให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน

ขั้นตอนที่ 3

รัฐสภาจะคัดเลือก สส.และ สว.ขึ้นมาเป็นกรรมการนับคะแนน เพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้ บุคคลที่จะได้เป็นนายกฯ จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา 374 เสียงขึ้นไป เนื่องจากจำนวนรัฐสภา คือ สส.และ สว.รวมกันขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 747 คน

ขั้นตอนที่ 4

เมื่อมีการเห็นชอบบุคคลที่จะได้เป็นนายกฯแล้ว ประธานรัฐสภา คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จะเป็นผู้นำชื่อนายกฯขึ้นทูลเกล้าฯ

ขณะที่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้นั้น ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการแสดงตนเพื่อทำการโหวตแล้ว และคาดว่าจะทราบผลการโหวตเลือกนายกฯได้ในช่วงประมาณ 18.30 น.