“อนุทิน” หลังภาพ คสช.-ทักษิณ นโยบาย “ไม่กินหัวคิว-ไม่เอาคนเลว”

สัมภาษณ์พิเศษ

กระดานการเมืองเริ่มกลับมาคึกคักมีชีวิต เมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองเก่าทำ “ธุรการ” เบื้องต้น ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคให้เสร็จใน 1 เดือน

พรรคเก่า พรรคใหญ่ พรรคกลาง ที่เป็นองค์ประกอบของโจทย์การเมือง ต่างใช้โอกาสนี้ “เช็กชื่อ” ลูกพรรค ใครยังอยู่ ใครย้ายพรรค สลับกลุ่มก๊วน จะรู้ภายใน 1 เดือน

หนึ่งในนั้นคือพรรคภูมิใจไทย ที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคที่ถูกสปอตไลต์การเมืองสาดส่องมาเนิ่นนาน ว่าจะเป็นทั้ง “ตัวเต็ง” เป็นทั้ง “ตัวแปร” ในเกมเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร

เบื้องต้น เขาได้ “ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์” อดีตผู้แทนราษฎร จ.พิจิตร ดีกรีอดีตรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมพรรค เล็งเป้า ส.ส.เกิน 34 ที่นั่ง

แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยเดินทางมาครบ 10 ปีเต็ม แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการเลือกตั้งทางการครั้งแรกของ “อนุทิน”

“พรรคภูมิใจไทยที่มีผมเป็นหัวหน้าพรรค จะเป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้บริหารพรรคในชุดใหม่ที่จะต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย มีความตื่นเต้น มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะนำชัยชนะมาให้กับพรรค และทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง” เขาเริ่มต้นอภิปราย

เส้นทาง 1 ทศวรรษของภูมิใจไทย เป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่พลิกเป็นฝ่ายค้านในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2554 แม้ว่าจะได้ ส.ส.เข้าสู่สภาถึง 34 ที่นั่ง

ดังนั้น ภูมิใจไทยในทศวรรษของ “อนุทิน” เล็งเห็นผลในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ต้องไม่น้อยกว่าการเลือกตั้ง 2554

“พรรคมีคะแนนนิยมอยู่แล้ว จากผลการเลือกตั้งปี 2554 คะแนนที่ผู้สมัครทุกคนรวมกัน 3 ล้านกว่าคะแนน ในขณะที่ส่ง ส.ส.แค่ 130 กว่าเขต ไม่ได้ส่ง 350 เขต ยังเชื่อว่าตั้งแต่เลือกตั้ง 2554 จนถึงปัจจุบัน ผู้สมัครของพรรคไม่ได้ออกไปไหน ทุกคนยังลงพื้นที่หาคะแนนนิยมให้ตัวเองตลอดเวลา”

“ประกอบกับช่องทางในรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคไม่ได้รับความเสียเปรียบอะไร มิหนำซ้ำหากดูภาพรวมแล้วเป็นคุณต่อพรรคภูมิใจไทยด้วยซ้ำ หากผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยเกิดความผิดพลาด ไม่สามารถเข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ได้ ก็ยังสามารถเอาคะแนนนิยมของเขามาเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อได้ ดังนั้นจึงมีความมั่นใจว่า พรรคจะได้รับความนิยม มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นในสภา ไม่มีใครเดินตัวเปล่ากลับบ้าน”

“แม้ไม่ได้ที่ 1 ได้ที่ 2 ก็ได้ ที่ 5 ก็ได้ ที่ 10 ก็ได้ ขอให้ได้มีคะแนน พรรคต้องส่งผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อม ประวัติที่ขาวสะอาด ไม่มีประวัติที่เป็นคนทำผิดกฎหมาย มีประวัติทุจริต เข้ามาเป็น ส.ส.ของพรรคเป็นอันขาด ไม่ต้องกลัวว่าผมพูดเพราะ ๆ ให้ฟัง… ไม่ใช่ คนเลว ๆ เข้ามา ผมปกครองยาก ผมอยากอยู่กับคนดี ๆ ทุ่มเทจริง ๆ”

ตัวเลข 34 ที่นั่ง เป็นตัวเลขที่เขาประเมินต่ำ ๆ เพราะอนุทินเปรียบ “ภูมิใจไทย” ว่า เหมือนคนยิงปืนไม่แม่น เล็งสูงมักจะเลยเป้า แต่ถ้าเล็งต่ำ ๆ ไว้ก่อน กระสุนจะเข้าเป้า

ชูแคมเปญล้างบางคอร์รัปชั่น

แต่นโยบายที่พรรคภูมิใจไทยจะใช้เป็น “อาวุธ” ชิงแต้มการเมืองจากคู่แข่ง ไม่ใช่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องชาวบ้าน แต่เป็นการขจัดต้นตอการทุจริต-คอร์รัปชั่น

“ภารกิจแรกที่พรรคคิดว่าเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับบ้านเมืองในเวลานี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจ ไม่ใช่ความแตกแยก แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือการทุจริตคอร์รัปชั่น จะทำให้การคอร์รัปชั่นลดน้อยลงให้มากที่สุด ไม่สามารถบอกได้หรอกว่าจะกำจัดคอร์รัปชั่นให้สิ้นซาก เพราะเป็นคำพูดที่เลื่อนลอย”

“เน้นไปที่ต้นตอของคอร์รัปชั่น ใช้งบประมาณของประเทศให้เหมาะสม คุ้มค่าที่สุด พรรคภูมิใจไทยตั้งแต่หัวหน้าพรรคจนถึงผู้บริหารพรรค ตีราคาของเป็น มองเห็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ มองเห็นทรัพย์สิน สามารถตีราคาได้ว่าควรจะใช้เงินทุนเท่าไหร่ที่จะได้มาซึ่งของเหล่านั้น”

“ต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่ของประเทศให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ อธิบายได้ เปิดเผยได้ ไม่มีการปิด แต่ถ้าผู้ประกอบการยังจ่ายใต้โต๊ะในงบประมาณที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรมของผู้ประกอบการคนนั้น และข้าราชการ อย่าให้จับได้ ไม่มีการช่วย”

เหตุผลที่เลือกการแก้ปมทุจริตเป็นอันดับแรก เพราะอนุทินเชื่อว่า การทุจริตเป็นปัญหาพื้นฐานของโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการ “กินหัวคิว” ถ้าทำให้เงินร่วงหล่นไปในทางมิชอบให้น้อยที่สุด เศรษฐกิจก็ดีเอง

“จะใช้เวลา 2-3 ปีแรกทำพื้นฐานให้ดีก่อน ยังไม่ได้เล็งสูงถึงขั้นเป็นเจ้าแห่งเศรษฐกิจ โดยที่รากฐานไม่มั่นคงก็ไปแบบไม่ยั่งยืน เผลอ ๆ ร่วงก่อน”

ไม่เน้นคนรุ่นใหม่

ในขณะที่พรรคการเมืองเก่า-ใหม่ ต่างทยอยเปิดตัว “คนรุ่นใหม่” เพื่อดูดคะแนนเสียงจากคนที่ “หมดหวัง” จากนักการเมืองเก่า “อนุทิน” ถามกลับว่า

“สิ่งที่เราต้องการสำหรับประเทศไทยคือคนที่เก่ง คนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ความหวังดีต่อบ้านเมือง ต้องการเห็นชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญ ต้องเป็นคนที่เข้าใจชาวบ้าน ประชาชนในทุก ๆ พื้นที่”

“ดังนั้น คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ไม่มีความสำคัญเท่ากับคนที่เข้าใจความลำบากของประชาชน เข้าใจคนตั้งแต่ระดับพื้นฐานเกษตรไปถึงสังคมคนเมือง ไฮเทค โลว์เทค พรรคมีบุคลากรที่เข้าใจธรรมชาติ พร้อมนำนโยบายเหมาะสมมาแก้ปัญหาคนเหล่านั้น”

ดูหน้างานเลือกตั้งก่อนเลือกขั้ว

แต่ก่อนที่ “เป้า” ทางการเมืองจะบรรลุผลได้เป็นรัฐบาล อาจต้องขึ้นอยู่กับ “พันธมิตร” การเมือง รูปถ่ายที่ปรากฏอยู่ข้างกาย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ถูกตีความว่ามีนัยการเมืองแฝงอยู่ข้างหลังภาพ

ขณะที่ความสัมพันธ์ของเขากับ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มีอำนาจตัวจริงพรรคเพื่อไทย ขั้วตรงข้าม คสช. ก็ยังคงรักษาระยะความใกล้ชิด จึงถูกคนการเมืองมองว่า “อนุทิน” แตะมือทั้งสองขั้วข้าง พร้อมเป็นรัฐบาลร่วมกับทุกพรรค

ทว่า “อนุทิน” ขอดูคะแนน “หน้างาน” จึงจะรู้ว่าควรร่วมมือกับขั้วไหน แต่ในเบื้องต้น ไม่เคยแตะมือกับใครในเวลานี้

“พรรคภูมิใจไทยไม่เคยแตะมือใคร ใครจะมาที่ 1 ก็ยังไม่รู้ ใครจะมาที่ 2 ที่ 3 ก็ยังไม่รู้ ทุกคนได้แต่คาดการณ์ว่าจะได้เท่านี้ ๆ ทุกคนคาดการณ์ได้หมด”

“และไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมานั่งให้สัตยาบันว่าจะร่วมงานกับพรรคไหน ทุกวันนี้ต่างคนต่างแข่ง ทุกพรรคต้องเอาคะแนนให้ตัวเองมากที่สุด ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็น 3 ตลอด ถ้าผมเป็นที่ 2 หรือเป็นที่ 1 ขึ้นมาแล้วบอกว่า โอย…ต้องทำสัตยาบัน ผมไม่เอาหรอก ไม่เอาคำพูดมาเป็นนาย นี่เรื่องของบ้านเมือง อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีของบ้านเมือง ผมเอาหมด แต่ผมต้องรู้ก่อนว่าผมเลือกทางนี้ผมมีอาวุธอยู่ในตัวผม แสนยานุภาพขนาดไหน”

ไม่มีพรรคทหารถ้าลงเลือกตั้ง

ข้อครหาที่พรรคภูมิใจไทยเผชิญมาตลอดช่วง คสช.ยึดอำนาจ คือการเป็นแนวร่วมกับ “พรรคทหาร” สนับสนุนนายกฯคนนอก ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เขาปฏิเสธ…

“ทุกอย่างอยู่ที่ผลของการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคทหารหรอก ทุกพรรคเข้ามาต้องผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือคนใน ทุกวงการใคร ๆ ก็ต้องการเอานายกฯคนในทั้งนั้น หากบุคคลในรัฐบาลนี้ หรือ คสช.ลงเลือกตั้งผ่านพรรคใดพรรคหนึ่งเข้ามา จะมาบอกว่าคนนี้คนในคนนอกได้ยังไง”

“แต่ผมก็ต้องดูว่าผมชนะเขาเยอะไหม ถ้าผมชนะเขาเยอะก็ต้องคิดอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปให้สัตยาบันอะไรกับใคร ยังจะบอกต้องมีขั้วอย่างนี้ คนที่เป็นพรรคใหญ่อยู่แล้ว หรือขัดแย้งกับคณะ คสช. เขาก็ต้องมีความต้องการอย่างหนึ่ง”

“ความขัดแย้งกันเองระหว่างพรรคใหญ่ที่ 1 กับพรรคใหญ่ที่ 2 ก็มีความต้องการอย่างหนึ่ง ผมไม่ได้ขัดแย้งกับใคร ผมเป็นผู้เลือกบ้างสิ สมัยก่อนผมเป็นผู้ถูกเลือกมาเยอะแล้วนิ”

“สิ่งที่ผมพูดได้อย่างเดียวคือ บ้านเมืองคือสิ่งสำคัญ ถ้าเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยมองประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็ก”

เขาปิดท้ายการสนทนาว่า “ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครไม่ชอบก็อย่าเข้ามาเกี่ยวข้อง พูดไปทำไม แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องทำตามให้เกิดความสงบเรียบร้อย เมื่อสงบเรียบร้อยก็ไม่มีความขัดแย้ง ความสงบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนปฏิบัติตามกติกา ก็คือรัฐธรรมนูญ”