จักรพงษ์ รมช.ต่างประเทศ เพื่อไทยให้โอกาสทุกคน เป็นรัฐมนตรีไม่มีตั๋ว

จักรพงษ์ แสงมณี
จักรพงษ์ แสงมณี
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เขาเป็นรัฐมนตรี 1 ในไม่กี่คนในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน 314 เสียง ที่ถือว่าเป็น “รัฐมนตรีป้ายแดง” ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน

ไม่เคยแม้กระทั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

แต่จู่ ๆ เขาโดดเด้งขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประจำการที่กระทรวงการต่างประเทศได้อย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “จักรพงษ์ แสงมณี” หรือ “เพ้า” เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2552 เขาเป็นนักธุรกิจวัย 30 ที่ตัดสินใจเดินเข้าสู่การเมืองพรรคเพื่อไทย

14 ปีต่อมาเขามีชื่อเป็นรัฐมนตรี

เส้นทางเริ่มจากเด็กหน้าห้อง

“จักรพงษ์” เล่าทวนเข็มย้อนไปถึงการตัดสินใจเข้าพรรคเพื่อไทย 14 ปีที่แล้วว่า เป็นความชอบตั้งแต่เด็ก นั่งดูการนับคะแนนเลือกตั้งตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ

แต่สาเหตุที่เข้าพรรคเพื่อไทย แม้ที่บ้านจะรู้จักกับทุกพรรคการเมือง แต่ผมชอบนโยบายของนายกฯทักษิณ ชินวัตร และเห็นว่าช่วงนั้นเรามีเศรษฐกิจที่ดีเป็นอย่างไร

ตอนที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกา เป็นความโกรธเล็ก ๆ เหมือนกัน เพื่อนชาวต่างชาติถามว่า ประเทศ You ยังมีการเดินทางโดยการใช้สัตว์อยู่เหรอ ซึ่งตอนนั้นปี 2003 เรามีรถไฟฟ้าแล้วนะ เรารู้สึกว่าประเทศเรามีศักยภาพ มีโลเกชั่นที่ดี มีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เราก็อยากเป็นประเทศที่พัฒนา มีความภูมิใจในความเป็นชาติของเรา ตรงนี้เป็นส่วนที่อยากเล่นการเมือง

“จำได้ว่าเขียนใบสมัครเป็นสมาชิกพรรค กันยายน 2552 ท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นหัวหน้าพรรค เริ่มต้นอยู่ในสำนักงานเลขาธิการพรรคเพื่อไทย”

“ด้วยความที่ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน การทำงานกลายเป็นว่าตอนเช้าเข้าออฟฟิศจัดการงานตัวเองให้เรียบร้อย ตอนบ่ายเข้าพรรค”

“วันแรกที่ทำงานให้กับพรรคเพื่อไทย ช่วยแม้กระทั่งว่าหาข้อมูล เพราะเป็นเด็กคนเดียวที่หาข้อมูลเป็น อาจเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตเริ่มต้น หาได้อยู่คนเดียว เอา Labtop มานั่งต่ออินเทอร์เน็ตหาข้อมูลให้ ทั้งเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายเรื่องงบประมาณ”

“ทำงานอยู่อย่างนี้มา 1 ปีเต็ม ใครให้ทำอะไรก็ทำ ไม่เคยเลือกงาน ถ้าผู้ใหญ่สั่งคือจบ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ อาจไม่ถนัดก็อย่าว่ากัน แต่ว่าทำ จากนั้นเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค ก็จะมี ดร.โอฬาร ดร.สุชาติ คุณมิ่งขวัญ อยู่ในเซตนั้น ที่ได้เป็นทีมเศรษฐกิจ เพราะน่าจะมีแบ็กกราวนด์ทางธุรกิจมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ ที่ต้องประสานกับบริษัทใหญ่ ๆ มาก่อน”

มือขวากิตติรัตน์

พอปี 2554 ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคครั้งแรก และได้อยู่ทีมหาเสียงของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จึงได้ไปเป็นที่ปรึกษารองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) ดูเรื่องการค้าขายต่างประเทศ พอท่านย้ายมาดูกระทรวงการคลัง ก็ตามท่านมา

ตอนปี 2554 เป็นทีมเศรษฐกิจพรรคแล้ว แต่ท่านกิตติรัตน์เข้ามาหลังจากเป็นรัฐบาล นายกฯปูจึงอยากให้ไปอยู่กับท่านกิตติรัตน์ อะไรที่เป็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคจะได้ช่วยเติมให้ ทำแล้วชอบ ท่านกิตติรัตน์เป็นคนเก่งมาก สอนทุกอย่าง เหมือนได้เรียนรู้งาน เลยยิ่งสนุก

อยู่กระทรวงพาณิชย์ได้เห็นขั้นตอนว่าจะทำอย่างไร พอมาอยู่กระทรวงการคลัง ได้ช่วยส่วนที่เป็นเรื่องการจ่ายเงิน และการกู้เงิน เป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้เรามีความคิด มีระบบความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ทุกคนอยู่และเรียนรู้กับแต่ละท่านเราก็จะได้ประสบการณ์

ช่วงปฏิวัติก็เงียบไป แต่กลับมาเป็นกรรมการบริหารพรรคอีกในปี 2562-2566 รวมถึงเป็นนายทะเบียนพรรค เป็นกรรมการภาคใต้ เป็นเลขาฯ ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ปี 2566 กระทั่งมาเป็น รมช.ต่างประเทศ

“ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้เป็นอะไรในอนาคต ด้วยความสัตย์จริง อายุ 30 แค่รู้ว่าชอบการเมือง มีไฟในการทำงาน ทำได้หลายอย่าง เป็นที่มาว่าไม่เคยถามเลย เป็นกรรมการบริหารพรรคก็ไม่เคยถาม ไม่เคยขอ แม้แต่ครั้งเดียว ตำแหน่งก็ไม่เคยขอ พูดไม่เป็น…”

รัฐมนตรีไม่มีตั๋ว

เขายืนยันว่า ที่ได้เป็นรัฐมนตรีไม่ได้มาจาก “ตั๋ว” ใคร “ไม่หรอก สิ่งที่ทุกคนอาจไม่ทราบคือ เราทำงานเบื้องหลังตลอด เราเป็น กก.บห.มานานมาก เราช่วยอยู่เบื้องหลัง และไม่เคยไปไหนจากพรรค เราอยู่กับพรรคมาตลอด”

“ถามว่าตั๋วใคร…ไม่มีตั๋วใครหรอก อยากเชิญชวนทุกคน คนรุ่นใหม่ พรรคเพื่อไทยให้โอกาสทุกคน ผมไม่ได้มาจากครอบครัวที่ไม่มีแบ็กกราวนด์ทางการเมืองเลย พ่อ แม่ ญาติ ๆ ไม่มีใครอยู่การเมืองเลย ผมเป็นคนที่เข้ามาโดยเริ่มจากนั่งหน้าห้องของเลขาธิการพรรค ช่วยทุกอย่าง อันไหนที่อยู่ในความสามารถที่ทำได้เราก็ทำให้พรรคทุกอย่าง”

แต่ตอนก่อนเลือกตั้ง “จักรพงษ์” ก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิด “เศรษฐา ทวีสิน” มากที่สุดคนหนึ่ง เหมือน “มือขวา” และรู้ใจที่สุดคนหนึ่ง

“พรรคมอบหมายให้ ตอนนั้นทำงานเยอะมาก งานที่จะต้องประสาน คอยจัดการ สมัยนั้นท่านเป็นแคนดิเดตนายกฯ เวลาท่านจะลงพื้นที่เราต้องคอยประสานพรรคกับคุณเศรษฐา ตั้งแต่เรื่องเวลา ลงพื้นที่วันไหน ลงไปแล้วจะเจออะไร เพราะเรารู้ว่าเวลาลงพื้นที่มีเรื่องหน้างานที่จุกจิก ทั้งเรื่องการเดินทาง การปราศรัย เราต้องยอมรับว่า 400 เขตเลือกตั้งมีเรื่องที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงโซเชียลมีเดียของแคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องทำด้วย”

การทูต รุกเศรษฐกิจ

เมื่อ “เศรษฐา” ต้องการ “ปลุก” ให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่มากกว่า “การทูต” โดยเฉพาะเรื่องการเป็น “หัวหอก” ในการค้าการลงทุน กระทรวงการต่างประเทศจึงมีบทบาทสำคัญ “จักรพงษ์” ในฐานะ รมช.ต่างประเทศ จึงเข้าใจนโยบายเศรษฐา อย่างดี เขาบอกภารกิจที่ทำในกระทรวงว่า

“ภารกิจหลักคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และด้วยความที่นายกฯ เศรษฐาต้องการให้ประเทศไทยกลับไปมีที่ยืนบนเวทีโลก กระทรวงการต่างประเทศก็จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นมา”

เพราะสิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเยือนประเทศต่าง ๆ สมัยก่อนอาจมีเพียงแค่ว่าการประชุมเอเปค อาจบวกประชุมต่าง ๆ แต่ปัจจุบันการประชุมเอเปคต้องเจอผู้นำแต่ละประเทศที่ท่านสามารถคุยด้วย เจรจาด้วย และบวกกับภาคเอกชน เพราะการที่ไปเจอหน้ากันบางทีจบเร็วกว่า วันนี้นายกฯ พูดเสมอว่า Economy of Speed มันต้องเร็ว

จะเห็นว่าตั้งแต่เป็นรัฐบาล เรื่องง่าย ๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศหลายหมื่นล้านแล้ว เช่น ฟรีวีซ่าให้จีน คาซัคสถาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่าสร้างรายได้เพิ่มประมาณ 4 หมื่นล้าน สิ่งที่เราทำคือบริหารจัดการภายในกระทรวง ยอมไม่เก็บค่าวีซ่า ยอมที่จะไม่ต้องมา Apply เอกสาร นี่คือการบริหารจัดการ

นายกฯ ไปเมืองนอก ไปตกลงกับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อให้มีเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ เอาสิ่งที่เรามีอยู่ไปขาย เพราะประเทศเรามีรากฐานที่ดี ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว มีโรงพยาบาลระดับอินเตอร์ที่ได้มาตรฐานเยอะมาก มีโรงเรียนอินเตอร์ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ภาคเหนือเรามีภูเขา ใต้เรามีทะเล หน้าที่ของรัฐบาลคือเป็นผู้อำนวยความสะดวก ประสานงานกับคนที่จะมาลงทุน

“ที่นายกฯไปญี่ปุ่น 2 วันเต็ม ๆ ที่ท่านให้เวลากับธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ญี่ปุ่น บริษัทรถยนต์ต่อคิวกันมาขอเข้าพบนายกฯเยอะมาก มั่นใจว่าท่านแทบไม่มีเวลาพักเลย และถ้าอันไหนเสร็จเร็ว ยังมีแอบเอาอันนั้นอันนี้มาเพิ่มได้ไหม ท่านทำงานแบบเช้าจดเย็น แน่นเอี้ยดแน่นอน”

นายกฯ หัวหน้าเซลส์แมน

“จักรพงษ์” บอกว่า การที่เราออกไปให้เห็นว่าเรามีผู้นำที่ดี มีผู้นำที่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน ทำให้ต่างชาติเชื่อมั่น เหมือนกับเราไปซื้อของ เราซื้อของจากแค็ตตาล็อก กับเอาของมาให้เราดูเลย ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน การที่นายกฯ ไปคุยก็คือสร้างความเชื่อมั่นกับคนที่จะมาลงทุนกับเรา ว่ามาลงทุนแล้วเรามีข้อดีอย่างไร ถ้ามีปัญหาอย่างไรเราก็จะช่วยให้คลี่คลายปัญหาได้

“ท่านพร้อมมากที่จะเป็นหัวหน้าเซลส์แมน ท่านรู้ว่าประเทศไทยมีดีอะไร ท่านรักประเทศไทยก็อยากทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี”

ปักหมุด มหาอำนาจเยือนไทย

ในขณะที่ “เศรษฐา” กำลังไปเยือนญี่ปุ่น แต่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนไปเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ไปเวียดนามเมื่อหลายเดือนก่อน เป็นข้อกังวลของไทยหรือไม่ ถ้าจะแข่งกับเวียดนาม-อินโดนีเซีย

“จักรพงษ์” กล่าวว่า ประเทศไทยมีของดีอยู่เยอะ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เราอาจไม่ได้จับข้อดีของเราให้คนรู้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้กังวล เพราะการเยือนของผู้นำประเทศไม่ได้แพลนมาวัน หรือสองวัน แต่เขาแพลนกันมาก่อน ซึ่งเราต้องกลับมามีบทบาทอย่างนั้นแน่นอน กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องทำให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาเยือนเรา เข้ามาคุยกับเรา เห็นบทบาทของเรา เราก็ต้องทำ

ไม่ได้หวั่นใจ หลักการของประเทศไทยเราวางตัวเป็นกลาง แต่เราต้องมีมิตร อย่าเป็นกลางโดยที่ไม่มีใครสนใจ ไม่ได้ เราต้องเป็นกลางที่มีคุณค่า ที่ทุกคนให้ความสำคัญ ว่าทำไมต้องมาคุยกับประเทศไทย เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำให้ทั่วโลกเห็นคุณค่าของเรา เขาต้องคิดถึงเราบ้าง

“เข้าใจเลยว่าประเทศไทยเหมือนจาง ๆ อยู่บนแผนที่โลก ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ แต่วันนี้เราต้องกลับมาทำให้ไทยมีบทบาทมากขึ้น”

นโยบายต่างประเทศ 2567

เรื่องเศรษฐกิจมาแน่นอน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้น สิ่งที่เป็นกึ่ง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ คือการเจรจา FTA กับหลายประเทศ ประมาณ 10 กว่าประเทศได้

จะมีการแพลนเยือนอย่างเป็นทางการของนายกฯทั้งปีว่าไปไหนบ้าง ท่านปานปรีย์ไปไหนบ้าง ผมไปไหนบ้าง ต้องไปอย่างมียุทธศาสตร์ จะไม่มีเชิญมาไป จะวางแผนไว้ว่าท่านนายกฯ เดินทางช่วงนี้เพื่ออะไร ประชุมต่อด้วยอะไรไหม

เช่น ประชุม World Economic Forum ประชุมเสร็จแล้วเราต้องทำอย่างไรต่อ มูฟอย่างไร ไปแค่จับมือชนแก้ว ไม่มีภาพนั้นอีกแล้ว ทุกอย่างไปจะต้องถามท่านทูตก่อนเลยว่าไปแล้วได้อะไร ไปแล้วต้องได้ประโยชน์กลับมา

ส่วนบทบาทท่านทูต ที่เข้าใจประเทศนั้น ๆ สามารถให้ข้อมูลได้ว่า ประเทศนี้ต้องการอะไร ประเทศนี้ผู้นำเป็นแบบไหน ถ้าหากจะให้คนไทยไปลงทุนได้ไหม เอาของไปขายได้ไหม เป็นหน้าที่ทูตที่ต้องทำเพิ่ม เรามองทั้งสองมุม ไม่ได้มองว่าเอาแต่คนมาลงทุนบ้านเราอย่างเดียว อะไรที่จะช่วยกันไปช่วยกันมาได้

ไม่มีคอนเซ็ปต์แบบตีหัวเข้าบ้านเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว ขายของเขาอย่างเดียวแล้วจบ แต่ทุกอย่างต้องไปลงทุนกับเขา เขาต้องมาลงทุนกับเรา เป็น Partner คือสิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญ

ธุรกิจแบบไหนที่อยู่ในประเทศนั้น เขาต้องการ Partner ไหม หรืออยากได้ Know How จากเราไหม เป็นสิ่งที่ท่านทูตต้องรายงานกลับมาให้เราได้ เช่น ถ้าใครเป็นทูตอยู่ประเทศนี้ก็ต้องสามารถตอบได้ว่าประเทศนี้ขาดอะไร อะไรที่เราต้อง Supply เขาได้ ถ้าแมตช์กันได้ท่านไม่ส่งกระทรวงการต่างประเทศไป ท่านก็ส่งผู้แทนการค้าไทยไปเจรจาได้ทันที

ประเมินผลงานตัวเอง

3 เดือนที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี “จักรพงษ์” ไม่กล้าประเมินผลงานตัวเอง แต่อันไหนทำได้ก็ทำก่อน สิ่งแรกที่เข้ามาทำเลยคือ วีซ่าฟรีจีน คาซัคสถาน เห็นตัวเลขคนเข้ามาผมก็ดีใจนะ

เพราะมันคือรายได้ที่เข้าประเทศ การพาคนไทยในอิสราเอลกลับมากลุ่มแรก ๆ เราก็ดีใจที่พาเขากลับมาได้ เห็นตัวประกันกลับมาก็ดีใจกับเขา

“วันนี้เหลือ 9 คนก็ยังทำต่อไป แต่ไม่ได้คิดว่าเรื่องจะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ ไม่ได้คิดเลย แต่คิดว่าอะไรทำได้ทำก่อน คิดแค่นี้เลย”