เศรษฐาดึงคูโบตาช่วย Smart Farming ดันรายได้เกษตรกรเพิ่ม 3 เท่า

ผู้บริหารคูโบต้า และเศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา เผยผลการประชุม JETRO มองตาก็รู้ใจ ยืนยันสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นต่อไป พร้อม เร่งเจรจา FTA อียู -สหราชอาณาจักร รักษาการส่งออกรถพวงมาลัยขวาที่ผลิตในไทยไปยุโรป พร้อมดึง คูโบตา ช่วยทำ Smart Farming ดันรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี

วันที่ 16 ธันวาคม 2566 ที่บริเวณหน้าลานพระราชวังอิมพีเรียล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการหารือกับผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้บริหารบริษัทคูโบต้าว่า JETRO ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ติดต่อจะไปลงทุนที่ประเทศไทย ก็ได้มาขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยดูแลนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น โดยเราหวังว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต่อไป

ที่ผ่านมาเรามีความสัมพันธ์ดีมากกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคนและกว่า 6,000 บริษัทที่มาทำงาน มีนักธุรกิจกว่าแสนคนที่มาทำงานในประเทศไทย ฉะนั้นตรงนี้ทุกอย่างมองตาก็รู้ใจอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า JETRO อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็ดูแลในเรื่องระบบที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบ ICE เป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนอยู่แล้ว และจากที่เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ได้พบกับ 7 บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ตนก็ได้ให้ความชัดเจนเรื่องของนโยบายที่จะสนับสนุน และชี้แจงว่าควรจะขยับระยะเวลาการลงทุนให้สั้นขึ้น โดยหลายบริษัทก็รับไปพิจารณาต่อ

ไทยยืนยันในเรื่องของสนธิสัญญาทางการค้า (FTA) ระหว่างไทย อียู และสหราชอาณาจักร ที่ขับรถพวงมาลัยขวาตรงนี้ก็มีการยืนยันว่าจะเร่งเจรจา FTA ให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทย เพราะโดยเฉลี่ยในประเทศใช้เอง 30% ส่งออก 70% ดังนั้นการที่เราเร่งทำ FTA ให้เยอะขึ้น ก็จะเป็นการการันตีว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถควบคุมได้ ส่วนการเปลี่ยนขยับไปทำเรื่องโรงงานอีวีก็ขยับเร็วขึ้นในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะของอีซูซุ และโตโยต้า

ส่วนการหารือกับผู้บริหารคูโบต้า จะมีความร่วมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับเกษตรกรไทยอย่างไรบ้างนั้น จากการหารือกับผู้บริหารคูโบต้าถือเป็นการประชุมที่ดีมาก ซึ่งเราเข้าใจผิดว่าคูโบต้าขายแต่รถไถอย่างเดียว แต่เขามีเทคโนโลยีเรื่องของการอัดแน่นซังข้าวโพดที่ไปทำถ่านไร้ควันและเชื้อเพลิง รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืชของอนาคต

ปัจจุบันในเรื่องของการไถและเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งทางคูโบต้าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่พืชในอนาคตของประเทศไทย เช่น ถั่วเหลืองไทยนำเข้าปีละล้านตัน แต่เราผลิตเองได้เพียงหลักหมื่นตัน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวที่เราใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวซึ่งจะไม่คุ้มต้นทุน ฉะนั้นจึงพูดคุยกับทางคูโบต้าที่มีเทคโนโลยี เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวที่ช่วยลดต้นทุนได้

รวมถึงการทำ Smart Farming มาเป็นระบบควบคุม ระบบชลประทานในภาคการเกษตร การใช้โดรนมาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งระบบครบวงจรเกษตรกรรมทางคูโบต้าดำเนินการอยู่ มีการตกลงว่าไทยจะไปดูสถานที่ และให้ทางคูโบต้ามาช่วยกันพัฒนา

ตรงนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องดี อีกทั้งทางประธานใหญ่คูโบต้าก็ให้การสนับสนุนเต็มที่

“ผมได้ขอให้คูโบต้าทำเรื่องการให้เงินกู้กับสัญญาเช่าซื้อมากกกว่าการขายอย่างเดียว และให้ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้อย่างแท้จริง หลังจากนี้ทีมงานก็จะไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย” นายเศรษฐา กล่าว