เศรษฐา บนเวทีสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ดึงลงทุนนวัตกรรม-พลังงานสะอาด

เศรษฐา ทวีสิน

นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ถกผู้นำ 4 ประเทศ มาเลย์-ลาว-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว แรงงาน อุตสาหกรรมสีเขียว ดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมทั้งชวนลงทุนแลนด์บริดจ์

วันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่โรงแรม The Langham ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักนครเมลเบิร์น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พบหารือกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์

เชื่อมโยงท่องเที่ยว 6 ประเทศ

นายกฯระบุว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างดีมาก ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ (Six Countries, One Destination) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและฝ่ายมาเลเซีย ก็ยินดีรับนโยบายนี้ ในส่วนของการท่องเที่ยวได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่มีราคาสูง รวมทั้งช่วงเวลา Take off ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม

นอกจากนั้นไทยและมาเลเซีย พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการผ่านแดน ทำให้เกิดเป็นผลรูปธรรมชัดเจน ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนด้านความปลอดภัยทางอาหาร (food security) และอาหารฮาลาลของไทย ที่ถือเป็นโอกาสทองของไทย

Advertisment

เสนอขายยางพารา

นายกฯกล่าวว่า ได้หารือเรื่องที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อความสงบสุข ส่วนมาเลเซียได้หยิบยกประเด็นหารือเรื่องยางพารา ที่ตนได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือการพิจารณาสนับสนุนการขายยางพาราให้แก่มาเลเซีย

ในช่วงท้ายการหารือได้แนะนำมาเลเซียเกี่ยวกับกิจกรรม ITB ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ที่เป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้ง MIPIM 2024 ที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของโลกด้าน Infrastructure และ real estate และยังนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge)

นายกฯไทย-สปป.ลาว หารือทวิภาคี ผลักดันความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยว การเดินทางระหว่างกัน พร้อมแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ

ถกนายกฯลาว หนุนการค้า แก้อาชญากรรม

จากนั้นพบหารือกับนายสอนไซ สีพันดอน (His Excellency Mr.Sonexay Siphandone) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Advertisment

โดยนายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ยินดีที่ไทยและ สปป.ลาว ได้เริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนแล้ว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่หน่วยงานของฝ่ายลาว โดยทางฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนฝ่ายลาวเพิ่มเติม

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเเละการเดินทางระหว่างกัน นายกฯผลักดันแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ (Six Countries, One Destination) ซึ่งเป็นการสนับสนุนแคมเปญ “ปีแห่งการท่องเที่ยวลาว (Visit Laos Year 2024)” โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดต่อไป

และขอให้ฝ่ายลาวเร่งรัดการกำหนดที่ตั้งของ Common Control Area (CCA) ในฝั่งลาว เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยฝ่ายไทยเห็นควรว่าให้ตั้งที่บริเวณมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เป็นที่แรก

นอกจากนี้ ตามที่ฝ่ายลาวมีคำขอ ไทยยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซ่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) และไทยพร้อมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ของสะพานในปีนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอีกด้วย

ด้านการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นายกฯขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด และการฉ้อโกงออนไลน์ (Online scam)

เชิญนายกฯออสเตรเลียเยือนไทย

ต่อมา ณ Melbourne Convention and Exhibition Center (MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

โดยไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตลอดจนสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพร่วมกัน อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนายกฯได้กล่าวเชิญนายกฯออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมาเยือนจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ด้านนายกฯออสเตรเลียเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศเป็นมิตรประเทศที่ดีร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของออสเตรเลีย

ร่วมมือ 6 ด้านสำคัญ

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นพ้องในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งเติบโตมากถึงร้อยละ 186 โดยจะปรับปรุงความตกลงฯให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น โดยนายกฯเน้นย้ำว่า ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (medical and wellness)

รวมทั้งมีโครงการ Landbridge ที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard : NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยนายกฯได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกฯพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MOU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเสนอแนะให้มีการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย

ขณะที่ด้านการศึกษา นายกฯยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย ส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกันเพื่อตอบโจทย์ความร่วมมือทางการศึกษา

ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และพัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์

ขณะที่ด้านแรงงาน นายกฯพร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาถึงการจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจริเริ่มเป็นโครงการนำร่องหรือแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานได้

ด้านความร่วมมือพหุภาคี นายกฯกล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสามารถร่วมมือกับอนุภูมิภาคฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและสอดคล้องกับบริบทร่วมกันได้ โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามแผนพัฒนาร่วมระหว่างออสเตรเลียและ ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนุภูมิภาค

นายกฯนิวซีแลนด์เยือนไทย เม.ย.

จากนั้น ณ โรงแรม Langham Melbourne นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับ นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน (The Right Honourable Christopher Luxon) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ที่มีความใกล้ชิดยาวนานถึง 68 ปี ทราบว่า นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์มีความตั้งใจจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมการเยือนในระดับสูง พร้อมผลักดันความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่มีศักยภาพร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยินดีที่ได้พบหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมในการดำเนินความร่วมมือกับไทยอย่างรอบด้าน

ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความสนิทสนมที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน จึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายนิวซีแลนด์ยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีทุกเมื่อ และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์สนใจเยือนไทยพร้อมนำคณะนักธุรกิจในภาคการเกษตร การศึกษา digital economy พลังงานสีเขียว ร่วมคณะด้วย ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมให้การต้อนรับ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมหารือกันต่อไป

ชวนลงทุนพลังงานสะอาด

จากนั้นนายกฯพบหารือกับเอกชนรายใหญ่ออสเตรเลีย 3 บริษัท ประกอบด้วย Redflow ผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงาน มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในไทย แต่อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการผลิตร่วมกับโรงงานไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวพร้อมสนับสนุนการอำนวยความสะดวก โดยนายรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงพลังงานช่วยผลักดัน และทำ Roadshow เพื่อทำให้ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเป็นอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

ANCA ผู้นำด้านการผลิตเครื่องขึ้นรูป CNC (CNC Grinding Machine) ต้องการที่จะขยายฐานการผลิตเครื่องจักร แต่มีข้อติดขัดอยู่ที่ข้อตกลงทางการค้าของไทย (FTA) ที่ยังไม่ครอบคลุม นายกรัฐมนตรีจึงได้ขอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนการค้าไทยเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เช่น EU เพื่อให้การค้าการลงทุนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

และ NextDC ผู้นำในอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นบริษัท Data Center ที่เข้ามาตั้งในประเทศไทย มีทั้งบริษัท Microsoft Amazon และ NVIDIA เป็นลูกค้าหลัก โดยอยากที่จะขยายการลงทุนการสร้าง Data Center ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเรื่องการจ้างงาน การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ นายกฯยังพบผู้บริหาร Hesta กองทุนบำเน็จบำนาญสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและสังคมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุน Hesta มีการลงทุนใน 44 บริษัทในตลาดหุ้นไทยและสนใจลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะในสาขา Healthcare และ Wellness รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ชักชวนให้ Hesta เพิ่มการลงทุนร่วมกับบริษัทไทยที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ ฝ่าย Hesta สนใจลงทุนด้าน Green transformation Healthcare และได้สอบถามแสดงความสนใจเกี่ยวกับ Clean Energy AI และ Agritech

เศรษฐา ทวีสิน

ตั้งใจดูดออสเตรเลียลงทุนสีเขียว

ต่อมาในช่วงเย็นที่ศูนย์การประชุม Melbourne Convention and Exhibition Centre (MCEC) นครเมลเบิร์น นายเศรษฐาร่วมพิธีต้อนรับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (2024 ASEAN-Australia Special Summit) เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์

โดยนายกฯระบุว่าได้ชมพิธีสโมกกิงเซเรโมนี (Smoking Ceremony) หรือพิธีควัน ซึ่งเป็นพิธีต้อนรับสู่แผ่นดินโดยชนพื้นเมืองวูรุนเจรี เฟิสต์ เนชันส์ เอลเดิร์ส (Wurundjeri Firs Nations Elders)ผู้อาวุโสของชนพื้นเมือง จะเผาใบสมุนไพรในภาชนะและปัดควันเข้าตัวผู้นำแต่ละคน ที่ใช้สองมือกวักควันไฟเข้าตัวรับความเคารพ

การเดินทางมาร่วมประชุมที่ออสเตรเลียครั้งนี้ ตั้งใจมาเพื่อดึงดูดให้ออสเตรเลีย เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคและไทยมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเชื่อมโยงการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนสีเขียว สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand 8 ด้านของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการ Landbridge และการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

จากนั้นในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้ ได้ร่วมงานเลี้ยงต้อนรับจัดขึ้นที่ National Gallery of Victoria นครเมลเบิร์น เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นําประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องขอบคุณทางออสเตรเลียที่ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น