อนุทิน เคาะ 15 โครงการเข้า ครม.สัญจรพะเยา

อนุทิน โอนหุ้น STPI

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ กำกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ชง 15 โครงการเร่งด่วน 395.88 ล้านบาท เข้า ครม.สัญจร จ.พะเยา ส่วนอีก 89 โครงการ 90,558 ล้านบาท ไม่เร่งด่วน รอคิวต่อไป

วันที่ 18 มีนาคม 2567 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (18 มี.ค. 67) เวลา 14.20 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พะเยา เชียงราย น่าน และแพร่)

โดยมีนายดนุชา พิชยนันทร์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายโชตนรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เข้าร่วม ณ ห้องประชุมภูกามยาว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา และผ่านระบบออนไลน์

โดยการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเอกชนครั้งนี้ เป็นการรับฟังข้อเสนอเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 67 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 15 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 395.88 ล้านบาท เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ณ จังหวัดพะเยา ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค. 67)

ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการเร่งด่วนที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี ประกอบด้วย โครงการของกลุ่มจังหวัด/จังหวัด 11 โครงการ วงเงิน 250 ล้านบาท และโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน 4 โครงการ วงเงิน 145.88 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะเป็นการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบฯกลาง รายการเงินสํารองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น

นอกจากนี้ได้รับทราบโครงการสำคัญที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 รวม 89 โครงการ วงเงิน 90,558 ล้านบาท ซึ่งในส่วนที่ไม่ใช่โครงการเร่งด่วนให้จัดลำดับความสำคัญโครงการต่อไป

นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้รับฟังข้อเสนอจากผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างครบถ้วน ซึ่งจะได้มีการสรุปและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร โดยมั่นใจว่า ครม.จะพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 โครงการที่มีความพร้อมและดําเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ที่ สศช. สํานักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับจังหวัด ลงพื้นที่พิจารณากลั่นกรอง จํานวน 11 โครงการ ดังนี้

1)โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหาร Gastronomy tourism สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน วงเงิน 20 ล้านบาท
2)โครงการ A Cup to Village เพิ่มขีดความสามารถการเป็นนวัตกรด้านชาและกาแฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน วงเงิน 15 ล้านบาท
3) โครงการยกระดับสินค้าและบริการด้านสุขภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 วงเงิน 15 ล้านบาท
4) โครงการเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) วงเงิน 50 ล้านบาท
5)โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ วงเงิน 26.12 ล้านบาท
6)โครงการยกระดับการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง ตามแนวทางตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ จังหวัด พะเยา วงเงิน 23.88 ล้านบาท
7) โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและยกระดับการท่องเที่ยวน่านสู่ท่องเที่ยวคุณภาพสูง วงเงิน 14 ล้านบาท
8) โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก วงเงิน 21 ล้านบาท
9) โครงการเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง (กาแฟ) จังหวัดน่าน วงเงิน 15 ล้านบาท
10) โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเก่าแพร่ วงเงิน 45 ล้านบาท
11) โครงการยกระดับการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าจังหวัดแพร่ วงเงิน 5 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 โครงการซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชน กลุ่มจังหวัดและจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จํานวน 78 โครงการ ซึ่ง สศช. สํานักงบประมาณ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด และภาคเอกชน ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีความพร้อมและดำเนินแล้วเสร็จภายใน 1 ปี มีจํานวน 4 โครงการ วงเงินรวม 145.88 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) โครงการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 1202 ตอนควบคุม 0200 ตอน สันต้นแหน-ป่าแดด ตําบลโรงช้าง อําเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย วงเงิน 50 ล้านบาท
2) โครงการอํานวยความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) วงเงิน 50 ล้านบาท
3) โครงการพลิกโฉมถนนสายวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Soft Power พะเยา วงเงิน 25.88 ล้านบาท
4) โครงการสูบน้ำขึ้นดอย สอย PM 2.5 สร้างป่าคาร์บอนเครดิต วงเงิน 20 ล้านบาท

นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนที่เป็นข้อเสนอของเอกชนนี้มีอีก 1 กลุ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ที่ประกอบไปด้วย 4 โครงการย่อย ที่ประชุมเห็นว่ามีความพร้อมในการดำเนินการเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นรายการที่จะได้รับการสนับสนุนตามงบประมาณรายจ่ายปี 2568 อยู่แล้ว

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เสนอ ครม. อนุมัติเพื่อให้ดำเนินการขอใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2568 ต่อไป รวมวงเงิน 34.87 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงซ่อมแซมผิวถนน สายบ้านฝั่งหมิ่น บานนาก้า อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน วงเงิน 9.86 ล้านบาท โครงการปรับปรุงซ่อมแซมผิวถนน สายบ้านเด่น บ้านห้วยลี่ อำเภอเมืองน่าน วงเงิน 9 ล้านบาท โครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนสายบ้านนาก้อ-บ้านสบกอน 2 อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 9.9 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงซ่อมแซม ถนนสายบ้านตอน บ้านป่าต้าง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน 6.11 ล้านบาท

“ที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ เห็นชอบในหลักการของโครงการของภาครัฐ 11 โครงการ และที่เอกชนได้นำเสนอ 4 โครงการ และให้นำเสนอต่อ ครม.ต่อไป ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและเร่งจัดทําข้อเสนอโครงการ โดยให้ความสําคัญกับความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบต่อไป” นายอนุทินกล่าว

โฆษกกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ในช่วงท้ายการประชุมหลังจากได้มีการพิจารณาโครงการที่จะเสนอต่อ ครม.เสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ทั้ง 4 จังหวัดประกอบด้วย พะเยา เชียงราย น่าน และแพร่ ได้นำเสนอทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด และจังหวัด รวมถึงให้ตัวแทนภาคเอกชน นำเสนอโครงการ แนวทางการพัฒนาพื้นที่ในมุมมองของภาคเอกชน พร้อมกับประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในระยะต่อไปด้วย