ศิริกัญญา ปะทะ จุลพันธ์ อภิปราย 152 ดิจิทัลวอลเลต รักษาไม่ได้ทุกโรค

politic

อีกไฮไลต์ ในการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 คือ หัวหอกเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ข้าง ก้าวไกล-เพื่อไทย ใช้เวทีตอบโต้ข้อมูลนโยบายเศรษฐกิจ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนจะพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจที่พบว่าเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้ารอได้ แต่ปัญหาระยะไกลไม่เห็นทางออก ผลงานของรัฐบาลที่มีการแถลงมาตั้งแต่ 3 เดือนแรก หลายเรื่องต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว หลายเรื่องทำไปตั้งแต่เดือนแรกที่จัดตั้งรัฐบาลได้ เช่น เรื่องการลดรายจ่าย แต่หลายเรื่องก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม

แต่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กน้อยที่งงว่าสามารถนำมาเคลมได้ด้วยหรือ หรือผลงาน 6 เดือนแรกที่พบว่ามีการผลิตซ้ำกับผลงานเมื่อ 3 เดือนก่อน ที่เพิ่มมาก็มีบางเรื่อง เช่น การปราบหมูเถื่อน ยางพาราทะลุ 80 บาท ระยะเวลาจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน แต่ผลงานที่เพิ่มมามีน้อยมาก เช่น เรื่องการขยายโอกาสที่สามารถตัดทิ้งได้เลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีแบบพาร์ตไทม์หรือไม่ แต่อีกส่วนหนึ่งของเวลานำไปใช้เป็นเซลส์แมนของประเทศไทยหรือไม่ จึงทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์ ในรอบ 6 เดือนจึงทำให้มีผลงานน้อยมาก

สิ่งที่เราเฝ้ารอคือการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับไม่เห็น เช่น เรื่องมาตรการลดรายจ่ายทั้งหมดที่กำลังทยอยหมดอายุ ซึ่งประชาชนก็เฝ้าถามว่าค่าไฟ 3.99 บาทก็เริ่มหมดอายุแล้วจะใส่มาทำไม เพราะทุกวันนี้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และเดือนพฤษภาคมก็เป็นเดือนแรกที่เราต้องจ่ายคืนหนี้ กฟผ. การลดภาษีสรรพสามิตที่หมดอายุไปแล้วตั้งแต่ 31 มกราคมไปแล้ว

หรือนี่จะเป็นการลดค่าครองชีพแบบชั่วคราวโดยยังไม่มีการแก้ปัญหาแบบระยะยาวตามมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ท่านมีมาตรการลดรายจ่ายเช่นนี้มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องกองทุนน้ำมันฯที่ต้องทำหน้าที่เดอะแบกที่ขณะนี้ติดลบไปแล้ว หากจะกู้เพิ่มก็เชื่อว่าไม่มีธนาคารไหนที่จะกล้าให้กู้แล้ว

Advertisment

คำถามคือท่านจะมีวิธีการจัดการอย่างไรกับสถานะของกองทุนน้ำมันฯ จะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขยายวงเงินกู้ยืมให้กับกองทุนน้ำมันฯหรือไม่ แล้วเราจะมีพื้นที่ทางการคลังเหลือเพียงพอหรือไม่ เพราะการที่เราให้กองทุนน้ำมันฯกู้ แล้วกองทุนน้ำมันฯกู้นั้นจะกลายเป็นหนี้สาธารณะเมื่อท่านจำเป็นต้องกันพื้นที่นั้นไว้สำหรับทำดิจิทัลวอลเลต

ดิจิทัลวอลเลต รักษาไม่ได้ทุกโรค

หากท่านจะบอกว่ายอดกำลังซื้อ ก็ดีเลยเพราะเหมาะที่จะทำดิจิทัลวอลเลต แต่ดิจิทัลวอลเลตไม่ใช่ 30 บาทที่จะรักษาทุกโรคได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วท่านควรจะทำตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่เพิ่งมาทำหรือมาทำในอีก 6 เดือนข้างหน้า จึงขอถามว่าภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ในเมื่องบประมาณออกมาแล้วเราจะได้เห็นมาตรการอะไรที่จะมาช่วยพยุงกำลังซื้อในระยะสั้นของประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เพราะในขณะที่เรามีงบฯไปพลางก่อน ท่านอาจจะบอกว่าเป็นเงินเดือนของข้าราชการหรือการลงทุนอะไรก็ตาม แต่หากเราไปดูในส่วนของงบฯกลางจะพบว่าท่านมีอำนาจที่จะใช้เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจในระยะสั้นได้

แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมากแค่ไหน อย่างน้อยเราก็โชคดีที่เราไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะรัฐบาลเลิกพูดแล้วว่าประเทศเราเริ่มเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าที่เราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ไม่ได้เกิดจากการที่พระสยามเทวาธิราชมาปกป้องคุ้มครองเรา

“แต่เกิดจากหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อว่าคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ที่มาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้กับเรา โดยการออกรายงานมาหนึ่งฉบับเพื่อเป่ากระหม่อมบอกว่าไม่มีวิกฤต หลังจากนั้นรัฐบาลก็เลิกพูดว่าประเทศเรามีวิกฤตเศรษฐกิจทันที เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการที่เราประโคมข่าวว่าประเทศเรามีวิกฤตเป็นเพียงแค่จะได้ใช้กลไกพิเศษนั่นคือการกู้เงินเท่านั้นเอง”

Advertisment

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า หากเราพูดเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโดยไม่พูดถึงเรื่องดิจิทัลวอลเลตไม่ได้ ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหานี้ ล่าสุดที่มีความคืบหน้า แต่ครั้งนี้เป็นการแก้ไขรายละเอียดเรื่องที่มาของเงินเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ซึ่งรัฐบาลยิ่งแถลงก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ โดยครั้งนี้เราก็พบว่ามีการใช้แหล่งที่มาของเงินถึง 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นงบฯกลางของปี 67, การเบ่งงบฯปี 68 และกู้ ธ.ก.ส.

อย่างไรก็ตาม เราต้องลุ้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรอบที่ 6 หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขรายละเอียดอื่น ๆ อีก และเอาใจช่วยให้ทำระบบที่จะใช้กับโครงการนี้เสร็จภายในไตรมาส 4 ของปี 67 หรือไม่ แต่ไม่เป็นอะไรหากไม่เสร็จก็เลื่อนได้อีก ทั้งนี้ ตนคิดว่ารัฐบาลจะเบ่งงบฯ 68 มาทำโครงการดิจิทัลวอลเลตเยอะกว่านี้และคิดว่าจะมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมด้วย เพราะเท่าที่ดูก็ไม่น่าจะพอ ส่วนงบฯกลางปี 67 นั้น

จริง ๆ รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี หรืองบฯกลางปีขึ้นมาได้ โดยการกู้เพิ่มหรือกู้ชดเชยขาดดุลเต็มเพดานอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท หากท่านงงว่าออกงบฯกลางปี 67 แล้วจะไปใช้ปี 68 ได้อย่างไร ก็จะมีทริกอยู่ว่าให้นำไปใส่ในกองทุนเนื่องจากไม่ต้องส่งคืนคลัง เอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถกู้ ธ.ก.ส.มาใช้ก่อนได้ ซึ่งตนก็ยังรอคำตอบในเรื่องนี้ว่าตนจะเดาถูกหรือไม่

“ต้องบอกว่าเป็นความพยายามที่เรียกได้ว่าเลือดเข้าตาแล้ว จากเดิมที่พายเรือในอ่างก็ไปเริ่มที่ศูนย์ วันนี้เรากำลังออกทะเลไปไกลแล้ว เพราะมูลค่า 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ต้องบอกว่ามาจากการกู้ กู้ และกู้อยู่ดี เพียงแค่จะเป็นการกู้ที่ทำให้ถูกกฎหมายได้ และที่ยังกังวลกันอยู่คือเรื่องของระบบแต่ก็ยังมีเวลาที่ท่านจะไปสะสางปัญหาว่าจะโอนอย่างไร”

“ต้องยอมรับว่าค่อนข้างเละเทะ จากการที่จะต้องเปลี่ยนแหล่งเงินไปมาประมาณ 5 ครั้ง ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบที่ 6 หรือไม่ มีการเลื่อนการแจกอย่างน้อยมาแล้ว 4 ครั้ง มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นที่ใช้ เปลี่ยนเรื่องจำนวนคนตลอดเวลา มันทำให้ชวนคิดเขาว่าสรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่หรือไม่ เรื่องความรู้ความเข้าใจการคลังทำให้ดิฉันตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายเช่นนี้มาได้ และการที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใด ๆ มาตั้งแต่เริ่มต้น ถึงต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ เช่นนี้ แล้วท่านก็ขยันแถลงมาก เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าอาทิตย์เดียว แถลงไปถึง 2 ครั้งโดยที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน”

น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ประเทศได้รับความเสียหาย เพราะโมเมนตัมหรือพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่ท่านอยากให้เกิดขึ้น ก็จะไม่เกิด เนื่องจากต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน จึงเป็นปัญหาที่ตนคิดว่าไม่ใช่เป็นเพราะนโยบายใดนโยบายหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว ในฐานะที่ท่านบอกว่าจะอาสามาเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน แต่ตอนนี้ทำได้ไม่กี่นโยบายก็นิ่งสนิท แล้วยังต้องให้ประชาชนรออีกจนถึงไตรมาส 4 โดยที่ยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

เดาดิจิทัลวอลเลตผิด…หน้าแตก

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า ยินดีน้อมรับข้อติติง ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ แต่สิ่งที่รัฐบาลได้ทำอยู่เป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการและเดินหน้าแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นเด็กเข้าสอบจะตัดเกรดตั้งแต่วันที่ 2 วันที่ 3 เป็นไปไม่ได้ ต้องรอให้จบภาคการศึกษาก่อน ซึ่งการจบภาคการศึกษาของรัฐบาลก็ครบ 3 ปี แต่การตรวจสอบการทำงานเป็นระยะอย่างนี้ พวกตนยินดีเพราะเป็นประโยชน์ เชื่อว่าเมื่อครบวาระของรัฐบาลชุดนี้ แล้วมาตัดเกรดกันอีกทีก็หวังว่าจะได้เกรดเอ จะได้เอาการบ้านไปส่งผู้ปกครองคือพี่น้องประชาชน

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามเรื่องดิจิทัลวอลเลตว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริงในหลายมิติ ทั้งเรื่องจำนวนคนเข้าสู่โครงการ เรื่องกลไกรายละเอียด รวมถึงแหล่งเงิน ซึ่งการเปลี่ยนทุกครั้งไม่ใช่สิ่งที่พวกตนอยากเปลี่ยน แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงตามข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่ทำให้กลไกสามารถเดินหน้าและเป็นประโยชน์ได้

แต่เราไม่ได้เปลี่ยน 5-6 ครั้ง หลายครั้งที่ท่านเขียนมาในรายงานที่นำเสนอต่อสภา บางอย่างก็เป็นสิ่งซึ่งท่านผู้อภิปรายก็เป็นผู้คาดเดา แต่ไม่ได้มีการออกมาจากคณะกรรมการ ไม่ได้มีการออกจากนายกฯหรือตน ทำให้สับสนบ้าง แต่ทุกคนก็เป็นห่วง

“ขอขอบคุณในกำลังใจที่อยากให้โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลตเดินหน้าได้ ผมก็หวังเช่นเดียวกัน แต่อยากให้ลดการคาดเดาลง เพราะอีกเพียงแค่ไม่กี่วันก็ถึง 10 เมษายน แต่วันนี้ยังพูดไม่ได้เพราะกลไกลทางกฎหมายจำเป็นจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ผมมาพูดวันนี้ก็เท่ากับผมชี้นำโดยไม่ถูกขั้นตอน ดังนั้นขอให้รออีกไม่นาน ไม่อยากให้คาดเดาไปต่าง ๆ นานา ผิดมาก็มีหน้าแตกอีก ขอให้รอมติให้ชัดเจนแล้วมาแถลงทุกอย่างจะสมบูรณ์ ยืนยันว่านโยบายนี้ตรวจสอบเข้มข้นแม้ยังไม่ได้แจกเงินให้ประชาชน”