มรดกรัฐประหาร-ปฎิวัติ ศก. พิมพ์เขียววาระแห่งชาติ 20 ปี

หนึ่งใน “มรดกการเมือง” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ “ยุทธศาสตร์ชาติ”

 

“ยุทธศาสตร์ชาติ” คือกลไกที่วางแนวทางการบริหารประเทศนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ 2561-2580 เป็นแผนที่นักการเมือง นักวิชาการรัฐศาสตร์ต่างร้องยี้ แต่ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยว่า เป็นความภูมิใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

“เหตุผลที่ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใหม่เข้ามาจะประกาศยกเลิกโครงการของรัฐบาลที่แล้ว เพราะกลัวรัฐบาลที่แล้วได้หน้า จึงต้องคิดนโยบายของตัวเอง พอเกิดแบบนี้บ่อย ๆ ประเทศไปไม่ถึงไหน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์”

“แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2562 แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติยังเดินหน้าต่อ เพราะประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญมีความมั่นคงถาวรพอสมควร”

ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งผ่านการเห็นชอบของ “พล.อ.ประยุทธ์” และจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อ่าน “ทบทวน” อีก 1 รอบ

6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพ ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหาร

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ด้านที่เป็น “หัวใจ” คสช.ภูมิใจเสนอว่าเป็น “นวัตกรรม” ที่ขับเคลื่อนประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ให้ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วคือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ด้านใหญ่ 1.ด้านการเกษตรสร้างมูลค่า ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและการค้า สินค้าเกษตรในเวทีโลกด้วยพื้นฐานทางพืชเกษตรเขตร้อน

2.อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ต้องพร้อมรับมือและสร้างโอกาสจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ให้มีอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร ใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และบริการ สร้างศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค พัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง

3.เป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก รักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก เพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง ขยายการท่องเที่ยวและภูมิภาคไปพร้อมกัน

และ 4.โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทยเชื่อมโลก เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

“ดนุชา พิชยนันท์” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า “การแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติสามารถทำได้ หากรัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ สามารถเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปรับเปลี่ยน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ ถ้าในอนาคตมีการเปลี่ยนรัฐบาลไม่ใช่รัฐบาล คสช. นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน”

ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ถูกฉีก เราจะอยู่กับยุทธศาสตร์ชาติไป 20 ปี