เปิด 5 ขั้นตอนขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ‘ยิ่งลักษณ์’ ต้นทาง-ปลายทาง ติง ‘วิษณุ’ ปูดอังกฤษขอมา เป็นไปไม่ได้ !!

จากกรณี รัฐบาลไทย เดินเรื่อง ดำเนินการขอตัว อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้น

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม มีรายงานขั้นตอนการขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดน กรณี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทยเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว  ว่า

“ตามหลักเกณฑ์การขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดนตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามเเดนขั้นตอนต่างๆโดยเริ่มตั้งแต่
1. สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ จะต้องเป็นผู้สืบสวนเเละชี้เบาะเเสหรือพิกัดถิ่นพำนักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งมายัง สำนักงานอัยการต่างประเทศในนามอัยการสูงสุด
2.สำนักงานอัยการต่างประเทศในนามอัยการสูงสุด เป็นผู้ประสานงานทำเรื่องร่างคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทย
3.กระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ)
4.กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจะต้องส่งเรื่องไปยัง ผู้ประสานงานกลางของประเทศอังกฤษซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ในที่นี้จะเป็นกระทรวงมหาดไทยของประเทศอังกฤษจะเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาคำร้องขอ ตามขั้นตอนเเล้วในกรณีที่
5.หาก กระทรวงมหาดไทยของประเทศอังกฤษ พิจารณาไปเเล้วเบื้องต้นว่ามีมูลก็จะทำการจับตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาก่อนเพื่อไต่สวน เเต่ถ้าทางกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ พิจารณาเบื้องต้นว่าไม่มีมูล ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการจับกุมมาไต่สวนเเต่อย่างใด”

สำหรับกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ระบุว่าการขอตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้เป็นไปตามการเรียกร้องทาบทามของทางการอังกฤษ นั้น ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม มีการตั้งข้อสังเกตุและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

แหล่งข่าวนักวิชาการด้านกฎหมาย  กล่าวว่า ประเด็น ที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าการยื่นขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามเเดน น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นมาจากทางการอังกฤษต้องการเเละทาบทามมา ในข้อเท็จจริงไม่น่าที่จะเป็นไปได้ เพราะมีเเต่เสียหาย ในการเข้ามายุ่งเรื่องการเมืองกิจการในประเทศอื่น  การออกมาให้ข้อมูลนี้อาจจะเป็นการคุยกันภายใน เป็นความเห็นของคนบางคน ไม่ใช่ทางการ และไม่ควรพูด

“เรื่องที่นายวิษณุพูดมาไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการที่น่าเชื่อถือ ถ้าเป็นความจริงก็ควรจะมีหนังสือเป็นหลักฐานไม่ใช่เอาอะไรมาพูด ถึงประเทศอังกฤษเองก็อาจที่จะมีสิทธิให้คำเเนะนำ เเต่ปกติทางการอังกฤษหรือต่างประเทศจะไม่ทำ เขาจะไม่ยุ่งกับกิจการการเมืองภายใน” แหล่งข่าวแวดวงกฎหมายกล่าว และว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีที่ประเทศปลายทางจะตั้งเรื่องขอให้ประเทศไทยยื่นคำขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดนเข้ามาก่อน การที่นายวิษณุอ้างว่าอังกฤษทาบทามขอให้เราส่งคำร้องขอผู้ร้ายข้ามเเดนไป หากเป็นเรื่องจริงจะถือว่าผิดปกติ จนมีการมองว่าการออกมาระบุเเบบนี้เป็นเพียงการสร้างความน่าเชื่อถือเเละความชอบธรรมในเรื่องการขอส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่านั้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์