36 สนช.ตั้งท่าถอนแก้กม.กกต. ให้ชุดใหม่ทำงาน ยันไม่มีเจตนาทำอะไรกระทบโรดแมป

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดใหม่ 5 คนได้รับการโปรดเกล้าฯลงมาเรียบร้อยแล้วว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่กกต.ชุดใหม่จะมาทำหน้าที่ต่อจากชุดเก่า และขอชื่นชม กกต.ชุดเก่าที่ทำงานมาอย่างดีตลอด ส่วนการจะถอนร่างเสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.หรือไม่นั้น ขอรอดูการทำหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่จะแก้ปัญหาเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งได้หรือไม่ ถ้าแก้ปัญหาได้เป็นที่น่าพอใจ ก็จะหารือกับคณะสนช.ที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้ง 36 คน จะดำเนินการถอนร่างกฎหมายหรือไม่ เพราะถือว่าหมดความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมาย แต่หาก กกต.ชุดใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะเดินหน้าเสนอแก้ไขกฎหมายต่อไป โดยยืนยันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มขณะนี้ถือว่าคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ต้องติดตามต่อไปว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่ สนช.เป็นห่วงได้หรือไม่

“ผมยืนยันว่า สิ่งที่ สนช.36 คน เสนอแก้ไข พ.ร.ป.กกต.นั้น มิได้มีเจตนาก้าวล่วง กกต.ชุดเก่าและชุดใหม่ ไม่มีวัตถุประสงค์ให้กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ขอร้องให้พวกที่ชอบมโนจะกระทบเงื่อนเวลาเลือกตั้งให้หยุดมโน เลิกใส่ความ สนช.ได้แล้ว ไม่เข้าใจว่า สิ่งที่พวกตนดำเนินการไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทำให้มีการปั่นคะแนนการแสดงความเห็นการแก้กฎหมายลูก กกต.จำนวนนับแสนคะแนน ทั้งที่ทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์” นายมหรรณพ กล่าว

ด้าน นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า หลังจากมีการโปรดเกล้าฯกกต. ชุดใหม่ 5 คนแล้ว คิดว่า น่าจะเป็นหน้าที่ กกต.ชุดใหม่มาพิจารณาตรวจสอบผู้ผ่านการสรรหาให้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง 616 คน ส่วนการเสนอแก้ไข พ.ร.ป.กกต.เกี่ยวกับการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง ของสนช.36 คนนั้น คงต้องรอให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 18 สิงหาคมนี้ จากนั้นวิปสนช.จะหารือกับนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช.ในฐานะผู้เสนอแก้ไขกฎหมายต่อไป แนวทางของวิปสนช.ที่จะพิจารณาร่วม โดยนายมหรรณพและผู้เสนอแก้ไขกฎหมาย โดยมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ถ้าคณะผู้เสนอแก้ไขกฎหมายเห็นว่า เมื่อมี กกต.ชุดใหม่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ดำเนินการ ก็อาจชะลอการเสนอแก้ไขกฎหมายไปก่อน 2.ถ้าเห็นว่ายังควรเสนอร่างกฎหมายอยู่ ตามขั้นตอนจะต้องพิจารณาว่าได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนตามมาตรา 77 หรือไม่ ถ้ายังไม่ครบอาจขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือถ้าดำเนินการตามมาตรา 77 ครบถ้วนแล้ว วิป สนช.จะตรวจสอบความครบถ้วนของการปฏิบัติตามมาตรา 77 อีกครั้ง และ 3.อาจจะทำเป็นรายงานข้อสังเกต ข้อเสนอแนะแทนการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้รัฐสภาชุดใหม่รับไปพิจารณาต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์