“บิ๊กตู่” คอนเฟิร์ม​เลือกตั้ง​ 24​ ก.พ.​- ปลดล็อกภายใน 2 ม.ค. ประกาศ​ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง​ คิกออฟหาเสียง

เมื่อเวลา 13.00 น.​ วันที่​ 7​ ธันวาคม​ ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานการประชุมชี้แจงแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป มีตัวแทนจากส่วนต่างๆ ประกอบด้วย คสช.​ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือก(กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง​นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รอง​นายก​รัฐมนตรี​ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.​และ​พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. นายศุภชัย​ ยาวะประภาษ​ กรธ.

ด้านตัวแทนพรรคการเมือง จากพรรคต่างๆ​ 75 พรรค อาทิ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)​ นำโดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค นายวิเชียร เชาวลิต นายทะเบียนพรรค พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.)​ นำโดย นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค​ พรรคภูมิใจไทย(ภท.)​ นำโดย นายสรอรรถ กลิ่นประทุม กรรมการบริหาร​พรรค​ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิก​พรรค พรรคชาติพัฒนา (ชพน.)​ นำโดย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค พล.อ.ฐิติวัฒน์ กำลังเอก รองหัวหน้าพรรค พรรคพลังชล นำโดย นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรค พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.)​ นำโดย นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค พรรคเกียน นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรค

ทั้งนี้​ การหารือดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่​ 53/2560 ที่ก​ำหนดให้คสช.ต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม​ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมหารือเป็นพรรคขนาดเล็กและขนาดกลาง​ ขณะที่พรรคเพื่อไทย(พท.)​ พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.)​ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)​ ปฏิเสธเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าการหารือครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปภายในอาคารและห้องประชุม​ มีเพียงอนุญาตให้ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพช่วงต้นของการหารือเท่านั้น​ อย่างไรก็ตาม​ ผู้เข้าร่วมหารือสามารถนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องประชุมได้​ แตกต่างจากการหารือครั้งแรกที่ไม่สามารถนำเข้าไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ ก่อนเริ่มการหารือ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ นำกลุ่มปฎิรูปการเมือง 20​ พรรค ยื่นหนังสือถึงนายกฯเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกผู้แทนพรรคประจำจังหวัด เนื่องจากไม่ต้องมีการทำไพรมารีโหวตแล้ว พร้อมกับขอให้ออกคำสั่งให้กกต.จัดพิมพ์โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งให้ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น​ ในการประชุมจัดทำแผน ขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ได้จัดที่นั่ง​ 6 คน ได้แก่​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายวิษณุ เครืองาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายอิทธิพร บุญประคอง​ และนายศุภชัย ยาวะประภาษ

โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเริ่มการประชุมว่า ในการพบกันระหว่างพรรคการเมืองและแม่น้ำ 5 สายวันนี้ เนื่องด้วยคสช.และรัฐบาล มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความปลอดภัย ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยความสงบเรียบร้อยในช่วงต่อจากนี้เป็นต้นไป รวมถึงที่ผ่านมาด้วยตลอด 4 ปี การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ครั้งแรก พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)​ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จัดให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อหารือ จัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมขอบคุณทุกคนที่ให้เกียรติมาร่วมประชุมในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกของการเดินหน้ากลับสู่การเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ในการสร้างการรับรู้ ความมั่นใจ และความเข้าใจ ในแต่ละฝ่ายที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป​ ถือเป็นการสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง ขอให้เป็นการหารือกันฉันมิตร เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างหนึ่ง หลายพรรคประกาศและให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีจะมาร่วมวันนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความตั้งใจที่จะช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย ส่วนบางพรรคการเมืองที่ประกาศว่าไม่เข้าร่วมประชุม ก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง ว่าเข้าใจอะไรถ่องแท้แล้วถึงไม่มา หรือตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่ร่วมมือกับทุกภาคส่วน

จากนั้นนายวิษณุ ชี้แจงว่า โรดแมปทางการเมืองตามที่รัฐบาลเคยชี้แจงให้กับที่ประชุมรับทราบ​ ในเดือนธันวาคม​ 2561 ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง​ จะปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมือง คำสั่งและประกาศคสช. จำนวน​ 9 ฉบับ (ยกเว้นในข้อที่ไม่เกี่ยวกับการทำกิจกรรม) และในวันที่​ 20​ ธันวาคม​นี้ กกต.จะประกาศใช้ระเบียบการเลือกตั้งส.ส. จากนั้นวันที่ 28 ธันวาคม​ รัฐบาลจะหยุดเสนอร่างพ.ร.บ.ให้กับสนช.

ส่วนเดือนมกราคม​ 2562 ในวันที่​ 2 มกราคม​ ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้หาเสียงได้ วันที่​ 4 มกราคม​กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครส.ส.​ จำนวนส.ส.แต่ละจังหวัด เขตเลือกตั้ง​ สถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ​ และในระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม​ 2562 เปิดรับสมัครส.ส.​ จำนวนและให้แจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกฯ วันที่ 25 มกราคม​ 2562​ ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค

สำหรับเดือนกุมภาพันธ์​ 2562​ ในวันที่​ 4-16 กุมภาพันธ์​ เป็นวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และกำหนดวันที่​ 15​ กุมภาพันธ์​ หยุดการพิจารณากฎหมาย จากนั้นที่ 17 กุมภาพันธ์​เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า​ และวันที่ 24 กุมภาพันธ์​เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป​ (ตามข้อเสนอของ​ กกต.)​

ขณะที่เดือนเมษายน​ 2562 ในวันที่​ 25​ เมษายน​ เป็นวันสุดท้ายของการประกาศผลการเลือกตั้ง และในวันที่ 28 เมษายน เป็นวันสุดท้ายที่คสช. จะคัดเลือกส.ว.250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายและประกาศแต่งตั้งต่อไป

จากนั้นในวันที่​ 9​ พฤษภาคม​ จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ตั้ง ครม.และครม.ถวายสัตย์ฯ ซึ่ง ครม.และคสช. จะพ้นจากตำแหน่ง และครม.ใหม่แถลงนโยบาย(ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันถวายสัตย์ฯ)

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์