“กรณ์-จุติ-องอาจ” ประสานเสียงอย่าเลือกด้วยอารมณ์-ให้เลือกที่นโยบาย ย้ำจุดยืน ปชป.ต้องเป็นแกนนำรัฐบาลเท่านั้น

“กรณ์-จุติ-องอาจ” ประสานเสียงอย่าเลือกด้วยอารมณ์-ให้เลือกที่นโยบาย ย้ำจุดยืน ปชป.ต้องเป็นแกนนำรัฐบาลเท่านั้น ซัด พปชร.นโยบายเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ บี้แจงที่มาของเงินทำนโยบาย

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ ประธานกรรมการนโยบาย นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการ ปชป. และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้า ปชป. ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงถึงเหตุผลที่ ปชป. ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นายจุติกล่าวว่า ขอให้เลือกพรรคที่พร้อมที่สุดที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของประชาชน ปากท้อง หนี้ครัวเรือน รายได้ครัวเรือน ภาษีเป็นธรรมหรือไม่ และ ปชป.มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ และทำงานมาโดยตลอด 200 กว่าสัปดาห์ 5 ปีก่อนจะถึงวันนี้ โดยทำบนความถูกต้อง ไม่ทำให้ประเทศเสียหาย พร้อมเตือนประชาชนอย่าเลือกตั้งด้วยอารมณ์ แต่ให้เลือกด้วยประเด็นนโยบาย

ด้านนายกรณ์กล่าวว่า ปชป.ลงพื้นที่ทํางานด้านนโยบายมาตลอด 5 ปีที่มีรัฐบาลจากรัฐประหาร ทั้งการลงพื้นที่ทําจริง เก็บข้อมูล ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ จากนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้าน จนขมวดรวมเป็นชุดนโยบาย “แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ” สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด โดยแยกรายละเอียดในแต่ละชุดอย่างเป็นระบบ

นายกรณ์กล่าวย้ำถึงจุดยืนว่า ชุดนโยบายนี้จะถูกนําไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติมากที่สุดคือการที่ ปชป.จะต้องเป็นแกนนํารัฐบาลเท่านั้น จากการพิจารณาจากอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย (พท.) และหลักคิดทางนโยบายต่างๆ รวมไปถึงประวัติในการบริหารประเทศ แล้วพบว่า ไม่สามารถร่วมรัฐบาลกันได้อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยสุจริต และชัดเจนว่า ไม่ได้ยึดประชาชนเป็นใหญ่ ตัวอย่างเช่นมีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และอีกหลายนโยบายที่สวนทางกับนโยบายของ ปชป.ส่วนในประเด็นแนวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น มีหลายข้อที่เรามองว่านโยบาย ปชป.ของเราตอบโจทย์ความต้องการประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่า

นายกรณ์กล่าวว่า พปชร.ตลอดมาได้เน้นนโยบายที่ส่งเสริมทุนใหญ่ ล่าสุดความพยายามที่จะเร่งรัดการประมูลดิวตี้ฟรี ในวิธีการที่จะคงไว้ซึ่งสิทธิผูกขาดของผู้ประกอบการ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่ารัฐบาลละเลยการรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนและบ้านเมือง

“ปชป.มองว่าประชาชนทั่วไปในระดับฐานราก และชนชั้นกลางถูกละเลยมานาน นโยบาย ปชป.จึงเน้นคนวัยทํางาน และผู้มีรายได้น้อย เราไม่ขายแต่ GDP เราชูดัชนี ‘ปิติ’ (PITI) ซึ่งเป็นการวัดการพัฒนาที่เป็นตัววัดความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง เราเน้นการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เก็บภาษีเศรษฐี ดูแลคนรายได้ปานกลาง และให้สวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ พปชร.ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% ทุกกลุ่มแต่คนรวยได้ประโยชน์สูงสุด ปชป.ไม่ลดคนรวยชัดเจน เพื่อไทย ลดนิติบุคคลเอื้อทุนใหญ่มาแล้วรอบหนึ่งจาก 30 เป็น 20% และบอกจะลดอีก เราเห็นต่างเราจะบี้เพิ่มกับนิติบุคคลที่เป็นธุรกิจผูกขาด ในแง่นิติบุคคล ปชป.ชัดเจนว่า ลดให้เฉพาะ SMEs เท่านั้น”

นายกรณ์กล่าวว่า ในด้านของราคาสินค้าเกษตรนั้น ในช่วงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันตกตํ่า สะท้อนปัญหาปากท้องในเศรษฐกิจฐานราก และนโยบายเกษตรที่ประกาศออกมา คือหลักการ “จํานํา” ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายที่เคยเกิดขึ้น ขณะที่ ปชป.ชู ประกันรายได้เกษตร ไม่ต้องการบิดเบือนกลไกตลาด ปิดจุดรั่วไหล และมีนโยบายสร้างชาติด้านเกษตร ปฏิรูปเขียว ดันราคาตลาดให้สูงขึ้นโดยไม่เป็นภาระงบประมาณ นอกจากนี้ปชป.ออกสวัสดิการพื้นฐานดูแลทารก ปฐมวัยด้วยหลักคิดจากนักวิจัย และนักเศรษฐศาสตร์โนเบล เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน แต่ พปชร.ประกาศนโยบายมารดาประชารัฐโดยจงใจบลัฟตัวเลข หลักคิดแบบนี้สุ่มเสี่ยง และไม่ควรเป็นแกนนํารัฐบาล

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นพรรคใด โดยเฉพาะ พปชร.ชี้แจงตัวเลขเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในแต่ละนโยบาย ซึ่ง กกต.ก็มีการกำหนดไว้ว่า ต้องเปิดเผยแค่ไหนอย่างไรบ้าง ทั้งตัวเลขที่จะใช้ในแต่ละนโยบายและที่มาของแหล่งเงิน หากหาเสียงแล้วทำไม่ได้ หรือใช้งบประมาณจนเป็นปัญหาต่อประเทศ ก็อาจนำมาซึ่งต้นเหตุแห่งความขัดแย้งใหม่ได้อีก”

นายกรณ์ทิ้งท้ายว่า ดังนั้น ชุดนโยบาย แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ต่อประเทศในครั้งนี้ จะถูกผลักดันอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้เลย หาก ปชป.ไม่ได้เป็นแกนนํารัฐบาล