“บิ๊กแดง” เมิน โซเชียลล่ารายชื่อถอดถอน ชี้ทำไม่ได้เพราะไม่ใช่นักการเมือง

“บิ๊กแดง” เมิน ชาวเน็ตล่าชื่อถอดถอน ด้านโฆษก ทบ. ดึง สติสังคม ชี้ เป็นการ ปลุกกระแส ทำเกิดแตกแยก ไร้ประโยชน์-ไม่สร้างสรรค์ ระบุคนตั้งหัวข้อ ต้องรับผิดชอบ

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 4 เม.ย.ที่กองบัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก พร้อม พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ถึงกรณี การล่ารายชื่อ ผ่านเว็บไซต์ Change.org ถอดถอน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งทางโซเชียลมีเดีย แสดงออกถึงความไม่พอใจ หรือบางคนอาจจะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งก็ได้ สังคมต้องพิจารณา เพราะปกติแล้วเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นจะเป็นประเด็นใดขึ้นมาจะพูดคุยกันด้วยเนื้อหาสาระเป็นหลัก ไม่ใช่ไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียว คิดว่าสังคมคงเข้าใจ

เมื่อถามว่า การล่ารายชื่อถอดถอน ผบ.ทบ.ในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในแง่ของความรู้สึกเช่นเดียวกับ การล่ารายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เพราะเกิดข้อกังวลสงสัย ไม่มั่นใจสิ่งใดหรือเรื่องที่คิดว่าไม่ดีต่อส่วนรวม ทั้งนี้ประเทศมีช่องทางดำเนินการอยู่แล้ว หากคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ มีการทุจริต ก็ไปยื่นร้องเรียนตามกลไก จากนั้นเป็นขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานและไปพิสูจน์หากมีมูล ก็ลงโทษทางคดีอาญา ซึ่งเป็นช่องทางที่จับต้องได้จริง

เมื่อถามว่า ฝ่ายกฎหมายติดตามเว็บไซต์มีการล่ารายชื่อถอดถอนผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ยังมีรายละเอียดไม่เพียงพอถ้าการพาดพิง หมิ่นประมาท ไม่ว่าบุคคล หรือองค์กร ที่มีพยานหลักฐานก็เข้าสู่กระบวนการ ยืนยันว่า การนำเรื่องต่างๆเข้าสู่กระบวนการเป็นสากลจะตอบโจทย์สังคมได้ดีกว่า และผู้ถูกกล่าวหาสามารถใช้ช่องทางนี้ ยืนยันความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นกระบวนการหลักสากลอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ทหารรู้สึกอย่างไรบ้าง พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เราให้ความสำคัญเรื่องอะไรที่เป็นข้อเท็จจริง แต่การใช้โซเชียลมีเดียโฆษณาชวนเชื่อ เนื้อหาไม่สามารถพิสูจน์ได้ ยืนยันว่ากองทัพให้ความสำคัญ 2 กรณี คือ 1.หากถูกพาดพิงไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับบัญชา กำลังพล องค์กร จะต้องทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรายึดหลักหนักแน่นกับข้อเท็จจริงและข้อพิสูจน์ที่พิสูจน์ได้ และ 2.ใช้ช่องทางกระบวนการตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้น กองทัพหวั่นไหวหรือไม่ที่มีการล่ารายชื่อถอดถอน ผบ. ทบ.พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ไม่ได้เหนือความคาดหมายในสิ่งที่ได้ประเมินไว้ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2557 เราผ่านเรื่องราวในลักษณะเช่นนี้ บางกลุ่มยังมีพฤติกรรมไม่ต่างอดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ต้องทำความเข้าใจขอความร่วมมือ

เมื่อถามว่า ประเมินหรือไม่ เพราะเหตุใด มีการล่ารายชื่อ หลังจาก ผบ.ทบ .แสดงจุดยืนลดความขัดแย้ง พ.อ.วินธัย กล่าวว่า สิ่งที่ ผบ.ทบ.แถลงนั้น เป็นการบอกกล่าวกับสังคมว่าทหารไม่ได้ทำงานการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านยืนยันในฐานะที่เป็นผู้นำหน่วย หากมีจิตใจเป็นธรรมจะมองเห็น และ ท่านยังระบุอีกว่าประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทย และยอมรับว่า โซเชียลมีเดีย มีพลังในสังคมปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง

พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผบ.ทบ.ยังอยากให้ลดการใช้วาทกรรม ตนคิดว่าทางสังคมเองก็เห็นด้วยกับตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนที่ ผบ.ทบ.ได้ระบุใช้ช่องทางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวและเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ถือเป็นช่องทางสากล สำหรับเรื่องการศึกษาและระบอบประชาธิปไตยนั้น ผบ.ทบ.ชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละประเทศมีบริบทและ ประชาธิปไตยที่หลากหลาย

พ.อ.วินธัย ยังกล่าวถึง กรณี ผบ.ทบ.ออกมาระบุ กลุ่มคนมีความคิดซ้ายจัดนั้น อย่าไปเจาะจง แต่ให้ดูที่เจตนารมณ์ การใช้สำนวนแต่ความมุ่งหมายจะมีอยู่ในตัวตนอยากให้มองในตรงจุดนั้นมากกว่า

ด้านพ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า กิจกรรมขอในการชื่อ ขอเสียง ขอโหวต ในบ้านเรามีการใช้โซเชียลมีเดีย ในการดำเนินกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว สิ่งหนึ่งเป็นประเด็นที่เกิดตามธรรมชาติ และเป็นเรื่องของการ set up หรือ การสร้างกระแส เมื่อมีประเด็นของข้อมูล ซึ่งการตั้งหัวข้อที่เป็นการชี้นำ ไม่ใช้ใช้สื่อโซเชียลเพื่อขอความคิดเห็น ซึ่งการตั้งหัวข้อระบุเลยว่า ถอดถอน เอาหรือไม่เอา จะทำให้เกิดความคิดเห็นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเห็นด้วย ส่วนหนึ่งคัดค้านสุดท้ายทั้ง 2 ส่วนจะมาแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ถามว่าได้อะไรขึ้นมา

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่ส สิ่งที่จะได้คือความคิดเห็นที่แตกแยก ได้ใช้วาทกรรม การใช้ความรุนแรง การใช้ความคิดเห็นของตัวเองไปประกอบกับความคิดเห็นอันนั้นจึงทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย ความแตกแยกเกิดขึ้น ลักษณะแบบนี้ไม่สร้างสรรค์ ไม่ได้ทำให้สังคมมีการใช้เหตุและผล บางส่วนเป็นการปลุกกระแสที่คาดหวังว่าให้เป็นอย่างโน้น อย่างนั้น ไม่ใช่วิธีที่คนไทยควรจะเป็น แต่เป็นวิธีที่ถูกสร้างขึ้นและไม่ได้ส่งผลอันดีอันใดต่อประเทศไทย และความสงบเรียบร้อย มีแต่จะทำให้คนแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ลักษณะแบบนี้สื่อก็คงไม่สบายใจที่ได้เห็นการร่วมลงรายชื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะ

“หากเป็นการตั้งหัวข้อล่ารายชื่อเพื่อลดโลกร้อนยังจะสร้างสรรค์มากกว่าและมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ในโซเชียลมีเดียควรจะใช้วิธีเช่นนั้น แต่ถ้า set up หรือ ปลุกกระแส เรื่องนี้ขึ้นก็ต้องมีคนเห็นต่างในเรื่องดังกล่าวก็จะเกิดการกระทบกันทั้งสองส่วน อยากจะฝากด้วยว่าอะไรที่เป็นการตั้งหัวข้อ และไม่เกิดผลประโยชน์สาธารณะ คนที่ตั้งต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตั้งขึ้นมาด้วย และเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้กระบวนการเหล่านี้ ตั้งคนหรือลดคนออกจากระบบ เพราะทุกอย่างมีระบบของตัวเองอยู่แล้ว ว่าใครที่จะดำรงตำแหน่งตรงนี้ หรือใครที่จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง มีระบบกลไกอยู่ ให้ไปดูตรงนั้นมากกว่า”รองโฆษกกองทัพบก กล่าว

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า อยากให้ใช้สติอยากฝากถึงประชาชนที่เข้าไปไปดูหรืออาจไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ขอให้ถอยออกมาและดูประเด็นให้ดีว่าเป็นกระแสจริงๆหรือเป็นกระแสที่ถูกจัดตั้งในช่วงของความหลากหลายข้อมูลข่าวสาร ถ้าเรามีสติและคิดว่าไม่ได้เป็นประเด็นสาธารณะจริงๆก็ถอยออกมา เรายังสามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดียในเรื่องอื่นๆในการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีของประเทศผลงานและการให้กำลังใจก็เป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และจะทำให้ความวุ่นวายต่างๆที่จะเกิดในประเทศในลักษณะแบบนี้หรือในห้วงเวลาอันสำคัญนี้ลดน้อยถอยลงหรือไม่มีเลยน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่า

อย่างไรก็ตามในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ ได้ระบุในที่ประชุมถึงกรณีดังกล่าวว่า “ขอให้ปล่อยไปเถอะ เพราะผมโดนมาเยอะแล้ว และผมก็ไม่ใช่นักการเมือง และในทางกฎหมายผมก็ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้”

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์