ร.10 กษัตริย์นักประชาธิปไตย ในพระราชกรณียกิจ รัฐพิธีเปิดประชุมสภา

รายงานพิเศษ

พระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทย ในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างหนึ่งคือ “รัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร”

หลังการเลือกตั้งทุกครั้ง ก่อนจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะต้องผ่านกระบวนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงจะถือเป็นการเริ่มการประชุมสมัยสามัญทั่วไป โดยพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา

จุดเริ่มต้นรัฐพิธี

“รัฐพิธีประชุมสภา” เริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” ขึ้น และได้เปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2470 จึงเป็นพระราชพิธีอันเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรง

แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง แต่ได้พระราชทานพระราชดำรัสให้เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านในการเปิดประชุม พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมาการปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีราชการมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ” 

ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ได้อาศัยราชประเพณีที่ถือปฏิบัติมาใช้เพื่อการเปิดประชุม โดยรัชกาลที่ 7 รับสั่งให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุม ความว่า

“วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ”

จากนั้นรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ถูกบรรจุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญเรื่อยมา 

เสด็จเปิดสภา 4 ครั้ง

สำหรับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 ครั้ง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 ครั้ง รวม 4 ครั้งครั้งที่ 1 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่ สนช.ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันนี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการกระทำทุกอย่างมีผลผูกพันโดยตรงต่อความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของประเทศชาติ กล่าวคือ ถ้าทุกคนปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง และสมบูรณ์ บริบูรณ์ บ้านเมืองก็จะเจริญมั่นคง ประชาชนก็จะอยู่เย็นเป็นสุขได้ แต่ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง หรือบกพร่อง ล่าช้า บ้านเมืองจะเสื่อมเสียหาย และประชาชนก็จะมีความทุกข์ เดือดร้อน”

“ท่านทั้งหลายเป็นผู้ได้รับการเลือกเฟ้นแต่งตั้งเข้ามาในสภาแห่งนี้ อยู่ในฐานะผู้มีความรู้ ความสามารถอันสูง จึงควรจะได้สำนึกโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นี้ และตั้งเจตนาให้แน่วแน่ที่จะร่วมกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวงโดยเต็มกำลัง สติปัญญา ความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วย เหตุผลอันเที่ยงตรงถูกต้อง และความสมัครสมานสามัคคีกันโดยบริสุทธิ์ใจ ให้งานทุกด้านดำเนินลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า และสำเร็จประโยชน์อันพึงประสงค์ คือ ความผาสุกมั่นคงของประเทศชาติ และประชาชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

ทรงแนะใช้สภาฟื้นฟูชาติ

ครั้งที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 มีพระราชดำรัสแก่ ส.ส. แนะนำให้รัฐสภาฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ และใช้สภาในการอภิปรายแก้ปัญหา แสวงหาความร่วมมือ ปรองดอง

“การเรียกประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ควรจะนับเป็นนิมิตหมายของการเริ่มต้นที่ดี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา นับแต่วาระนี้ไป รัฐสภาจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ”

“ข้าพเจ้าเชื่อใจว่า บรรดาสมาชิกแห่งสภานี้ มีความสำนึกในชาติอยู่ถ้วนทั่วทุกคน และต่างเล็งเห็นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติยังคงมีอยู่ ตามที่ทราบกันแล้ว ภารกิจของท่านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาดำเนินการ เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทุก ๆ ด้าน ให้ประเทศชาติเป็นปึกแผ่น มั่นคง และร่มเย็น เป็นปกติสุข”

“ดังนั้น การปรึกษา ตกลง หรือการอภิปรายปัญหาใด ๆ ที่จะมีขึ้นในสภาแห่งนี้ จึงควรจะได้กระทำด้วยเหตุด้วยผลที่ถูกต้อง และด้วยความร่วมมือ ปรองดองกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึงประสงค์ คือ ความมั่นคงปลอดภัย และความวัฒนาผาสุกของประเทศชาติ และประชาชน เป็นเป้าหมายสูงสุด”

รับผิดชอบ-สุจริตทำให้งานสำเร็จ 

ครั้งที่ 3 เสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมหลังเลือกตั้ง กรกฎาคม 2554 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ภายหลังการเมืองสีเสื้อเหลือง-แดง นอกสภา ทำให้มีคนบาดเจ็บ ล้มตาย พระองค์ทรงขอให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมหารือตามระบอบประชาธิปไตยด้วยความอดทน อดกลั้นเพื่อความผาสุกของประชาชน และเพื่อความสามัคคีปรองดอง

“ควรเป็นที่พึงพอใจทั่วกันที่บัดนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อไปจึงเป็นภาระและความรับผิดชอบโดยตรงของท่านทั้งหลายที่จะต้องร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสภานี้ ให้การปกครองประเทศดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตย เพื่ออำนวยประโยชน์ที่พึงประสงค์คือความเจริญมั่นคงของประเทศและความผาสุกร่มเย็นของประชาชน เชื่อว่าทุกท่านต่างทราบเป็นอย่างดีถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนและมีความสุจริตจริงใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งนั้นให้สำเร็จผลประโยชน์ เป็นประโยชน์ตามที่กล่าว”

“ด้วยความสำนึกโดยตระหนักว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องราวหรือปัญหาใดที่นำมาสู่สภาแห่งนี้จึงควรหวังได้ว่าจะมีการปรึกษาพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบและตกลงกันด้วยเหตุและผลเพื่อความสมัครสมานปรองดอง และความเสียสละอดทนและอดกลั้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะพึงเกิดมีแก่ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ”

ทำหน้าที่เพื่อความสุขปวงชน

และครั้งที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุม สนช. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ และแต่งตั้ง สนช.ขึ้นมา โดยมีพระราชดำรัสให้ สนช.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ตามหลักนิติธรรม ความชอบธรรม

“การเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้ ควรจะนับเป็นนิมิตหมายของการเริ่มต้นที่ดี เพราะตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายจะได้มีโอกาสประชุมปรึกษาหารือกัน ทั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และการบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้การปกครองดำเนินไปตามวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตย และเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศทุก ๆ ด้าน ให้บังเกิดความมั่นคง ปลอดภัย และความวัฒนาผาสุกขึ้นแก่ประเทศชาติและประชาชน”

“บรรดาสมาชิกแห่งสภานี้จึงควรจะได้ตระหนักถึงความสำคัญในภาระหน้าที่ของตน และรีบเร่งพิจารณา ดำเนินการให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและรวดเร็ว จึงขอให้ทุกท่านร่วมแรงร่วมใจ ร่วมความคิดอ่านกัน ปฏิบัติภาระหน้าที่ทั้งนั้นโดยเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริต บริสุทธิ์ใจ ให้งานทุกด้านดำเนินไปอย่างเที่ยงตรง ถูกต้อง ทั้งตามหลักนิติธรรมและเหตุผล ความชอบธรรม ทั้งสำเร็จผล เป็นประโยชน์อันพึงประสงค์ คือ ความผาสุกมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง”