“อภิสิทธิ์” ลาออก ส.ส. สัญญาประชาคม ยิ่งใหญ่กว่ามติประชาธิปัตย์ ไม่พายเรือให้ พปชร.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนที่ 7 ตัดสินใจประกาศลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยการแถลงที่รัฐสภาเมื่อเช้าวันนี้ (5 มิ.ย.62) ที่รัฐสภาชั่วคราว หอประชุม บริษัท ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ ก่อนวาระลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่พรรคปชป.มีมติให้ “สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การสืบทอดอำนาจไม่ใช่วาทกรรม แต่เกิดขึ้นจริงในพฤตการณ์ของการได้มาซึ่ง ส.ว. และองค์กรอิสระ และแอบหวังว่า “คนที่สมาชิก ปชป.เข้าไปพายเรือให้ จะกลับใจทำสิ่งที่ดี และจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และขอโทษประชาชนทุกคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ โดยเข้าใจว่าจะรักษาจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ (กรณีไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) และไม่สามารถเดินเข้าไปในรัฐสภาเพื่อลงมติโหวต พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคคือสัญญาประชาคมกับประชาชนทั้งประเทศ

นายอภิสิทธิ์แถลงว่า ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 ที่ผ่านมา ตนได้แสดงจุดยืนทางการเมืองว่าไม่สนับสนุนที่จะร่วมกับพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การแสดงจุดยืนทางการเมืองในขณะนั้น เป็นการแสดงจุดยืนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจุดยืนที่แถลงเป็นการสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรค และสอดคล้องกับเป้าหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอก่อนการเลือกตั้ง ที่จะต้องการเห็นประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต ซึ่งมั่นใจว่าเป็นทางที่ดีที่สุดกับสถานการณ์ประเทศในขณะนี้

“เมื่อการเลือกตั้งไม่เป็นประสบความสำเร็จ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ถึงแม้ผมจะรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วนั้น มีประชาชนกว่า 4 ล้านเสียง ที่ตัดสินใจลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยทราบจุดยืนที่ตนได้แสดงไว้นั้นเป็นเช่นไร ผมจึงถือโอกาสขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนจุดยืนของตนและพรรคประชาธิตปัตย์ และสำนึกบุญคุณของคนเหล่านี้ตลอดเวลา และเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องทำให้สิ่งที่ให้ประชาชนสนับสนุนตามความเป็นจริง”

อดีตหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวว่า นับตั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตนยังยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าวและพยายามโน้มน้าวบรรดาสมาชิกของพรรคและผู้ที่เกี่ยวข้องกับพรรคแล้ว ที่จะรักษาจุดยืนดังกล่าวไว้ กระทั่งในวันนี้ ตนยังรักษาจุดยืนของตนเช่นเดิม โดยตนมองว่า พฤติกรรม และเหตุการณ์ สิ่งที่ต้องประสบในช่วงของการเลือกตั้ง ในการใช้อำนาจรัฐ การใช้เงิน การได้มาซึ่งคะแนนเสียงด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ ไม่ว่าเป็นการสรรหาวิธีการวุฒิสภา รวมไปถึงการแทรกซึมไปถึงสื่อบางแขนง พฤติกรรมที่สื่ออิสระที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

“การสืบทอดอำนาจไม่ใช่วาทกรรมแต่เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง และเป็นความจริงที่ไม่ได้มีความแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ”

เมื่อพฤติกกรมเป็นเช่นนี้ ตนได้พยายามเป็นอย่างมากในการประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคของวานนี้ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรเลือก เส้นทางอย่างไร ทุกคนทราบเป็นอย่างดีว่าขณะนี้ พรรคมีมติสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและจะเข้าร่วมรัฐบาล แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับมติพรรคดังกล่าว แต่ด้วยความที่ตนเองเคารพเสียงข้างมาก เมื่อมติพรรคเป็นเช่นไร สมาชิกพรรคต้องปฏิบัติตามเช่นนั้น

ทั้งนี้แม้จะไม่เห็นด้วย แต่แอบหวังลึกๆ ว่าสิ่งที่พรรคทำ จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้น รวมไปถึงความตั้งใจของเพื่อนสมาชิก พยายามแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

“ผมยังเสียดายโอกาสพรรคที่เป็นพรรคขนาดกลาง ที่สามารถเป็นขั้วที่สาม ในการสร้างพื้นที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน การทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อะไรที่ดีพรรคก็สามารถสนับสนุนได้ อะไรที่ไม่ดีพรรคพร้อมตรวจสอบ เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจที่เกินขอบขอบเขต เป็นแนวทางในการเสริมสร้างประชาธิปไตย เพื่อไม่เป็นเครื่องมือการแอบอ้างจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการแอบอ้างเป็นประชาธิปไตย”

จึงต้องเรียนกับทุกท่านว่า 1.เมื่อความพยายามของตนไม่สบความสำเร็จ ตนจึงตัดสินใจ อยากกล่าวขอโทษทุกคนคนที่เลือกประชาธิปัตย์ โดยเข้าใจว่าจะรักษาคำพูดและอุดมการณ์ไว้ 2.ในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ ในวาระการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ไม่สามารถทำนอกเหนือจากมติพรรคได้

“ขอบคุณเพื่อนในพรรค ที่เสนอแนวทางต่างๆ กับผม ที่อยากจะช่วยรักษาเกียรติภูมิให้กับตน ด้วยการให้ผมงดออกเสียง ผมคิดว่าพรรคไม่มีหน้าที่ในการรักษาเกียรติภูมิให้ใคร การรักษาเกียรติภูมิเป็นหน้าที่ของผมเอง”

เขากล่าวต่อไปว่า ถึงวันนี้เหลือทางเดียวเพื่อจะรักษาเกียรติภูมิ ไม่เฉพาะของตัวเขา แต่เกียรติภูมิในตำแหน่งหัวหน้า ปชป. พรรคที่มีคำขวัญว่า “‎สจฺจํเว อมตา วาจา” ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน

“คานธีเคยส่งจดหมายให้กับหลานครับ พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั่นได้ ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” อภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย