“ประยุทธ์” ย้ำไทยให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน บอก “อย่าลืมคำว่าหน้าที่ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งก็ไม่หมด”

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 11 กันยายน ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษเตรียมความพร้อมก่อนการประกาศวาระแห่งชาติภายใต้หัวข้อสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายกฯกล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นทั่วโลกให้ความสำคัญรวมทั้งประเทศไทยและตนก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น จะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตจะได้เกิดในสิ่งที่ถูกต้อง ตนไม่อยากพูดว่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ที่จะให้คนระดับล่างและประชาชนเข้าใจว่าอะไรคือคำว่าสิทธิมนุษยชน ในหลายๆ ระดับทั้งกลุ่มเปราะบาง สิทธิมนุษยชนแต่ละบุคคล ชุมชน ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนา บางส่วนก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม การเข้าไม่ถึง ไม่มีรูปธรรม อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าในทุกภูมิภาคของโลกมีปัญหาเช่นกัน ประเทศไทยอาจจะต้องมีวิธีการของตัวเองในการที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ไม่ใช่แค่คำพูดหรือเอกสารที่ดูสวยหรู แต่เป็นแค่นามธรรม แต่ทั้งหมดต้องมองภาพรวมไม่ใช่มองแค่สิทธิมนุษยชนหรือกฎหมายเฉพาะเรื่องทุกอย่างก็จะยึดโยงไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

“รัฐบาลนี้มีเจตนามุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังแท้จริง ที่ผ่านมามีการสรุปคดีในสำนวนต่างๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามการกล่าวอ้าง ร้องเรียน ตนได้สั่งการให้มีการตรวจสอบทุกเดือนและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องตรวจสอบและรายงานผลทุกเรื่อง ทำให้เรื่องร้องเรียนมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องแยกแยะให้ได้ ว่าคำว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนคืออะไร การทำงานของเจ้าหน้าที่และคำกล่าวอ้างของประชาชน สิ่งที่สำคัญคือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เราต้องดูว่ามีการละเมิดกฎหมายหรือไม่ และการละเมิดกฎหมายก็ต้องมาดูว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การทำงานจึงต้องระมัดระวัง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนที่นำทางหรือโรดแมปในการขับเคลื่อนทั้ง 17 เป้าหมายของประเทศ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ ซึ่งทุกๆ เรื่องต้องมีระยะเวลาในการทำงานหลายเรื่องต้องใช้เวลาตลอดทั้ง 20 ปี โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชนจะต้องทำตลอดทั้งชีวิต ตลอดชาติ ประเทศไทยมีการพัฒนาแบบตะวันออกผสมตะวันตกซึ่งแตกต่างจากอะไรหลายประเทศ

“การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าแต่เริ่มมีความสำคัญอย่างไรและเกี่ยวข้องกับตัวเราแค่ไหน และเกี่ยวข้องกับใคร เราจึงต้องสร้างสังคมไทยให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และควรทำให้ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองด้วย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะลืมคำว่าหน้าที่ ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งถ้ารู้จักหน้าที่ของตัวเองความร่วมมือก็จะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนไม่รู้จักหน้าที่ ก็จะมองแต่เรื่องของสิทธิและเสรีภาพก็จะทำให้ทุกอย่างสับสนอลหม่านไปทั้งหมด เวทีที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วมก็ไม่เกิด โดยจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน ถ้าเรียกว่ามนุษย์ไม่ค่อยยุ่งเท่าไร แต่พอเรียกเป็นคนแล้วก็ยุ่ง ทั้งนี้แต่ละคนต่างมีความคิด ไม่มีใครคิดเหมือนกันได้ ผมคิดแบบนี้แต่ท่านอาจคิดไม่เหมือนก็ได้ แต่ก็ต้องมาดูว่าทำอย่างไรความคิดที่แตกต่างเหล่านี้จะนำมาขับเคลื่อนสังคมให้เป็นปกติต่อไปได้ ผมยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันยังมีมาจากตัวบุคคล จากระเบียบกติกา กฎหมาย เป็นต้น ผมพยายามแก้ไขปัญหาและทำงานทุกอย่าง ขอร้องว่าอย่าไปฟังคำพูดที่บิดเบือนมากนัก ทุกอย่างต้องดูให้รอบคอบว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนจะผิดหรือถูกก็ไปว่ากันตามขั้นตอน ขอยืนยันว่าผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์