“บิ๊กตู่” ยัน รัฐบาลกำลังแก้ปัญหา GSP วอน ปชช.อย่าวิตก อุปทูตสหรัฐ ยัน ตัดสิทธิไม่เกี่ยวกับแบนสารพิษ ชี้ เตรียมมาก่อนแล้ว แถมไทยยังได้รับสิทธิมากเป็นเบอร์ 1 ของโลก “สมคิด” อยากให้มะกันมองยุทธศาสตร์อาเซียนมากกว่า มองแค่ปัญหาเดิมๆ
บิ๊กตู่ ยัน รัฐบาลกำลังแก้ปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางเจรจาขอคืนสิทธิผลพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ ว่า อยู่ในขั้นตอนการดำเนินแก้ปัญหา พร้อมกระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ ปัญหานี้มีมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วและพยายามแก้ปัญหามาตลอด และมีการเจรจากันทุกปี ซึ่งเมื่อถูกตัดสิทธิไปแล้วต้องไปดูว่าปัญหาอยู่จุดใด เพื่อนำไปสู่การเจรจาขอคืนสิทธิ ซึ่งรัฐบาลเคยเจรจาในลักษณะเดียวกันมาหลายครั้ง ซึ่งปีที่แล้วได้คืน 7 รายการ อย่างไรก็ตาม การที่ไทยถูกตัดสิทธิในครั้งนี้ไม่ได้มีผลเฉพาะประเทศไทย แต่อาเซียนยังได้รับผลกระทบด้วย
มองวิกฤตเป็นโอกาส
“ถ้าเรามองวิกฤตเป็นโอกาส ต้องเจรจาระยะสั้นต้องขอคืนสิทธิได้โดยเร็ว ซึ่งจะมีการหารือหลังการประชุม East Asia Summit ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการหารือกับสหรัฐภายใต้กรอบการตกลงทางการค้า การลงทุนของไทยสหรัฐ ส่วนระยะยาว ต้องหาตลาดหาตลาดใหม่เพิ่มแทนคลาดเดิม ได้แก่ รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และการใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 13 กรอบความตกลง จาก อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่าไทยเป็นการขยายการลงทุน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ต้องอัพเกรดคุณภาพสินค้า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันสร้างมูลค่าเพิ่มตัวสินค้า โดยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าในตลาดโลกที่มีการแข่งขันเสรีได้
อย่ากังวล ไม่เป็นผลดีเจรจา
“ขออย่าวิตกกังวลให้มาก จำเป็นต้องหารือกับภาคเอกชนด้วยของเราว่าจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีการให้ ก็ต้องมีสิทธิที่จะเลิกให้สิทธิ เราต้องไปดูเรื่องแรงงานที่มีกฎหมายหรือมาตรการที่เราปฏิบัติไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องภายในของประเทศ ซึ่งต้องระมัดระวังผลกระทบอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสหภาพของแรงงานต่างด้าว ซึ่งต่างประเทศก็ไม่ได้ทำเช่นกัน อย่าเอาไปโยงกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เกิดประโยชน์ ขอให้ลดผลกระทบเรื่องเหล่านี้ ฝากไปถึงประชาชนให้ลดเรื่องเหล่านี้ เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อการเจรจาในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อุปทูตมะกัน พบ “สมคิด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานภายในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ตัด GSP ไม่เกี่ยวแบนสารพิษ
นายไมเคิล ฮีท ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับนายสมคิดนาน 1 ชั่วโมง โดยยืนยันว่าการตัด GSP ประเทศไทยนั้น มีการพูดคุยกันมานานแล้ว และ GSP เป็นสิทธิพิเศษที่ไทยได้รับมานานกว่า 30 ปี แม้จะถูกตัดสิทธิไปแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังคงได้รับสิทธิพิเศษสูงที่สุดมากกว่าประเทศใดในโลกในปัจจุบัน กระบวนการ GSP เป็นการตัดสินใจมานานแล้ว แล้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแบนสารพิษ และแม้กระทั่งไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไป 573 รายการ ไทยยังได้รับสิทธิที่ได้มากที่สุดในโลก และการตัดสินใจครั้งนี้ยังสามารถย้อนกลับไปได้ ดังนั้น จะกลับมาหารือกับฝ่ายไทยในเรื่องกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายแรงงาน จะดำเนินการอย่างไร เพราะกระบวนการตัดสิทธิ GSP ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด ซึ่งต้องขอบคุณประเทศไทยในการจัดประชุมอาเซียนซึ่งคิดว่าจะเป็นไปด้วยดี โดยทางสหรัฐฯ จะส่งตัวแทนมาประชุมที่ประเทศไทย
สมคิด อยากให้รอคุย “บิ๊กตู่”
นายสมคิด ให้สัมภาษณ์ว่า ได้นัดหมายกันมาล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะเป็นครั้งแรกที่นายไมเคิล ฮีธ ได้พบกับตน หลังเข้ารับตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ซึ่งตนบอกว่ายินดีที่ได้ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องการเตรียมการประชุมงาน Indo-Pacific Defense Forum ในช่วงต้นเดือน พ.ย.2562 ซึ่งจะมีผู้แทนสหรัฐฯ เช่น ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ นักธุรกิจอเมริกัน คณะใหญ่เข้าร่วมประชุม
ส่วนเรื่องการตัดสิทธิผลพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ นั้น นายไมเคิล ระบุว่ายังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้าย และเป็นช่วงบังเอิญที่เกิดขึ้นระหว่างมารับตำแหน่งใหม่ ดังนั้น จึงบอกไปว่าทั้งสองประเทศควรสื่อสารกันว่าเป็นมิตรกันมานาน สามารถพูดคุยกันได้อย่างไร อยากให้ใช้ช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ของทางสหรัฐฯ มาร่วมประชุมในประเทศไทยได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ ดูว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไร
ยันทำตามที่สหรัฐขอเต็มที่
“ยืนยันว่า เรื่องต่างๆ ที่สหรัฐฯ ขอร้องได้พยายามทำเต็มที่ เช่น เรื่องปัญหาแรงงาน พยายามมาพอสมควร เรื่องเกษตรพยายามดูแลอยู่ แต่ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เรื่อง GSP ก็เจรจากันไปแต่อยากให้มองเรื่องใหม่ๆ มองไกลๆ แบบมิตรภาพ คงไม่หยิบประเด็นอะไรมาเพื่อขอสิทธิ GSP คืน แต่บอกทางสหรัฐฯ ว่าอยากให้ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ใช้เวลาร่วมกันพูดคุยกันถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ไม่ใช่ดูเรื่องเป็นชิ้นๆ ต้องดูเรื่องยุทธศาสตร์ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทุกประเทศต้องเข้ามา อีกทั้ง GSP ยังไม่ไฟนอล จะต้องเจรจาต่อไปถ้าเจรจากันรู้เรื่องก็ไม่น่ามีอะไร เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์กับตัวแทนผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ที่จะต้องเจรจา ส่วนเราก็พูดถึงเรื่องอนาคต เพราะไทยเลยเวลาที่จะเป็น GSP มานานแล้ว ซึ่งความช่วยเหลือ GSP มีไว้สำหรับประเทศด้อยพัฒนา เมื่อมาถึงจุดตรงนี้ไทยพัฒนาแล้ว แต่การเป็นเพื่อนเก่ากันก็เก็บไว้ก่อนจะรีบร้อนยกเลิกไปทำไม” นายสมคิด กล่าว
คุยเรื่องอนาคต มากกว่า GSP
นายสมคิด กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อุปทูตสหรัฐฯ ยังซักถามถึงเรื่องกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของแม่น้ำอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่น้ำโขง (ACMECS) ซึ่งตนได้อธิบายไปว่า เป็นกรอบความร่วมมือที่ทำให้ CLMVT ร่วมมือกัน และมีศักยภาพสูงมาก ถ้าสหรัฐฯ เข้ามาในจังหวะอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ดี อยากให้ใช้เวลาส่วนใหญ่พูดคุยกับไทยในสิ่งเหล่านี้ นอกจากสิ่งที่เคยขอกันมาดั้งเดิม โดยมองเรื่องใหม่ๆ มองไกลๆ ขณะเดียวกันได้บอกว่าไปว่า จีนกับญี่ปุ่นสนใจลงทุนในเขตลุ่มน้ำโขง แล้วทำไมสหรัฐฯ ไม่เข้ามา ซึ่งอุปทูตทางสหรัฐฯ ได้บอกว่ากำลังให้ความสำคัญกับภูมิภาคย่านนี้