แก้รัฐธรรมนูญ ล้างพิษใต้ตุ่ม – ปราบโกง “ชื่อเล่น” รธน.ไทย

ถึงคราวที่ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อันมีชื่อเล่น ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ถูกจุดพลุขึ้นอีกครั้ง เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภา กำลังจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าตำราขอศึกษาความเป็นไปได้

แต่ยังไม่ทันจะถึงคิวตั้ง กมธ.ศึกษา ก็เกิดการตะลุมบอน เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ “อภิสิทธิ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการ แต่ฝ่ายแกนนำรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกโรงตั้งป้อมค้านสุดตัว

เพราะ พปชร.ตั้งใจจะกอดเก้าอี้ กมธ.ไว้แน่น ตามนัยยะที่รู้กันว่าฝ่ายที่กำเก้าอี้ประธาน กมธ.ได้จะเป็นฝ่ายกำหนดวาระ – จังหวะการขับเคลื่อนเล่นลูกยื้อออกไปจนกว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กัปตันรัฐบาลเรือเหล็กจะกู้ศรัทธาคืนจากประชาชนได้

ยังไม่นับวุฒิสภา 250 ชีวิต ที่กระโดดขวางสุดตัว งัดอำนาจ “ต่อรอง” ที่ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ร่วมเห็นชอบจึงจะแก้รัฐธรรมนูญในสภาได้

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีชื่อเล่นว่า “รัฐธรรมนูญปราบโกง” โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ตั้ง เมื่อถูกนักข่าวถามว่าจะให้ฉายารัฐธรรมนูญ 60 ว่าอย่างไร

แต่ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 20 ฉบับ รัฐธรรมนูญถูกตั้งชื่อเล่น ให้จำง่ายๆ
อย่างน้อยๆ ที่คนไทยคุ้นหู คือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีชื่อเล่น – ชื่อเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศผ่านตัวแทนจังหวัด ซึ่งรวมเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

โดย สสร.มาจาก 2 ส่วนแรก สสร. จากตัวแทนแต่ละจังหวัด ที่มาจากการประกาศรับสมัครในแต่ละจังหวัด 76 คน ถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ส่วนที่สอง สสร. จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่างๆ ทั้ง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ 23 คน รวม 99 คน

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกเรียกในหมู่คอการเมืองว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ” เพราะเรียกตามฉายา “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงแต่ “ฉบับหน้าแหลมฟันดำ” ไม่ใช่ชื่อเรียกในวงกว้างเท่านั้น หลังการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จนถึงความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ยุคพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กระทั่งถูกฉีกโดยการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ก็ไม่มีใครเรียกรัฐธรรมนูญ 50 ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ” เท่าไหร่นัก

ฉบับต่อมา ต้องย้อนไปถึงปี รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” หรืออีกขื่อคือ “รัฐธรรมนูญตุ่มแดง” ก็เพราะก่อนการรัฐประหารที่นำทัพโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เมื่อ 8 พ.ย.2490 ซึ่งอีกไม่กี่วันจะครบรอบ 72 ปี มีการเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเอาไว้ คนร่างคือ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง หรือ น.อ.กาจ กาจส่งคราม (รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร) โดยมีคนรู้เห็นไม่กี่คน และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ “ความลับ” การรัฐประหารรั่วไหล น.อ.กาจ จึงซ่อนไว้ใต้ตุ่มสามโคก เมื่อรัฐประหารสำเร็จจึงเอาออกจากตุ่ม แล้วมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว

แล้วรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มต้องถูกยกเลิก เพราะมีรัฐธรรมนูญ 2492 ขึ้นมาบังคับใช้แทน

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉีก ในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549

รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ ก็ถูกฉีกหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แต่…รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ยังไม่ถูกปราบลงง่ายๆ