ศึก “ซักฟอก” จะระเบิดขึ้นในเดือนธันวาคม-ส่งท้ายการเมืองปี 2562 “ล็อกเป้า” ทุจริตเชิงนโยบาย-ผลประโยชน์ทับซ้อน และการบริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด-ล้มเหลว โดยเฉพาะ เสนาบดี “ธนกิจการเมือง” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1
4 รัฐมนตรีที่ถูกหมายตัว 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ-หัวหน้ารัฐบาล 2.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเศรษฐกิจ โควตาตึกไทยคู่ฟ้า 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ 4.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
พล.อ.ประยุทธ์ ต้อง “แอ่นอกรับ” ทุกความรับผิดชอบ ในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” กำกับทุกกระทรวง-ทุกโควตาของพรรคร่วม-รัฐบาลผสม
ขณะที่นายสมคิด-รองนายกฯ แม้ “ออกตัว” ว่า “ผมไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” แต่ปฏิเสธความรับผิด-รับชอบไม่ได้ว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็น “โมเมนตัม” มาจากการบริหารเศรษฐกิจในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1-รัฐบาล คสช.
รวมถึง 4 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่มีโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” จำนวน 3 ครั้งที่ผ่านมา วงเงินงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท
ทว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3 ผลลัพธ์ออกมาร้อยละ 2.4 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 “สุ่มเสี่ยง” เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะชะลอตัว ชาวบ้านร้านตลาด-เจ้าสัวไม่มั่นใจเศรษฐกิจ
รวมถึง “economic project” อย่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ปูชนียบุคคลของพรรคเศรษฐกิจใหม่ “ซุ่มทำการบ้าน” และ “จองกฐิน” ชำแหละนโยบาย “ขายชาติ” และ “เอื้อทุนใหญ่”
ขณะที่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ 7 พรรคฝ่ายค้าน “ตั้งแท่นเชือด” เกี่ยวกับการใช้งบประมาณท้องถิ่น มี “ปม” ต้องเคลียร์ในเรื่อง “เงินล่องหน” หล่นหายกลางทางไม่ถึงมือท้องถิ่น
ด้าน “ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม แห่งค่ายภูมิใจไทย ถูกโฟกัสมากที่สุด เพราะคุม “กระทรวงเมกะโปรเจ็กต์” หลายแสนล้าน ที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค-กำกับคมนาคม
ทำให้มี “ข่าวพาดหัว” หนังสือพิมพ์ “รายวัน” ถึงการ “รื้อ” โครงการที่อนุมัติหลักการในยุครัฐบาล-คสช.มาแล้ว และการ“บีบ” คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในกำกับเพื่อ “ถ่ายเลือด” ขั้วอำนาจเก่า เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟฟ้าสายสีส้ม
โดยฝ่ายค้านจะหยิบข้อกฎหมาย-ปมเรื่อง “ประโยชน์ทับซ้อน” ของรัฐมนตรีในค่ายภูมิใจไทย “กระทบชิ่ง” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-ดิสเครดิตรัฐบาล
ในส่วนของรัฐมนตรีโควตาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ “เรียลเซ็กเตอร์” แม้ยังไม่ได้อยู่ใน “บัญชีดำ” ของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพราะยังต้องการ “รักษาน้ำใจ” เผื่อเหลือ-เผื่อขาด ขอเสียงสนับสนุนพลิกขั้ว-เขี่ย พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อฟอร์มรัฐบาลแทน…แต่เป็นไปได้น้อยมาก
ทว่า นโยบาย “ประกันรายได้” เกษตรกร “ประกันราคา” สินค้าเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม และมันสำปะหลัง “ยกเว้นข้าว” ที่มีจุดอ่อน-ช่องโหว่ให้ “พ่อค้ารายใหญ่” ฉวยจังหวะ “กดราคา” ให้ต่ำลง จนทำให้รัฐบาลต้องควักเงินงบประมาณจ่าย “ส่วนต่าง” จำนวนมาก
แหล่งข่าวระดับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ แสดงทรรศนะต่อนโยบายประกันรายได้เกษตรกร-ประกันราคาสินค้าเกษตร “พืชเศรษฐกิจ” 4 ตัวหลักว่า นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม และมันสำปะหลัง เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยทำมาก่อน มีช่องว่างให้เกิดการทุบราคา ยกเว้นข้าวที่เคยทำมาแล้วจึงมีปัญหาน้อย จึงเป็นทุกขลาภของประชาธิปัตย์
“รศ.สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิเคราะห์ศึกซักฟอกว่า “เป้าใหญ่” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ เรื่องเศรษฐกิจ และ “เรื่องเก่า” คือ ปมการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน เพราะฝ่ายค้านเชื่อว่า คนเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไม่ดี จึงโจมตีจุดนั้น
เมื่อ “สมคิด” ประกาศว่า “ไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ฝ่ายค้านจะ “ตีถูกตัว” หรือไม่ “สุขุม” กล่าวว่า สำคัญตรงที่จะเล่นงานใครที่คิดว่าเป็น “จุดอ่อน” เพราะเป็น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” จับตรงไหนก็เป็นจุดอ่อน-ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ก็เป็นจุดอ่อน ไม่ใช่เฉพาะนายศักดิ์สยามที่ถูกเพ่งเล็งอยู่ประชาธิปัตย์ถึงเวลาก็อาจจะถูกอภิปราย
“รศ.สุขุม” มองว่า “ไม้เด็ด” ของพรรคฝ่ายค้าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ที่จะ “ล้มรัฐบาล” ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองของ “กองเชียร์” ฝั่งฝ่ายค้าน หรือฝั่งรัฐบาล
“คนไม่ชอบรัฐบาลก็มองว่า ฝ่ายค้านมีไม้เด็ดทั้งนั้น แต่คนที่เข้าข้างรัฐบาลก็มองว่า ฝ้ายค้านหาเรื่อง เพราะบรรยากาศการเมืองวันนี้ คนดูแบ่งครึ่งคะแนนเลือกตั้งใกล้เคียงกัน ทุกเรื่องมองเป็นอ่อนไหวหมด”
“เป้าจริง” ของฝ่ายค้านจึงไม่ใช่เกมในสภา แต่เป็นเกมนอกสภา ? “บางอย่างต้องทำตามหน้าที่ (ฝ่ายค้านเพื่อให้ได้คะแนนนิยมจากฐานเสียงและลดศรัทธาของรัฐบาล แต่อย่าลืมว่าจะล้มรัฐบาลได้ต้องคะแนนเกินครึ่ง โอกาสเกินครึ่งไม่มี เป็นคะแนนตาย”
“รศ.สุขุม” เชื่อว่า จำนวนเสียง-จำนวนมือในเกมสภา “ฝ่ายค้านไม่มีทางชนะฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว” แต่ “หวังผล” ถึงการเลือกตั้งระดับชาติ เช่น การเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น และ “วัดเรตติ้ง” การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
“ถ้าพรรคพลังประชารัฐชนะก็จะสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลเพิ่มขึ้น”
ส่วนความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับ “พรรคร่วม” ในรัฐบาลเอง สุดท้ายเมื่อเข้าช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน จะ “จับมือกัน” ไม่ยอมตายกันทั้งคู่
“เกมทะเลาะกันของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเกมเพื่อปรับคณะรัฐมนตรี ไม่ได้ทะเลาะกันแล้วเจ๊งกันทั้งคู่ ถึงเวลาจริง ๆ ก็จับมือกัน ถือว่าเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยกัน เพราะรัฐบาลปริ่มน้ำถ้าล้ม ล้มทั้งรัฐบาล”
เพราะตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเป็นรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย คือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจสุด ๆ ว่า “จะทะเลาะยังไง ผม (พล.อ.ประยุทธ์) ก็ยังเป็นนายกฯต่อไป”