ชื่นมื่น! ‘ไทย-ฮ่องกง’ เซ็นเอ็มโอยู 5 ฉบับ ฟื้น FTA – เชื่อมตลาดหุ้นไทย-ฮ่องกง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 1 ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล
ไทย-ฮ่องกง ชื่นมื่น สมคิด-แครี หล่ำ เป็นสักขีพยานเซ็นเอ็มโอยู 5 ฉบับ ฟื้น FTA – เชื่อมตลาดหุ้น ไทย-ฮ่องกง

วันที่ 29 พ.ย. 2562 เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 1 โดยมีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย

นายสมคิดกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อการเยือนไทยครั้งนี้ของผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและความสัมพันธ์ที่มีพลวัตระหว่างกัน ทั้งนี้ไทยให้กำลังใจและหวังว่ารัฐบาลฮ่องกงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ในฮ่องกงด้วยดี รวมถึงเชื่อมั่นว่าด้วยพื้นฐานที่มั่นคงทางเศรษฐกิจและศักยภาพของฮ่องกง จะทำให้ฮ่องกงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่าการประชุมฯ ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายของความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในความสัมพันธ์ ไทย – ฮ่องกง เนื่องจากจะเป็นกลไกเชิงนโยบายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมหารือกัน โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าไว้ เมื่อปี 2560 พร้อมทั้งเริ่มหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ฮ่องกง และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

2. ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนการเยือน และการร่วมกิจกรรมระหว่างกัน โดยมุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย

3. ด้านการเงิน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนของกันและกัน ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการตลาด โดยเฉพาะการทำ regulatory mapping ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินใหม่ ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว (ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)

4. ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่คนไทยและฮ่องกงต่างมี “พลังแห่งความสร้างสรรค์” (creative power) อยู่มาก อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ สองฝ่ายจึงจะร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างให้มีการใช้พลังนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานร่วมกันต่อไป

5. ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับทราบถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand และแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม เพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายยืนยันความพร้อมในการร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเชื่อมั่นว่าการประชุมฯ ในวันนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติแก่ทั้งไทยและฮ่องกง รวมทั้งภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงต่างๆ อีก 5 ฉบับ ได้แก่

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับศูนย์การออกแบบฮ่องกง 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง 4.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง 5.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง