“วิษณุ” ชี้ พ.ร.ก.ทางออกสุดท้าย ลอดช่องมาตรา 143 ปัดฝุ่น พ.ร.บ.งบ 63 ฉบับพรหมจรรย์ เอามาใช้

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ทางออกของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า ทางออกมันมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน เราจะได้รู้ว่าถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไขเสีย

“ตนบอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าล่าช้านั้นเรื่องจริง วันนี้ความกังวลคือ การล่าช้า แต่ถ้ากังวลว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงนั้นมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ ตนจึงย้ำว่าไม่วิบัติ อย่างไรก็ทำได้ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณได้เตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว พอดีพอร้ายเผลอๆ โครงการต่างๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจจะยาก ซึ่งขอให้รู้ก่อนว่าความผิด บกพร่อง เกิดขึ้นที่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ส่วนการออก พ.ร.ก.เงินกู้ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด นั่นเป็นทางสุดท้าย”

นายวิษณุกล่าวว่า กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 56 และ 57 และความต่างยังมีอีกว่ากรณีปี 56 เป็นกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนปี 57 เป็น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเสียไปเพราะกระบวนการไม่ถูกต้อง วันนี้สังเกตหรือไม่ว่าไม่มีใคร โดยเฉพาะฝ่ายค้านพูดถึงกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 56 พูดแต่ พ.ร.บ.กู้เงิน ปี 57 โดยทั้ง 2 กรณีเป็นการเสียบบัตรแทนกันโดยคนๆเดียวกัน และตอนนั้นการพิจารณากฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่มีกำหนดเวลา เมื่อเสียคือเสียไป

“แต่บังเอิญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 นั้น ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่าหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะเขากลัวสภาฯแช่ไว้ แปรญัตติกันไปกันมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้น จึงเป็นความต่างอยู่ แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน”

พูดก็พูดนะ กฎหมายงบประมาณถ้าไม่ล็อกเรื่อง 105 วัน มันมีช่องทางคิดได้เหมือนกันว่าเอากลับไปโหวตใหม่ แต่เมื่อมีกำหนดเวลาเอาไว้ ก็เป็นช่องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยหน่อยว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ลองคิดเอาง่ายๆ 105 วัน ครบเมื่อต้นเดือน ม.ค. ผมไม่ได้สรุป แต่ชี้ให้เห็นว่ามีนัยยะที่ต่างจากสองเรื่องที่เคยเกิดขึ้น

“หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯที่เสนอในวาระที่ 1 ทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตัดๆ ไปจะกลับไปสู่ร่างแรก เพราะเจตนาของมาตรานี้ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดกระบวนการทำผิด หรือคณะกรรมาธิการทำล่าช้า”

อย่างไรก็ตามนายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก

“สมมุติว่าโมฆะหมดเลย ก็หาทางออกอื่น มีหลายทาง มันใหญ่กว่าช่องเยอะ ไม่ต้องรอด เดินสง่าผ่าเผย และไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะงบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่มันจะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ’

ทั้งนี้นายวิษณุกล่างถึงกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ต้องรอ 2 อย่างคือ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาผู้แทนราษฎร และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยต้องรอผลตรวจสอบของสภาฯก่อน อย่างไรก็ตาม บัตรประจำตัว ส.ส.จะใช้ 2 กรณี ได้แก่ แสดงตนและลงมติ ปัญหาคือ มีการแสดงตนและกดลงมติหรือไม่ อย่างการลงมติในวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไปนั้น ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่ จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมาเป็นการแสดงตน จากนั้นเด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ ถ้าตอนแสดงตนไม่มีการแสดงตนตอนลงมติก็จะไม่เกิด หากเจ้าตัวไม่อยู่แล้วบัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่มันจะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น ดังนั้น ต้องให้เขาตรวจสอบ

“เจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจจะได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้ ได้เท่าไรก็เท่านั้น”

นายวิษณุทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าผลสอบของสภาฯออกมาอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จระหว่างนี้จะมีการลงมติอีกหลายครั้ง ต้องระมัดระวังไม่ให้ใครที่มีเจตนาร้าย หรือไม่ได้เจตนาร้ายแต่เลินเล่อ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดจนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ไม่ควรจะเกิดขึ้น ต้องป้องกัน