“เศรษฐกิจใหม่” พรรคหัวขาด ไม่ร่วมแพฝ่ายค้าน สังกัดฝ่ายชนะ

ในที่สุด “พรรคเศรษฐกิจใหม่” ก็ขอจากลาการเป็น “พันธมิตร” 7 พรรคฝ่ายค้าน

หลังกลายเป็น “งูเห่า” โหวตสวนทางฝ่ายค้าน อย่างน้อย 2 ครั้ง สองหน

หนแรก 4 ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมให้รัฐบาลในการโหวตพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562

หลังจากวันนั้น “มนูญ สิวภิรมย์รัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ขณะนั้น ออกมายอมรับเชิงแบ่งรับแบ่งสู่ – พร้อมปันใจไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล

“ยืนยันไม่ร่วมรัฐบาล จุดยืนเรายังเหมือนเดิม และยังไม่ได้พูดคุยเรื่องจะไปร่วมรัฐบาล กับรัฐบาลเลย แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลมาพูดคุยกับเรา เราก็ไม่มีปัญหาอะไร จะร่วมหรือไม่ร่วมสุดท้ายก็ต้องดูว่า อยู่ตรงไหนจะทำงานให้ประชาชนได้ดีกว่ากัน”

หนที่สอง พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็แปลงร่างเป็น “งูเห่า” ในการโหวตลงมติวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เมื่อ 11 ม.ค.2563 ปรากฏว่ามี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน โหวตเห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว แหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ “งดออกเสียง”

นับแต่นั้น แม้ในตามนิตินัย 7 พรรคฝ่ายค้าน แต่ตามพฤตินัย พรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่ถูกเชิญไปร่วมสังฆกรรมกับพรรคฝ่าค้าอีกต่อไป โดยเฉพาะการเตรียมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

7 พรรคฝ่ายค้านที่มี เพื่อไทยเป็นหัวขบวน เหลือแค่ 6 พรรค จำกัดวงไม่ให้ความลับรั่วไหล

กระทั่ง 31 ม.ค.2563 นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ทำหนังสือถึง  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แจ้งผลมติในการประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ ระบุว่า

“เนื่องด้วยการประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม มีมติให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ดำเนินกิจกรรมการเมือง โดยถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อทำงานตามอิสระ ตามแนวทางของพรรค”

ย้อนเส้นทางพรรคเศรษฐกิจใหม่ ก่อนจะแปลงร่าง “งูเห่า” ไปอยู่กับฝ่ายนะ

จุดเริ่มต้นที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ เข้าหู – ผ่านตาสาธารณะ เกิดขึ้นเมื่อ 14 พ.ย.2561 “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ประกาศรีเทิร์นการเมือง สู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งหลังลาเพื่อไทยไปอย่างเงียบๆ โดย เปิดตัวร่วมงานกับพรรคเศรษฐกิจใหม่

“มิ่งขวัญ” ประกาศ ณ วันนั้นว่า  ผมได้ตัดสินใจทำงานการเมือง ประสบการณ์ชีวิตต้องผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการทำงานมาทุกอย่าง มีประสบการณ์ชีวิต 3 ช่วงเวลา 28 ปีครึ่งในภาคเอกชน และผ่านการทำงานในรัฐวิสาหกิจคือ อสมท ซึ่งเปรียบเหมือนประเทศย่อยๆ ซึ่งถูกตรึงด้วยข้อกฎหมาย ขยับเขยื้อนลำบาก ใช้เวลาเทอมหนึ่งทำให้ยอดขายและมูลค่าการตลาดทะยานสู้หลัก 5 หมื่นล้านต่อปี อีกช่วงชีวิตคือ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ สายเศรษฐกิจ จากประสบการณ์ 3 ช่วง ถามตัวเองหลายครั้ง ว่าความถนัดอยู่ที่ไหน วันนี้ตอบชัดว่าถนัดเรื่องเศรษฐกิจ

“ผมยังแข็งแรง ยังมีกำลังพอสมควร ผมเกิดและเติบโตที่ประเทศนี้ ก้าวมาถึงป่านนี้ควรจะต้องตอบแทนบุญคุณประเทศนี้เมื่อมีโอกาส ดังนั้น ผมจึงสมัครสมาชิกพรรคเศรษฐกิจใหม่”

เหตุผลที่เลือกพรรคนี้ 3 ประการ

1.ได้คุยกับหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ซึ่งมาชวนผมและเห็นว่าถนัดเรื่องเศรษฐกิจ และยอมให้ผมเป็นคนวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกับประเทศไทย

2.พรรคยอมให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพียงคนเดียวเท่านั้น

3.ให้ผมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะถ้าไม่นั่งหัวโต๊ะจะบริหารจัดการไม่ได้ อยากเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบหัวจรดเท้า เพื่อเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศให้มีความสุขอย่างแท้จริง ยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจใหม่คิดนอกกรอบ คิดนอกกล่อง คิดแตกต่าง ได้เวลาเสียที ปัญหายืดเยื้อเยอะเกินไปแล้ว”

“มิ่งขวัญ” นำทัพ “เศรษฐกิจใหม่” ถือธงลงสู่สนามเลือกตั้ง ตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้งเขาใช้ประสบการณ์การตลาดอันช่ำชอง สร้างแบรนดดิ้ง “เศรษฐกิจใหม่” ให้ติดหู ติดตา โหวตเตอร์

นอกจากปรากฏการณ์ “ลุงตู่” คือนิยามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ

“มิ่งขวัญ” ยังถูกเรียกเป็น “ลุงมิ่ง” ประชันกับ “ลุงตู่” ทุกเวทีดีเบต และประกาศชัดเจนว่าหลังเลือกตั้ง ไม่เป็นพันธมิตรกับ “ลุงตู่” และพรรคพลังประชารัฐ

และด้วยกลไกการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” คะแนนเลือกตั้ง 7 หมื่นแต้ม ได้ ส.ส.1 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 พา ส.ส.เข้าสภาได้ถึง 6 คน

ระหว่างชุลมุนจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 6 ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ ถูกจับตามองว่าจะ “พลิกลิ้น” ไปเป็นรัฐบาลผสมในซีกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หรือ จะอยู่กับขั้วเพื่อไทยและพันธมิตร ที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลแข่ง

แต่ใครๆ ในวงการเมืองก็รู้ว่า “มิ่งขวัญ” ไม่ใช่เบอร์ 1 ตัวจริง เพราะในช่วงฝุ่นตลบจัดตั้งรัฐบาล ก็มีข่าวลือกระเซ็นกระสายว่า 6 เสียงของ “เศรษฐกิจใหม่” ปันใจไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล 5 เสียง แฝงตัวเป็นรัฐบาลในฝ่ายค้าน เหลือเพียง “มิ่งขวัญ” คนเดียว

“เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” คงใช้ได้กับกรณี “มิ่งขวัญ” กับ “เศรษฐกิจใหม่” เพราะจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจใหม่ก็มาถึง

เมื่อ “มิ่งขวัญ” ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ลงวันที่ 22 พ.ค.2562 ให้เหตุผลว่า…..

“การบริหารในพรรคแบ่งเป็นสองส่วน ข้าพเจ้ามีหน้าที่ในการร่างนโยบายและพูดกับสาธารณะ   ส่วนหารเลือกผู้สมัคร การบริหารพรรค เป็นหน้าที่ของนายศุภดิช อากาศฤกษ์ และทีมบริหาร  และตอนนี้เมื่อผ่านช่วงเวลาเลือกตั้งตนจึงขอลาออก  แต่เป็นการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเท่านั้น แต่คงความเป็นสมาชิกพรรคและ  ส.ส. เอาไว้”

จากนั้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ตกเป็นของ “มนูญ สิวภิรมย์รัตน์” ก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อ 31 ส.ค.2562 แต่กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคดังกล่าวก็ถูกลูกพรรคแฉว่า มีการจ้างคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

แถมยังเปิดเผยชื่อ บุคคล อักษร ย่อ จ. เป็นคนมีอิทธิพลในพรรค เข้ามาแทรกแซงอยู่เบื้องหลังดึงนายมิ่งขวัญเข้ามา ทำงานพอหลังเลือกตั้งกดดันนายมิ่งขวัญจนต้องลาออก

ปัญหาในพรรคเศรษฐกิจใหม่ปั่นป่วน “มิ่งขวัญ” ถูกลดบทบาทโดยปริยาย “มนูญ” หัวหน้าพรรคไม่เป็นทางการ นำลูกพรรคโหวตสวนมติฝ่ายค้าน 2 ครั้ง

กระทั่ง กกต.มีมติเมื่อ 19 ธ.ค.2562 ให้มติที่ประชุมเลือกหัวหน้าพรรคใหม่เป็นโมฆะ

ตำแหน่งหัวหน้าพรรคกลับไปสู่ “สุภดิช อากาศฤกษ์” หัวหน้าพรรคคนแรก และเป็นคนที่แจ้งต่อผู้นำฝ่ายค้านว่า

พรรคเศรษฐกิจใหม่ขอถอนตัวจากฝ่ายค้าน

เป็น “งูเห่า” แบบไม่ต้องแอบกันอีกต่อไป

ส่วนอนาคต “มิ่งขวัญ” นั้น…..

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พบเขาตัวเป็นๆ  แล้วถามถึงเส้นทางการเมืองในอนาคต การอภิปรายไม่ไว้วางใจยังจะอภิปรายเรื่องปัญหาเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ และอภิปรายในสถานะอะไร?

“มิ่งขวัญ” ที่ใส่แมสปิดจมูกไม่ขอตอบคำถาม “เดี๋ยวจะแถลงข่าวเร็วๆ นี้ ขอเวลารวบรวมข้อมูล” แล้วเขาก็ลบชื่อพรรคออกจากเฟซบุ๊กส่วนตัว

อังคารที่จะถึงนี้ “มิ่งขวัญ” จะแถลงข่าวอนาคตของตัวเอง….