โหวตงบประมาณใหม่ รัฐบาลโล่งเบิกจ่ายได้ มี.ค. 63

ทั้งประมุขฝ่ายบริหารที่ทำเนียบรัฐบาล และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่รัฐสภา ต่างต้องนำผลการพิจารณาและมติของศาลรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ พร้อม ๆ กับความโล่งใจของทุกฝ่าย

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 5 ต่อ 4 ว่า กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 ดังนั้น ให้มีการลงมติใหม่ ในวาระ 2 และ 3 ในทุกรายมาตราทั้ง 55 มาตราที่ทำให้ผลการออกเสียงไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สำหรับมาตราที่มีการลงมติโดยมีการเสียบบัตรแทนกัน เริ่มตั้งแต่มาตราที่ 31 ถึงมาตราสุดท้าย คือมาตราที่ 55 ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณของหน่วยงานของศาล ทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 6,229,204,200 บาท, งบประมาณของหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 4,125,548,900 บาท, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 76 แห่ง ซึ่งตั้งงบฯไว้ 55,037,059,300 บาท

นอกจากนี้ยังเป็นงบฯสำหรับแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตั้งไว้ 17,009,098,000 บาท และงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 6,954,577,800 บาท และงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 59,431,072,500 บาทงบฯสำหรับแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10,865,463,300 บาท, งบฯสำหรับแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 875,163,000 บาท, งบฯแผนงาน

บูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ตั้งไว้ 95,374,976,900 บาท จำแนกให้หลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในกำกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์

Advertisment

และรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล ตั้งงบฯไว้ทั้งสิ้น 1,886,910,300 บาท ให้กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เป็นต้น

รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ให้ไว้ 3,185,556,700 บาท, งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 72,127,134,200 บาท และอีกรายการที่สำคัญ คืองบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 62,709,465,800 บาท

หลังจากนี้จึงต้องมีนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพื่อลงมติดังกล่าว แล้วส่งให้วุฒิสมาชิกพิจารณา ตามขั้นตอนการตรากฎหมาย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติต้องเตรียมการคู่ขนาน ขณะนี้ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งมีคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ให้เตรียมร่างสัญญาล่วงหน้าให้พร้อม หากสภาผู้แทนราษฎรทำตามขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบฯลงทุนใหม่จะเบิกจ่ายได้เร็วที่สุดมีนาคม หรืออย่างช้าต้นเดือนเมษายน 2563

Advertisment

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า กระบวนการโหวตร่างกฎหมายงบฯใหม่ จะช้าหรือเร็วขึ้นกับทางสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งสามารถเร่งให้จบได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพราะสามารถโหวตวาระ 2 และ 3 สำหรับมาตรา 31-55 ได้ภายในครึ่งวัน โดยหากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำได้เร็วก็จะสามารถทูลเกล้าฯได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.

“สภาจะปิดวันที่ 29 ก.พ. ก็เหลือเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าช่วยกันทำให้เร็วได้ ทุกอย่างก็จะไปได้ดี ซึ่งก็ต้องขึ้นกับ ส.ส. กับ ส.ว. หากโชคดีทำได้เร็ว ปลายเดือน ก.พ.นี้ก็น่าจะทูลเกล้าฯได้” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.งบประมาณฯเริ่มใช้ได้ในเดือน มี.ค. ก็จะสามารถกดปุ่มเร่ดรัดงบฯลงทุนได้ทันที โดยเฉพาะงบฯรายจ่ายปีเดียวที่เป็นงบฯก่อสร้างและจัดซื้อคุรุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเริ่มก่อหนี้ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 หรือก่อนสิ้นเดือน มี.ค. ขณะที่ในไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่าจะก่อหนี้ได้มากขึ้นเป็นประมาณ 54% และไตรมาส 4 (ก.ค.-ก.ย.) ก็จะก่อหนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 75% โดยเมื่อก่อหนี้แล้ว การเบิกจ่ายก็ไม่มีปัญหา

“พอ พ.ร.บ.บังคับใช้ สำนักงบฯก็พร้อมเทงบฯปีเดียวทันที โดยมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายนั้น เรามีหนังสือเวียนออกไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าให้ทุกส่วนราชการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า พอกฎหมายบังคับใช้ก็ลงนามได้ทันที” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 เป็นไปตามคำร้อง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดรัฐบาล 90 คน กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์

ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

อันเป็นผลมาจาก มี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน และมีการเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ค้างไว้ ในเครื่องลงมติอัตโนมัติ ในระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2 และ 3 โดยคำร้องหลักมาจาก ส.ส. รัฐบาล 90 คน นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่

2.หากมีปัญหา จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และกรณีนี้จะถือว่าสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่

3.จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไรเป็นการใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 139 ที่เปิดทางให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ 2 สภา หรือ 75 จาก 750 คน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 3 วันหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

สำหรับแนวทางของรัฐบาลนั้น มีการขยายการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน จาก 50% เป็น 75% และ 100% ตามความเหมาะสม

ขณะเดียวกัน เตรียมการคัดเลือก การเจรจา การร่างสัญญาและส่งอัยการตรวจร่างสัญญาโครงการลงทุนใหม่ไว้ล่วงหน้าส่วนกรณีงบฯผูกพันข้ามปี ให้ใช้งบฯกลางรายงานฉุกเฉินเร่งด่วนของงบฯปี 2562 ไปก่อน