บังคับคดี 13 พธม. จ่ายค่ายึดสนามบิน 522ล้าน+ดอกเบี้ย

หลังศาลแพ่งอ่านคำสั่งศาลฎีกา ยกคำร้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้พล.ต.จำลอง นายสนธิ นายพิภพ ธงไชยนายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายอมร อมรรัตนานนท์ นายนรัญยูหรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำ พธม.ทั้ง 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จากกรณีร่วมกันปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

ขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลจะออกคำบังคับ ซึ่งต่างจากหมายบังคับคดี โดย คำบังคับ เป็นคำสั่งศาลถึงตัวจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ส่วน หมายบังคับคดีŽ เป็นคำสั่งของศาลที่มีไปถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วภายใน 30 วัน ศาลจะออกคำบังคับไปยังจำเลยหรือลูกหนี้ ในคดีนี้ก็คือ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อชดใช้ค่าเสียหายนี้ให้กับทาง ทอท.ตามคำพิพากษา
แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาผิดนัดชำระหนี้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถขอศาลออกหมายบังคับคดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอออก คำบังคับ อีก

จากนั้น ศาลจะออกหมายบังคับคดี ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว ศาลจะส่งหมายนั้นมายังเจ้าพนักงานบังคับคดี เว้นแต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะรับหมายนั้นมาส่งเอง (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 276 วรรค 1) ส่วนลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นจะมีการส่งหมายบังคับคดีให้ทราบต่อเมื่อศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้จัดการส่ง ถ้ามิได้มีการส่งหมายดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแสดงหมายนั้นต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้ครอบครองทรัพย์ที่ยึด ซึ่งพบขณะทำการยึด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 276 วรรค 1 นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา

จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ยึดอายัดทรัพย์จำเลยเพื่อนำมาชดใช้ต่อโจทก์

ทั้งนี้ การยึดทรัพย์สินเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ต้องสืบให้ทราบว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน ผู้ใดครอบครองทรัพย์สินนั้น หากทรัพย์สินนั้นเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมนำยึดได้

ดังนั้น ในคดีดังกล่าว โจทก์อย่าง บริษัท ทอท.จะต้องเสาะแสวงหาทรัพย์สินของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ได้ว่ามีอะไรบ้าง หรืออยู่ที่ใดบ้าง ทั้งเงินในบัญชีและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

สำหรับการอายัดเงินในบัญชีเงินฝาก ต้องระบุว่าทราบธนาคารพร้อมเลขที่บัญชีของจำเลย เพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปประกอบสำนวนการตั้งเรื่องขอยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยหรือลูกหนี้ สำหรับบ้าน ที่ดินโจทก์ หรือ ทอท.ต้องมีสำเนาโฉนดที่ดินที่ได้รับรองจากเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปประกอบสำนวนการตั้งเรื่องขอยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยหรือลูกหนี้

เมื่อสืบทรัพย์ทราบแล้วว่ามีอะไรบ้าง ตรวจสอบความถูกต้องว่าใช่ของลูกหนี้ หรือจำเลยคนเดียวกันในคดี กรมบังคับคดีจะแจ้งโดยมีหนังสือ (คำสั่ง) ไปยังบุคคลภายนอก ไม่ให้ชำระเงินแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้การบังคับคดี และมีหนังสือ/หมาย (คำสั่ง) แจ้งการอายัดให้ลูกหนี้ จากนั้นกรมบังคับคดีจะประกาศให้มีการจำหน่ายทรัพย์สิน หรือการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดอายัดไว้ และเมื่อพ้นจำนวน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ยึดตามกฎหมายใหม่ กรมบังคับคดีจัดให้มีการขายทอดตลาดได้ตามขั้นตอน เพื่อจะนำเงินที่ได้มาจากการขายทรัพย์นำไปชดใช้กับเจ้าหนี้ หรือบริษัท ทอท. เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คดีนี้บริษัท ทอท.สามารถสืบทรัพย์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้ง 13 คนที่เป็นจำเลย แล้วแจ้งต่อกรมบังคับคดีให้ยึดอายัดทรัพย์ตามกระบวนการที่กล่าวมาได้ภายในระยะเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ที่จะหาทรัพย์ของลูกหนี้ เพื่อนำมาชดใช้ค่าเสียหายให้ครบตามมูลหนี้ เกือบๆ 1,000 ล้านบาท งานนี้คงต้องรอลุ้นกัน!!

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์