ฝ่ายค้าน ขอมือ ปชป.-ภูมิใจไทย เปิดสภาฉุกเฉิน ถก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน

การตรากฎหมายกู้เงินเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ตามด้วย พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับช่วยเหลือ SMEs และตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน

โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วน เยียวยาผลกระทบอันเกิดจากไวรัสโควิด-19 เตรียมกู้ลอตแรก 7 หมื่นล้าน จ่ายในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ช่วงต้นเดือน พ.ค.

พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่ผ่านการ “อนุมัติ” จากที่ประชุมรัฐสภา

ทว่าในมุมนักเลือกตั้งอาชีพที่สัมผัสกับประชาชนในพื้นที่มองเห็นช่องโหว่ใน พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ จนปรากฏภาพ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งจากภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติพัฒนา ไปยื่นหนังสือถึง “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง ในฐานะผู้รักษาอำนาจตามกฎหมายกู้เงิน ชี้แจงให้เคลียร์ ทั้งรูปแบบเงินเยียวยาเหยื่อโควิด การช่วยเหลือ SMEs ที่อาจไปไม่ถึงมือรายย่อยตัวจริง มีสิทธิหล่นหายระหว่างทาง

“ลัดคิว” ชิงถาม “นอกสภา” ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ 22 พ.ค. เพราะเกรงว่าเวลาการอภิปรายทั้งหมดจะตกไปอยู่กับฝ่ายค้าน

Advertisment

ขณะที่ฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย ประชาชาติ และเพื่อชาติ ไม่รอให้ให้ถึงวันนั้น

เตรียมรวมเสียง 1 ใน 3 ของรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. 247 เสียง เข้าชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออนุมัติ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ทันที

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เปิดเผยความเคลื่อนไหว 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า จะยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ ให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งจะต้องเข้าชื่อ 1 ใน 3 ของทั้ง 2 สภา ในปัจจุบันจำนวนของรัฐสภามีทั้งหมด 738 คน ดังนั้น 1 ใน 3 จะต้องใช้เสียงราว 246-247 เสียงเป็นอย่างน้อย ขณะนี้ฝ่ายค้านมีเสียง 213 เสียง ต้องการเสียงเพิ่ม 40 กว่าเสียง

เป็นไปได้ที่ฝ่ายรัฐบาลจะร่วมมือ เพราะถ้าแก้ปัญหาล่าช้าจะทำให้ปัญหาไม่จบ เกิดปัญหาแทรกซ้อนก็จะมีเยอะ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งเยียวยาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน กว่าที่รัฐบาลจะกู้เงินได้และนำเงินมาใช้จะทำได้ช้า คนจะเริ่มไม่ยอมรับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ

Advertisment

“ดังนั้น ถ้ารัฐสภาเป็นตัวเร่งรัดให้ พร้อมกับชี้แนะรายละเอียดต่าง ๆ จะทำให้การเยียวยาได้ครอบคลุม เพราะบางปัญหารัฐบาลมองไม่เห็น”

และรัฐบาลจะต้องนำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 100,395 ล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของสภา ถ้ากฎหมายเสร็จได้เร็วก็สามารถโอนงบฯ 63 มาใช้ได้เร็ว และทำให้การกู้เงินจะได้น้อยลง

แทนที่จะกู้ 1 ล้านล้าน อาจจะเหลือ 9 แสนล้าน โดยกฎหมายสามารถทำให้เสร็จภายใน 1 เดือนได้ เพียงแค่รับหลักการวาระแรก รัฐบาลก็จะสามารถคาดการณ์ได้แล้วว่าจะได้เงิน 100,395 ล้านบาท มาใช้ทำอะไรได้บ้าง

“ถ้าเปิดสภาสมัยวิสามัญได้ รัฐสภาจะสามารถประชุมได้ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับการไม่เปิดสมัยประชุมวิสามัญ แต่ใช้การประชุมสมัยสามัญทั่วไปตามปกติ ซึ่งจะเปิดวันที่ 22 พ.ค. กว่าจะพิจารณาได้ 28 พ.ค. และรัฐสภาจะอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินอย่างน้อย 2 วัน ถึงจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ใช้เวลาต่างกันเป็นเดือน”

ด้าน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า อยากให้มีการเปิดสภาไว ๆ การออก พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าว เชื่อว่ารัฐบาลที่ฉวยโอกาสความเดือดร้อนของประชาชนมาปิดปากฝ่ายค้าน อาศัยช่วงนี้กู้เงินมาเอื้อประโยชน์คนรวย แบ่งเศษเนื้อให้คนจน

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายเติมเสียงของฝ่ายค้าน เป้าใหญ่อยู่ที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพราะตามประวัติเคยร่วมลงชื่อร่วมเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญแล้ว เมื่อเดือน มี.ค. ประมาณ 20 คน ส่วนภูมิใจไทย หวังจากกลุ่มเลือดใหม่ ที่เคยไปยื่นหนังสือต่อ “อุตตม” ที่กระทรวงการคลังมาแล้ว

และ ส.ว.บางส่วนที่ยังต้องโน้มน้าว