พรรคฝ่ายค้าน…ขอกัดไม่ปล่อย ซักฟอก 5 ปม กู้ฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้าน

ในที่สุดความหวังและพยายามของ 6 พรรคฝ่ายค้าน 213 เสียง เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เม็ดเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาทนั้น

โอกาสเลือนรางยิ่งกว่าริบหรี่ เมื่อ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ออกมา “ดับฝัน” ฝ่ายค้านว่า วิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยให้เหตุผลว่า

“เนื่องจากการประชุมสภาสมัยสามัญจะมีกำหนดเปิดประชุมในวันที่ 22 พ.ค.นี้อยู่แล้ว โดยเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมก็เป็นหน้าที่ของประธานสภาจะได้ดำเนินการต่อไป”

ก่อนหน้านี้ “วิรัช” กล่าวผ่านสื่อว่า “ถ้าเปิดสภาสมัยวิสามัญในช่วงนี้แล้ว ส.ส.เข้ามาจนทำให้มีการแพร่เชื้อไปทั่วประเทศใครจะรับผิดชอบ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เปิดในช่วงนี้”

เหตุผลโควิด-19 สำทับด้วยการต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว” ออกไปอีก 30 วัน ครอบคลุมถึงพิธีเปิดสภา 22 พ.ค. และจะมีการประชุมกันจริง ๆ 28 พ.ค.

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 วรรคท้ายจะระบุว่า การพิจารณาพระราชกําหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา และการยืนยันการอนุมัติพระราชกําหนด จะต้องกระทําในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ แต่แกนนำฝ่ายค้าน-เพื่อไทยหวั่นว่าฝ่ายรัฐบาลเล่นเกม “ตุกติก” ไม่เปิดให้ฝ่ายค้าน “ซักฟอก” แผนแก้วิกฤตโควิด-19 ใช้งบฯกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

“สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม เพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดักคอว่า ครั้งนี้เป็นการกู้เงินที่จำนวนมากในประวัติศาสตร์ แผนกู้เงินก็เอามาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ มีรูปแบบการบริหารแบบพิเศษ ทำให้ล่อแหลมต่อการสร้างความเสียหายให้ประเทศ และเรื่องใหญ่ขนาดนี้จึงต้องให้สังคมร่วมวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด และให้เอาเข้าสภาพิจารณา

“แน่นอนเรื่องโควิด-19 มีเหตุผลอยู่ไม่ใช่ไม่ตระหนัก แต่มีรูปแบบวิธีการมาตรการป้องกัน ประธานชวนให้คำสัญญาว่าจัดที่นั่งระยะห่าง 2 เมตรได้ และมีมาตรการตรวจที่เข้มข้นได้ เมื่อรัฐบาลอ้างเรื่องโควิด-19 เหตุผลไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการกู้เงินครั้งประวัติศาสตร์ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่โอนจากหน่วยงานต่าง ๆ 10% แล้วทำไมไม่รีบเอาเข้าสภาให้เป็นกฎหมายจะได้ถึงมือชาวบ้านเร็ว ถ้าทอดไปอีก 1 เดือน คนฆ่าตัวตายเท่าไหร่ อย่าทอดเวลาทิ้งให้รีบมาทำ จะได้รีบผ่าน รีบเอาเงินมาใช้”

ถ้าไม่ให้ประชุม ถ้ามีโควิด-19 อยู่ไปอีกปีหนึ่งไม่ต้องประชุมสภาปีหนึ่งหรือไม่ โควิดเราต้องกังวล แต่ต้องหาระบบอยู่กับโควิดให้ได้ จึงมองเจตนาว่ารัฐบาลหนีสภา เพราะการกู้เงินนี้มีเงื่อนงำหลายเรื่อง เอามาใช้เพื่อการอื่นเยอะกว่าโควิด อ้างชาวบ้าน แต่ตกถึงมือเจ้าสัวและคนรวย

ประธานวิปฝ่ายค้านคาดการณ์ว่าการพิจารณาของ พ.ร.ก.เงินกู้ บวก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ รวม 4 ฉบับ คาดว่าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ในการอภิปราย

“สุทิน” บอกว่า ฝ่ายค้านตั้งประเด็นถามรัฐบาลในสภา 1.บทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งกองทุนอุ้มตราสารหนี้ของภาคเอกชน ถือว่าเป็นภารกิจของ ธปท.หรือไม่ มีมาตรการอะไรชี้วัดว่า อุ้มตราสารหนี้ของเจ้าสัวแล้วมีผลดีอะไรต่อระบบเศรษฐกิจ

2.การให้เงินกู้แก่ธนาคารพาณิชย์ปล่อย soft loan กับธุรกิจ SMEs ตั้งเพดาน วงเงิน 500 ล้านบาท ถ้าไปกระจุกตัวอยู่ SMEs รายใหญ่ 10-20 ราย ทำให้รายเล็กรายน้อยที่ต้องใช้เงินไม่เกิน 10-50 ล้านไม่สามารถกู้ได้ การไปตั้งเพดาน 500 ล้านเจตนาจะช่วยใคร

3.เรื่องเยียวยา ผ่านมา 1 เดือนการเยียวยาคนเดือดร้อนยังได้ไม่ถึงครึ่ง ความเหลื่อมล้ำ ความเดือดร้อนเกิดแล้ว คนชุมนุม คนฆ่าตัวตายอย่างที่เห็น ก็จะถามรัฐบาลทำไมไม่เยียวยาเป็นรายครอบครัว เยียวยาให้ครอบคลุม ผสมผสานกันไปหลาย ๆ รูปแบบให้ทั่วถึง

4.การเยียวยาของรัฐบาลเมื่อไหร่จะทั่วถึง แล้วมีเงินพอหรือไม่ จะกู้จากที่ไหน มีเงื่อนไขอย่างไร อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ถ้ากู้จากต่างประเทศอย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย Asian Development Bank (ADB) เขาจะมีเงื่อนไขทันที

การจัดทำจะจัดการชีวิตเราหมดเลย แล้วประเทศเราพร้อมไหม จะเป็นเหมือนครั้ง IMF หรือไม่ ที่พอกู้แล้วเจอพันธกรณีของ IMF จะถามว่ารัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือไหวไหม

5.การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้เงิน 4 แสนล้านบาท รัฐบาลคิดแบบเดิม ขุดลอกถนนหนทาง บ่อน้ำ ฝายเหมือนเดิม เราดูความคิดคร่าว ๆ ฝ่ายค้านเป็นห่วง เหมือนเอาเงินมาทิ้งเปล่า ๆ เงินก้อนนี้ผ่านไปปุ๊บ หมดแม็ก 1.9 ล้านล้าน ถ้าจีดีพีไม่กระดิกแล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน จะหามาจากไหนอีก อย่างนี้ต้องรอบคอบ ฟังกันมาก ๆ

แต่รัฐบาลจะฟังเสียงท้วงติงได้ ต้องประชุมสภาให้ได้เสียก่อน